'แชร์-แชท-โพสต์'อย่างไรไม่ผิดพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์?
'แชร์-แชท-โพสต์'อย่างไรไม่ผิดพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์? โอภาส บุญล้อม, สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์ รายงาน
แตกตื่นกันไม่น้อยกับ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฉบับที่ 2 เกี่ยวกับเรื่องลิขสิทธิ์บนโลกออนไลน์ ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ที่ผ่านมา แต่ต้องบอกว่าไม่ต้องตกตื่น เพราะความจริงแล้ว พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ ไม่น่ากลัวอย่างที่คุณคิด!
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ที่ทำให้ผู้คนตกตื่นกันอยู่นี้ เป็น พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2558 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมจาก พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ที่รวมเรื่องลิขสิทธิ์ทุกอย่างไว้ แต่เนื่องจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไป บวกกับการที่ประเทศไทยถูกสหรัฐจัดให้อยู่ในบัญชีจับตาว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างมากมาหลายปี จึงมีความพยายามกดดันและผลักดันให้มีการออกกฎหมายลิขสิทธิ์ที่เฉพาะเจาะจงลงไป
หลังความพยายามและรับแรงกดดันมาหลายปี สุดท้ายสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ทำคลอด พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ที่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมจาก พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ปี 2537 ออกมา 2 ฉบับ และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา คือ ฉบับที่ 2 เกี่ยวกับลิขสิทธิ์บนโลกออนไลน์ และลิขสิทธิ์ของนักแสดง เพิ่งมีผลบังคับใช้ 4 สิงหาคม และ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฉบับที่ 3 เป็นลิขสิทธิ์เกี่ยวกับภาพยนตร์เพื่อแก้ปัญหาแอบถ่าย คัดลอก หรือซีดีเถื่อนที่มีมายาวนาน ฉบับนี้ใช้บังคับไปตั้งแต่เดือนเมษายน ที่ผ่านมา
ในส่วนที่สร้างความแตกตื่นให้แก่ผู้คนในสังคม โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นทวิตเตอร์, เฟซบุ๊ก, ไลน์ หรืออินสตาแกรม คือ ส่วนที่เป็นลิขสิทธิ์บนโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฉบับที่ 2
ถามว่าทำไมผู้คนจึงตกตื่น น่าจะเป็นเพราะว่าเรื่องนี้ดูเหมือนเป็นกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยี คนทั่วไปอาจจะรู้สึกว่าเข้าใจยาก แต่ความจริงเรื่องนี้ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด
“กฎหมายนี้ไม่ได้น่ากลัว มีหลักแค่ว่าหากจะโพสต์จะแชร์อะไรต้องให้เครดิตเจ้าของด้วย หรือถ้าเพื่อการค้าต้องขออนุญาตเขาก่อน” ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเทคโนโลยี กล่าว
ไพบูลย์ บอกว่า ติดใจในรายละเอียดบางส่วนของกฎหมายนี้ เพราะไปแก้ไขจนอาจจะทำให้มีปัญหาในการตีความ อย่างไรก็ตาม โดยรวมถือว่าเป็นกฎหมายที่ดี เพราะส่งเสริมให้เคารพสิทธิของคนอื่น กฎหมายนี้เป็นการเขียนเพิ่มเติมมาจากกฎหมายลิขสิทธิ์ 2537 โดยเขียนเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับลิขสิทธิ์บนโลกออนไลน์ไว้ให้ชัดเจน มีการกำหนดว่า “ผู้ให้บริการ” ต้องให้ความร่วมมือ หากผู้ที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ไปร้องศาลและศาลสั่งให้นำเนื้อหานั้นออกจากระบบเว็บไซต์หรือระบบคอมพิวเตอร์ ผู้ให้บริการก็ต้องให้ความร่วมมือ หากให้ความร่วมมือก็จะไม่มีความผิด ซึ่งในกฎหมายลิขสิทธิ์เดิมจะไม่มีเรื่องนี้อยู่ด้วย
