'อุดม'รับตรวจสอบยาก หากเกิดการบล็อกโหวตเลือกส.ว.
"อุดม"รับตรวจสอบยาก หากเกิดการบล็อกโหวตเลือกส.ว.ผ่านสาขาวิชาชีพ แต่มั่นใจกระแสสังคมจะร่วมกดดัน-ตรวจสอบ
นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) กล่าวถึงกรณีที่ถูกท้วงติงว่าการกำหนดแนวทางให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากวิธีการเลือกกันเองตามสาขาวิชาชีพ ผ่าน 3 ระดับชั้น คือ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศนั้นอาจเกิดปัญหาการบล็อกโหวตได้ ว่าตามข้อท้วงติงอาจเป็นไปได้ แต่ต้องยอมรับว่าบุคคลที่จะมาสมัครเป็นส.ว.นั้น ต้องมีบทบาทในสาขาหรือกิจกรรมที่เกี่ยวกับกลุ่มที่สมัคร ดังนั้นจึงปฏิเสธการมีบทบาททางสังคมในกลุ่มวิชาชีพนั้นๆ ไม่ได้ แต่การลงคะแนนเลือกบุคคลในสาขาวิชาชีพเพื่อให้เข้าไปเป็นตัวแทนกลุ่มนั้น ตนมองว่ากระแสกดดันทางสังคมจะช่วยในการตัดสินใจลงคะแนนได้ เพราะหากบุคคลที่เข้าสมัครแล้วพบว่ามีประวัติไม่ดี ประชาชนระบุว่าบุคคลนั้นเป็นคนใช้ไม่ได้ หรือไม่ยอมรับ เชื่อว่าผู้สมัครส.ว.ในกลุ่มคงไม่ลงคะแนนให้ ส่วนกรณีที่มีข้อกังวลว่าอาจเกิดกลุ่มนักลงทุนทางการเมืองเกณฑ์คนในสาขาวิชาชีพมาสมัครเพื่อเป็นผู้ลงคะแนนให้นั้น อาจยากต่อการตรวจสอบและระบุว่าคนใดที่มาสมัครเป็นผู้ลงทุนทางการเมือง หรือเป็นผู้มีอิทธิพลและใช้เงินซื้อคะแนน เพราะหากบุคคลที่มาสมัครมีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขและไม่มีลักษณะต้องห้าม ก็มีสิทธิที่จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ว.
"ยอมรับว่า กรธ. พยายามที่ให้บุคคลที่มาสมัครเป็นส.ว. ต้องเป็นนบุคคลที่มีบทบาททางสังคม และมีผลงาน มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่มาสมัคร เพราะในรายละเอียดของการได้มาซึ่งส.ว. จะกำหนดว่าไม่ให้มีการหาเสียงเหมือนการเลือกตั้งส.ว.ที่ผ่านมา และอาจทำเพียงเผยแพร่ประวัติผู้สมัครในที่สาธารณะเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ตรวจสอบประวัติ และเพื่อให้ผู้สมัครเป็นส.ว.ในสาขาวิชาชีพอื่นๆ ได้รับทราบประวัติ และเพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบในเรื่องคุณสมบัติผู้สมัครเป็นส.ว. ที่ต้องกำหนดเงื่อนไข คือ ต้องมีประสบการณ์หรือมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมของสาขาที่สมัคร ไม่น้อยกว่า 2 ปี"นายอุดม กล่าว
โฆษกกรธ. กล่าวด้วยว่า สำหรับบทบาทของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จะตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ส.ว. เบื้องต้นได้กำหนดให้ตรวจสอบตั้งแต่การรับสมัครระดับอำเภอเพื่อให้ได้บุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนก่อนการลงคะแนนเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามในเงื่อนไขการสมัครอาจปรับกรณีที่ให้องค์กรนิติบุคคลเป็นผู้ส่งบุคคลเข้าสมัคร เป็น องค์กรนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องในสาขารับรองบุคคลที่จะสมัครเท่านั้น เพื่อแก้ปัญหากรณีที่องค์กรนิติบุคคลใช้ดุลยพินิจเลือกส่งหรือเลือกไม่ส่งบุคคล นอกจากนั้นในประเด็นแก้ปัญหาสมัครเป็นส.ว.หลายสาขาพร้อมกัน เช่น นักวิชาการในมหาวิทยาลัย ที่มีความสนใจในด้านสิ่งแวดล้อม อาจสมัครในกลุ่มการศึกษาที่จังหวัดหนึ่ง และกลุ่มสิ่งแวดล้อมอีกจังหวัดก็ได้เพราะคุณสมบัติครบถ้วน ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาจะใช้ภูมิลำเนาเป็นตัวกำหนดของบุคคลที่สมัคร
ผู้สื่อข่าวถามว่าในร่างรัฐธรรมนูญจะมีเงื่อนไขที่ห้ามอดีตส.ว. ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 หรือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ลงสมัครส.ว.รอบใหม่หรือไม่ นายอุดม กล่าวในความเห็นส่วนตัวว่า ไม่ควรที่จะปิดกั้นอดีตส.ว.สมัยต่างๆ เพราะขณะนี้ยังไม่เห็นประเด็นของการห้าม อย่างไรก็ตามตนเข้าใจว่าเหตุที่รัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านๆ มากำหนดเงื่อนไขห้ามอดีส.ว. ลงสมัครส.ส.หรือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อป้องกันผลประโยชน์ที่ทับซ้อน แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอดีตส.ว.เหล่านั้นไม่ได้ร่วมเขียนเนื้อหา จึงไม่ควรที่จะห้ามลงสมัครในส.ว.รอบที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บังคับใช้