สธ.พัฒนาระบบบริจาค-ปลูกถ่ายอวัยวะ ฟื้นคุณภาพชีวิตผู้ป่วย
สธ.พัฒนาระบบบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะทุกเขตสุขภาพ ช่วยผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมเชิงปฏิบัติการและมอบนโยบายการพัฒนาระบบการรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ พร้อมมอบโล่รางวัลแก่โรงพยาบาลที่มีผลงานดีเด่น ในโครงการปลูกถ่ายไต ถวายเป็นพระราชกุศล 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีจำนวนรวม 8 รางวัล ประกอบด้วย ผลงานการมียอดการรับบริจาคสูงสุด ได้แก่ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี รพ.ขอนแก่นและรพ.อุดรธานี ผลงานการมียอดการปลูกถ่ายไตสูงเท่ากัน ได้แก่ รพ.ราชวิถี และ รพ. สรรพสิทธิประสงค์
และรางวัลการพัฒนาระบบการรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะดีเด่น ได้แก่ รพ.ลำปาง รพ.สุรินทร์ และ รพ. วชิระภูเก็ต จ.ภูเก็ต ตามลำดับโดยมีนายแพทย์สมยศศรีจารนัย สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 4 ประธานพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สาขาการรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ พร้อมด้วยผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข สาธารณสุขนิเทศก์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป ทั่วประเทศ และโรงพยาบาลเป้าหมาย 38 แห่ง รวมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ จำนวน 200 คน รับมอบนโยบาย
นพ.โสภณกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดตั้งศูนย์รับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะเพิ่มใน รพศ./รพท. และ รพ.ในสังกัดกรมการแพทย์รวม 38 แห่ง เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการรับบริจาคอวัยวะในโรงพยาบาล ให้พัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาการขาดแคลนอวัยวะบริจาคที่มีประสิทธิภาพและตรงประเด็นปัญหา และเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน จึงเพิ่มสาขาการรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ เป็นระบบบริการสุขภาพ (Service Plan)สาขาที่ 13 รวมทั้งพัฒนาให้เป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ สาขาที่ 5 ด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ เพื่อเป้าหมาย“เพิ่มปลูกถ่าย ลดการตาย ได้คิวเร็ว"
ผลการวิจัยของกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย พบว่า มีผู้ป่วยที่มีอวัยวะที่อยู่ในเงื่อนไขที่สามารถบริจาคอวัยวะในโรงพยาบาลจำนวนมาก ที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยภาวะสมองตาย ไม่ได้รับการเจรจาขอบริจาคอวัยวะ และไม่ได้รับการดูแลอวัยวะอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีการบริจาคและนำอวัยวะจากผู้ป่วยเหล่านั้นมาทำการปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยได้ไม่ถึงร้อยละ 20 ในขณะที่บางประเทศมีระบบจัดการที่ดี ทำให้มีอัตราปลูกถ่ายสูงถึงร้อยละ 30 ถึง 50 นอกจากนี้เรื่องความถูกต้องในการดูแลผู้ป่วยที่จะส่งผลต่อคุณภาพของอวัยวะบริจาคก็ยังต้องพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นด้วย
จากการดำเนินงานปี 2558 ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยอวัยวะวาย รอคอยการปลูกถ่ายอวัยวะจำนวน 5,018ราย ขณะที่มีผู้บริจาคอวัยวะที่เป็นผู้ป่วยสมองตายในปี 2558 เท่ากับ 206 รายหรือคิดเป็นจำนวนผู้บริจาคอวัยวะ 3.2 คนต่อประชากร 1 ล้านคน โดยร้อยละ 58 ของผู้บริจาคอยู่ในภาคอีสาน สามารถนำอวัยวะจากผู้บริจาคที่สมองตายมาปลูกถ่ายให้แก่ผู้ป่วยได้มากถึง 463 ราย เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 16 โดยเป็นการปลูกถ่ายไตมากที่สุด 364 ราย ปลูกถ่ายตับ 71 ราย ปลูกถ่ายหัวใจ 24 ราย และปลูกถ่ายอวัยวะอื่นๆ อีก 4 ราย ทั้งนี้ในปี 2558 มีผู้เสียชีวิตระหว่างรอคอยอวัยวะ 111 ราย
นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุข ยังได้จัดทำโครงการ "ดวงตาสดใส เทิดไท้ 84 พรรษา มหาราชินี" เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาการมองเห็น เนื่องจากสาเหตุจากกระจกตา ได้รับการปลูกถ่ายกระจกตา ให้กลับมามองเห็นได้อีกครั้ง ทั้งนี้เพื่อถวายองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษาและทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกา สภากาชาดไทย 60 ปี ซึ่งจะดำเนินการให้เสร็จภายใน 5 ปี เริ่มตั้งแต่12 สิงหาคม 2559 ถึง 12 สิงหาคม 2564 จำนวน 8,400 ดวงตา