เช่น หากการไปโพสต์คลิปในยูทูบ แล้วมีผู้ไปร้องศาลว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ศาลสามารถสั่งให้ทางยูทูบถอดคลิปนั้นออกได้ และหากยูทูบทำตามที่ศาลสั่งยูทูบก็จะไม่มีความผิด
นอกจาก พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฉบับที่ 2 ที่กำหนดเกี่ยวกับลิขสิทธิ์บนโลกออนไลน์และลิขสิทธิ์ของนักแสดง ยังมีการออก พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์อีกฉบับ คือ ฉบับที่ 3 เป็นลิขสิทธิ์เกี่ยวกับภาพยนตร์ ซึ่งลงราชกิจจานุเบกษาพร้อมกัน คือเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2558 แต่มีผลบังคับใช้ไปตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่ง “ไพบูลย์” บอกว่า กฎหมายลิขสิทธิ์ทั้ง 2 ฉบับนี้เป็นการตราขึ้นมาเพื่อลดแรงกดดันจากประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากไทยถูกสหรัฐจัดให้อยู่ในบัญชีจับตาว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ต่างๆ มาหลายปี ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการตัดสิทธิทางการค้าต่างๆ และทางสมาคมที่ดูแลเกี่ยวกับระบบซอฟต์แวร์ และสมาคมภาพยนตร์ต่างๆ ก็กดดันให้ออกกฎหมายนี้ด้วย
เช่นเดียวกัน ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย แสดงความเห็นด้วยกับหลักการของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์บนสื่อออนไลน์ โดยบอกว่า ข้อดีคือทำให้คนไทยตระหนักถึงสิทธิของคอนเทนต์ (เนื้อหา) ในโลกออนไลน์มากขึ้น ทั้งยังเป็นการฝึกให้รู้จักอ้างอิง ให้เครดิตกับผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์ต่างๆ มากขึ้น
“สถาบันการศึกษาต้องฝึกเด็กเวลานำข้อมูลออนไลน์มาก็ต้องอ้างอิง ต้องหัดให้เป็นนิสัย อย่าไปลอกมาแล้วบอกเป็นของตนเอง เป็นการฝึกให้เกียรติงานสร้างสรรค์คนอื่นตั้งแต่เด็กๆ”
ทั้ง ดร.มานะ และไพบูลย์ แสดงความกังวลเหมือนกันว่า มีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับเรื่องนี้น้อย ทำให้คนสับสน ตื่นตระหนก การขาดความรู้ในกฎหมายนี้ ซึ่งอาจเป็นช่องว่างให้คนบางกลุ่มหาผลประโยชน์จากความไม่รู้ในกฎหมาย โดยไปไล่ล่าจับแล้วรีดเงินได้ เหมือนพวกไล่จับตามร้านอินเทอร์เน็ต
ท่ามกลางกระแสวิตกกังวลเกี่ยวกับกฎหมายนี้ ดร.มานะให้ข้อแนะนำต่อชาวโซเชียลมีเดีย ว่า 1.สร้างสรรค์งานด้วยตนเอง 2.ถ้าจะใช้งานคนอื่นหากใช้ส่วนตัวก็หัดอ้างอิง ให้เครดิต แต่ถ้าเพื่อการค้า ธุรกิจ ให้คิดเสมอว่ามีรายจ่ายตรงนี้ ควรให้เครดิตแล้วติดต่อเจ้าของต้นทางเพื่อขออนุญาต เขาอาจอนุญาตให้ใช้ฟรีหรือคิดเงินก็ได้ แต่เราต้องเก็บหลักฐานต่างๆ ไว้
"ตอนนี้มีหลายๆ บริษัทมีเพจขององค์กร แล้วให้พนักงานที่ดูแลเพจไปแคปภาพ ภาพอินโฟกราฟฟิกจากที่ต่างๆ มาวางในเพจตัวเอง ก็ต้องระวังไว้เป็นพิเศษ เพราะละเมิดลิขสิทธิ์แน่ แต่ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าของลิขสิทธิ์เขาจะฟ้องหรือไม่เท่านั้น ถ้าไม่ฟ้องก็โชคดีไป แต่จะโชคดีตลอดไปหรือไม่ก็ไม่รู้" ดร.มานะ กล่าว
เพราะฉะนั้นหลักการง่ายๆ ที่จะไม่ทำให้เราต้องมีปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ใคร ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฉบับที่ 2 ส่วนที่เกี่ยวกับลิขสิทธิ์บนสื่อออนไลน์ คือ ถ้าเราเอาผลงานของใครมา ต้องเอาชื่อของเจ้าของผลงานมาด้วย คือ ถ้าให้ “เครดิต” กับเจ้าของผลงาน คุณก็ปลอดภัยจากการถูกฟ้องได้ในระดับหนึ่งแล้ว แต่ถ้าคุณเอาผลงานของคนอื่นมาใช้มากกว่าใช้เพื่อการส่วนตัว คือ ใช้เพื่อการค้า แสวงหากำไร คุณต้องขออนุญาตจากเจ้าของผลงานซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วย
