ศธ.เล็งปรับลดวงเงินกู้สกัดครูไม่ก่อหนี้เพิ่ม
ศธ.เล็งปรับลดวงเงินกู้ และโครงการสวัสดิการ ควบคุมการกู้เงินสร้างหนี้ของครู พร้อมเปิดให้ครูลงทะเบียนถึง31ก.ค.นี้ โดยมีเงื่อนไขไม่ก่อหนี้ขึ้น
พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารออมสินและกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมออกมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษา ว่า มาตรการดังกล่าวมุ่งเน้นเรื่องการสร้างความรู้และสร้างวินัยทางการเงิน ให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคนด้วย เพราะประเด็นปัญหาหนี้สินครูไม่ได้เกิดจากการประกอบอาชีพครู แต่เป็นเพราะครูมีโอกาสกู้ยืมเงินได้ง่ายและได้เงินก้อนใหญ่ เช่น โครงการสวัสดิการเงินกู้ฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลาการทางการ ศึกษา (ช.พ.ค.) ที่ให้วงเงินกู้สูงสุดถึง3ล้านบาท โดยเฉพาะครูใหม่ที่เพิ่งรับราชการก็มีโอกาสกู้ด้วยทั้งที่เงินเดือนยังไม่มากเป็นการสร้างหนี้ให้ครูแต่ต้น และเมื่อกู้ง่ายครูก็นำเงินก้อนนี้ไปลงทุนทำธุรกิจอื่นซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับอาชีพครู อาจจะประสบปัญหาขาดทุนไม่มีเงินผ่อนชำระหนี้สิน ดังนั้น การแก้ไขปัญหาต้องแก้ที่ต้นเหตุคือหาวิธีการควบคุมการกู้เงิน
“ต้องหาวิธีว่าจะทำอย่างไรที่จะควบคุมการกู้เงินได้ โดยให้พิจารณาความสามารถในการจ่ายคืน ไม่ปล่อยให้เป็นหนี้พอกหางหมู และทำให้หนี้สินครูสูงกว่าราชการในหน่วยงานอื่นๆทั้งที่เงินเดือนใกล้เคียงกันหรืออาจสูงกว่าด้วยซ้ำ ขณะเดียวกันต้องมีเงินเหลือพอใช้จ่ายในชีวิตประจำวันด้วย ที่ผ่านมาในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ก็ได้มีการหารือเพื่อลดวงเงินกู้ลงมา รวมถึงจะต้องลดโครงการสวัสดิการอื่นๆ ที่ทำให้ครูมีหนี้ได้ง่ายขึ้น”พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าว
รศ.นพ.กำจรตติยกวีปลัด ศธ. กล่าวว่า สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษา มีข้อสรุปว่า จะต้องแบ่งลูกหนี้ ออกเป็น4กลุ่ม คือ1กลุ่มลูกหนี้วิกฤตรุนแรง คือ ลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการถูกฟ้อง ถูกดำเนินคดีหรือถูกบังคับคดี ขาดความสามารถในการชำระหนี้ จะให้ชะลอการฟ้องดำเนินคดีหรือบังคับคดีไม่เกิน3ปี แต่ทั้งนี้ต้องมีระยะเวลาฟ้องคดีเหลือไม่น้อยกว่า2ปี และให้พักชำระดอกเบี้ยไม่เกิน3ปี แต่ให้ชำระเงินต้นเมื่อครบ3ปี ให้นำดอกเบี้ยที่พักไว้ เฉลี่ยจ่ายคืน รวมกับเงินงวดต่อๆ ไปโดยกลุ่มนี้จะได้ประโยชน์จากโครงการนี้มากที่สุดเพราะ ในช่วงที่ชำระแต่เงินต้น ก็จะทำให้ดอกเบี้ยลดลงด้วย
กลุ่มที่2ลูกหนี้ใกล้วิกฤต คือลูกหนี้ที่มีหนี้ค้างชำระ เกินกว่า12งวดติดต่อกัน นับถึงวันที่1มิ.ย.2558โดยให้พักชำระดอกเบี้ยไม่เกินครึ่งหนึ่งเป็นเวลาไม่เกิน2ปี แต่ให้ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยส่วนที่เหลือ เมื่อครบ2ปี ให้นำดอกเบี้ยที่พักไว้เฉลี่ยจ่ายคืนรวมกับเงินงวดต่อไป กลุ่มที่3ลูกหนี้ที่ค้างชำระไม่เกิน12งวดติดต่อกันนับถึงวันที่1มิ.ย.2558ให้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามมาตรการของธนาคาร และกลุ่มสุดท้ายลูกหนี้ปกติ คือ ลูกหนี้ที่ยังไม่ผิดนัดชำระ ให้พักชำระเงินต้นไม่เกิน2ปี แต่ให้ชำระดอกเบี้ย โดยได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ทำหนังสือแจ้งเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ
สำหรับขั้นตอนในการเข้าร่วมมาตรการระยะแรกคือ ลูกหนี้ที่เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงข้าราชการบำนาญสังกัด ศธ. จะต้องไปลงทะเบียนที่ธนาคารออมสิน และแจ้งหน่วยงานต้นสังกัดให้รับรอง ภายในวันที่31ก.ค.2558เพื่อจัดทำบัญชีรายชื่อและมีข้อแม้ว่าลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวจะต้องไม่ก่อหนี้เพิ่ม และหากมีพฤติกรรมผิดนัดชำระอีกจะไม่ได้รับโอกาสให้เข้าร่วมโครงการในระยะต่อ ไป ทั้งนี้ จากข้อมูล พบว่ามีครูที่อยู่ในกลุ่มลูกหนี้วิกฤตรุนแรง ซึ่งได้ไปร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรี ประมาณ1,700คน ส่วนกลุ่มที่2คือลูกใกล้วิกฤตมีจำนวนหลายหมื่นคน ส่วนกลุ่มอื่นยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน ส่วนมูลค่าหนี้ทั้งหมดอยู่ประมาณ1ล้านล้านบาท