'ดอน'เปิดการประชุมการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ

'ดอน'เปิดการประชุมการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ

“ดอน”เปิดการประชุมการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ ในมหาสมุทรอินเดีย ครั้งที่2

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีกว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานการประชุมการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ ในมหาสมุทรอินเดีย ครั้งที่ 2 เพื่อติดตามความคืบหน้าในการรับมือกับสถานการณ์การโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ ที่ต่อยอดจากผลการประชุมในเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2558 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น และต่อยอดการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติสมัยพิเศษเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2558 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ซึ่งรัฐบาลไทยได้เชิญเจ้าหน้าที่อาวุโสงานที่เกี่ยวข้องของประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรง 5 ประเทศ คือ บังกลาเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา และไทย รวมถึงประเทศสมาชิกอาเซียนและกระบวนการบาหลี ประเทศพันธมิตรนอกภูมิภาค อาทิ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ และองค์การระหว่างประเทศ ที่สนใจและมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด อาทิ สหภาพยุโรป สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เข้าร่วมการประชุมด้วย

สำหรับการประชุมครั้งนี้ มุ่งกระตุ้นให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องสานต่อการดำเนินการให้เป็นรูปธรรม เน้นความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ บนพื้นฐานของหลักการแบ่งเบาภาระระหว่างประเทศ ทั้งนี้ประเทศไทยมีจุดยืนชัดเจนในการให้ความร่วมมือกับนานาชาติในการแก้ไขปัญหา การโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ ของชาวโรฮิงญา ซึ่งส่วนหนึ่งอาจกลายเป็นเหยื่อในวงจรการค้ามนุษย์ เพราะเชื่อว่าเรื่องนี้ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกชาติจึงจะแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงได้ โดยประเทศไทยยินดีให้ความช่วยเหลือตามหลักการขั้นพื้นฐานด้านมนุษยธรรม ทั้งนี้ต้องไม่ขัดต่อหลักฏหมายของไทยและความมั่นคงภายในประเทศซึ่งรัฐบาลมีหน้าที่ต้องปกป้องและดูแลประชาชนคนไทยเช่นกัน 

นายดอน กล่าวหลังเปิดการประชุมการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ ในมหาสมุทรอินเดีย ครั้งที่ 2 ว่า การประชุมในวันนี้ มี 23 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 27 แห่ง เข้าร่วมกว่า 140คน ซึ่งเป็นการประชุมสมัยพิเศษ ครั้งที่ 2 ต่อเนื่องเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมาเนื่องจากการประชุมที่ผ่านมามีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง จึงให้มีการประชุมอีกครั้ เพราะได้มีการแสดงความห่วงกังวลเรื่องการโยกย้ายถิ่นฐานต่างๆ และเหตุการณ์การโยกย้ายถิ่นฐานในยุโรปด้วยที่เป็นตัวกระตุ้นให้ต้องตื่นตัว ในฐานะประเทศไทย เป็นประเทศทางผ่านจึงเห็นควรจัดให้มีการแสดงความเห็นและความร่วมมือกับประเทศต่างๆร่วมกัน

นายดอน กล่าวอีกว่า สิ่งที่คาดหวังจากการประชุมครั้งนี้ ประการแรกคือการจัดตั้งกลไกความร่วมมือในภูมิภาคระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส เพื่อดูแลเรื่องดังกล่าวให้เป็นกิจจะลักษณะ จะมีการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน ปีละ 1-2 ครั้ง ซึ่งคาดว่าจะได้แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้จะใช้โอกาสการประชุมครั้งนี้เพื่อรณรงค์เผยแพร่เรื่องราวต่างๆให้ผู้ที่จะโยกย้ายถิ่นฐาน หรือมีส่วนเกี่ยวข้อง ไดด้ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการสะท้อนไปประเทศต้นทางได้ดูแลความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของผู้คนเพื่อลดการเดินทางออกมาเผชิญภัยอันตรายนอกประเทศ

นายดอน กล่าวย้ำว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือช่วยกันหาทางออกและช่วยกันป้องกันเพื่อไม่ให้ปัญหานี้เกิดขึ้น สำหรับในระยะยาวอยากให้มีการแก้ปัญหาที่ถาวร แต่อาจจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในการประชุมครั้งนี้ แต่เราจะใช้ความพยายามเพื่อให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ 

“สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ปัญหาที่ต้องแก้ไข แต่เป็นการบริหารจัดการ ความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ขณะนี้เป็นเวลาที่ต้องลงมือทำ และเป็นโอกาสที่ทุกฝ่ายจะทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหานี้” นายดอนกล่าว