เพราะว่า หลักการของกฎหมายลิขสิทธิ์ ก็คือ การคุ้มครองงานที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของบุคคล เช่น บทความ หนังสือ กราฟฟิก ซอฟต์แวร์ เพลง รูปภาพ ภาพวาด ภาพถ่าย ภาพข่าว ภาพยนตร์ ละคร เป็นต้น ดังนั้น เมื่อเรานำเอาผลงานของคนอื่นมาใช้ จึงต้องระวัง ทางแก้ก็อย่างที่บอก คือ ต้องให้ “เครดิต” เจ้าของผลงาน ในกรณีนำมาใช้ส่วนตัว หรือในกรณีที่เป็นทางการค้าก็ต้องขออนุญาตจากเจ้าของผลงาน แต่ให้ดีที่สุดก็คือ สร้างผลงานของตนเองขึ้นมา จะได้ไม่ต้องไปลอกผลงานของคนอื่น
ส่วนโทษสำหรับนักก๊อบปี้ นักแชร์ ทั้งหลายที่ไม่ให้ “เครดิต” เจ้าของผลงาน ก็เป็นไปตามที่เคยกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฉบับเดิม คือ มีโทษตามที่มีโทษปรับ 1 หมื่น-1 แสนบาท แต่ถ้าเป็นการทำเพื่อการค้าก็จะมีโทษหนักขึ้น คือ ปรับตั้งแต่ 5 หมื่น-4 แสนบาท หรือจำคุก 3 เดือนถึง 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
ดังนั้น เมื่อเจ้าของลิขสิทธิ์พบว่ามีการละเมิดเกิดขึ้น เจ้าของลิขสิทธิ์อาจใช้วิธีแจ้งเตือนให้ผู้กระทำละเมิดหยุดการกระทำดังกล่าว หรือเจ้าของลิขสิทธิ์อาจไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาลก็ได้
ส่วนกรณีที่ไม่ใช่งานที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของบุคคล เช่น ข้อเท็จจริงต่างๆ รวมทั้งข่าวประจำวันทั่วไป ในส่วนของข้อเท็จจริงที่รายงานเพียงแค่ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ราคาหุ้นเป็นอย่างไร พยากรณ์อากาศ ราคาน้ำมัน ผลการแข่งขันฟุตบอล ไม่เข้าข่ายงานที่มีลิขสิทธิ์ เราจึงสามารถเอามาใช้เป็นข้อมูลได้ โดยไม่ต้องให้เครดิต หรือขออนุญาตใคร เพราะไม่มีใครเป็นเจ้าของ
สุดท้าย มีหลักเดียวคือ ถ้าจะเอาของคนอื่นมาใช้ ต้องให้เครดิต และถ้าจะทำเพื่อการค้า ต้องขออนุญาตเจ้าของก่อน แล้วคุณจะปลอดภัยจากการละเมิดลิขสิทธิ์!!
...................................
อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้
- กฎหมายฉบับนี้คุ้มครองไม่ให้คนอื่นมาลบหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลของเจ้าของลิขสิทธิ์ ดังนั้น หากคุณไปลบลายน้ำดิจิทัลที่เจ้าของลิขสิทธิ์ใส่ไว้ หรือลบชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ออก มีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์
- การปรับแต่งรูปภาพหรือคลิปวิดีโอของคนอื่นและโพสต์ไว้บนเว็บไซต์ของเรา โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ มีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์
- การดาวน์โหลดภาพยนตร์ หรือเพลงจากอินเทอร์เน็ต มาฟังและแชร์ต่อให้คนอื่น ถือว่ามีความผิด เพราะว่าการ “ดาวน์โหลด” ถือเป็นการทำซ้ำที่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์
- การทำบล็อกแล้ว embed โพสต์ของยูทูบมาไว้ที่บล็อกของเรา ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เนื่องจากการกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการทำซ้ำงานลิขสิทธิ์
- การซื้อหนังสือ รูปภาพ ซีดีเพลง ซีดีภาพยนตร์ แล้วขายต่อเป็น “มือสอง” ทำได้
ที่มา: กรมทรัพย์สินทางปัญญา