'วิษณุ'ย้ำนับแต่เสียงเห็นชอบในการออกเสียงประชามติ

'วิษณุ'ย้ำนับแต่เสียงเห็นชอบในการออกเสียงประชามติ

"วิษณุ"ย้ำนับแต่เสียงเห็นชอบในการออกเสียงประชามติ ระบุบัตรเสียหรือโหวตโนหรือไม่ใช่สิทธิ ไม่ถือเป็นคะแนน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีที่ครม.มีมติแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557เรื่องการนับคะแนนเสียงที่ถือว่าจะผ่านประชามติอย่างไร ว่า ตามที่ครม.มีมติแก้ไขให้ใช้คำว่า"เสียงข้างมากของผู้ใช้สิทธิเห็นชอบ" คะแนนเสียงข้างมากของผู้ออกเสียงลงประชามติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำว่าคะแนนที่เติมลงไปนั้นหมายความว่าเอาเฉพาะสิ่งที่เป็นคะแนน

ดังนั้นบัตรเสียหรือโหวตโนหรือไม่ใช่สิทธิ ไม่ถือเป็นคะแนนซึ่งเป็นสากลทั่วโลกว่ากฎหมายเลือกตั้งระบุว่าบัตรเสียไม่นับเป็นคะแนน ส่วนคำว่าคะแนนเสียงข้างมากแปลว่าฝ่ายที่มาก(ไม่ใช่เสียงเกินครึ่ง)ของผู้ออกเสียงลงประชามติ จึงยกตัวอย่างได้ว่า คนไทย 67 ล้านคน มีสิทธิเพราะอายุเกิน18 ปี มีจำนวน 50 ล้านคน ออกมาใช้สิทธิ 30 ล้านคน แต่เมื่อลงคะแนนเห็นชอบ 12 ล้านเสียง ไม่เห็นชอบ 10 ล้านเสียง บัตรเสีย 8 ล้านเสียง  รวมเป็น 30 ล้านเสียง แต่ถ้าไม่มีคำว่าคะแนน 12 ล้านถือว่าไม่ชนะเพราะเป็นเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ ทั้งที่ผู้ใช้สิทธิเสียงข้างมากจะต้องมี 15 บวก 1 แต่เมื่อเป็นคะแนนจึงนับเฉพาะที่เป็นคะแนน

ดังนั้นมีคะแนนเหลือเพียงแต่ 12 ล้าน กับ 10 ล้าน เมื่อ 12 มากกว่า 10 ล้าน ถือเป็นเสียงข้างมาก  และในบัตรลงคะแนนจะมีคำว่าเห็นชอบกับไม่เห็นชอบเท่านั้น โดยจะไม่มีช่องไม่ออกเสียง “คะแนนเสียงข้างมากของผู้ออกเสียงลงประชามติที่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ หมายถึงใช้สิ่งที่เป็นคะแนนกับใช้ความเห็นชอบ เยงข้างมากเห็นชอบอย่างไหนก็ยึดอย่างนั้น ไม่นับบัตรเสีย สมมติว่าเห็นชอบเพียง 2 ล้าน ไม่เห็นชอบมากกว่า 2 ล้าน ไม่เห็นชอบก็ชนะเพราะแปลว่าไม่เห็นชอบ แต่ถ้าเห็นชอบ 2 ล้าน ไม่เห็นชอบ 1 ล้าน บัตรเสีย 10 ล้าน ก็ถือว่าเห็นชอบ” นายวิษณุ กล่าว ผู้สื่อข่าวถามว่าหากมีคำถามพ่วงจะกำหนดกรอบอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า หากจะถามต้องเป็นคำถามแบบใช้วิธีกาตอบได้เท่านั้นใช้คำว่าเห็นชอบกับไม่เห็นชอบ เมื่อถามว่าถ้ามีอย่างนี้จะมีคนตั้งคำถามว่าให้รัฐบาลอยู่ต่ออีก 2 ปีเพื่อการปฏิรูป รองนายกฯ กล่าวว่า เรื่องนี้ตอบไม่ถูก คิดกันอยู่ว่าจะให้มีต่อไปดีหรือไม่ดี ความจริงครม.ไม่อยากให้มี เนื่องจากเคยมีมาแล้วถ้ารื้อก็เขียนยากเหมือนกัน จึงคิดว่ามีไว้ก็ไม่เสีย แต่จะตั้งหรือไม่ตั้งคำถามก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่จะไม่ตั้งก็ไม่ว่าอะไร เมื่อถามว่าหากมีการเสนอให้รัฐบาลอยู่ต่อจะว่าอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าถามมาก็ไปโหวตกัน ประชาชนก็ช่วยกันโหวตรว่าเอาหรือไม่เอาจะไปยากอะไร เพราะรัฐบาลคงไม่สามารถไปกำกับการแสดงให้โหตตเห็นชอบได้ แม้แต่เรื่องรัฐธรรมนูญยังใจหายใจคว่ำว่าจะผ่านได้หรือไม่ 

นายวิษณุ กล่าวว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมในการทำประชามติ ขณะนี้ทางกกต. ยังไม่ได้ส่งร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติ พ.ศ. .... มาที่รัฐบาล ซึ่งคาดว่ากกต.จะส่งมาภายในสัปดาห์นี้ ส่วนการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวนั้น เราจะดำเนินการโดยเร็วก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนการทำประชามติ ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกากำลังพิจารณาในเนื้อหาอยู่

นายวิษณุ กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เสนอให้มี ส.ว.มาจากการสรรหาทั้งหมดในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ว่า ไม่ทราบ เพราะต้องถามพล.อ.ประวิตร แต่ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้มีการส่งสัญญาณใดๆในเรื่องนี้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวนั้น ตอบไม่ถูก และไม่อยากแสดงความคิดเห็นว่า หากใช้ส.ว.ในการสรรหาทั้งหมด จะต้องดูที่อำนาจหน้าที่ว่าจะเหมือนกับคปป.หรือไม่ โดยนอกจากอำนาจหน้าที่แล้ว ยังต้องดูองค์ประกอบอย่างอื่นเข้ามารวมกัน ซึ่งหากส.ว.ที่มีการเสนอไม่มีอำนาจอย่างเช่นคปป.ก็ไม่มีสิทธิ์ ที่จะทำอย่างคปป.ได้ ดังนั้นเรื่องนี้ต้องดูที่ 1.ที่มา 2.ตำแหน่ง 3.อำนาจ ทั้ง 3 สิ่งนี้ทำให้ดูศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งส.ว.ถ้าไม่เข้ากับองค์ประกอบเหล่านี้ก็คงไม่มีความศักดิ์สิทธิ์เหมือน คปป. นอกจากมีหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ

"เป็นความเห็นของพล.อ.ประวิตร จริงหรือเปล่า ยังไม่รู้ คงต้องถามท่าน และผมเองก็ไม่จำเป็นต้องแสดงท่าที ผมขอสงวนท่าที เพื่อจะได้ไม่ต้องเป็นข่าว เพราะตอนนี้ยังไม่มีเรื่องอะไรที่จะต้องชักออกมา แต่ในฝักนั้นมีอะไรอยู่แล้ว ซึ่งถ้ามีเรื่องเมื่อไหร่ ผมค่อยชักออกมา"นายวิษณุ กล่าว