ปิดสะพานข้ามแยกรัชโยธินวันแรกติดหนัก
ปิดสะพานข้ามแยกรัชโยธินวันแรกรถติดหนัก "บช.น." ยืนยันปิดต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง พร้อมสั่งวางกำลังจนท.เพิ่ม เพื่อเร่งการเคลื่อนตัวของรถให้มากขึ้น
พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รักษาราชการแทนรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รรท.รองผบช.น.) ดูแลงานจราจร กล่าวว่า สภาพการจราจรบริเวณแยกรัชโยธินภายหลังจากที่มีการปิดสะพานข้ามแยกตลอด 24 ชม.โดยเริ่มตั้งแต่เวลา 22.00น. ของวันที่ 29 พ.ย. 59 ที่ผ่านมา พบว่า สภาพการจราจรในถนนรัชดาภิเษก และถนนพหลโยธิน ติดขัดมากกว่าที่ผ่านมา เนื่องจากขณะนี้ผู้รับเหมาได้ทดลองนำแบริเออร์มาวางกั้นพื้นที่สำหรับวางเครื่องจักร ทำให้ถนนรัชดาภิเษกเหลือด้านละ 3 ช่องทาง จากเดิมมี 5 ช่องทาง ทำให้เกิดการชะลอตัวช่องแยกรัชโยธิน โดยช่วงเช้าพบว่า ถนนรัชดาภิเษกขาเข้า มีท้ายแถวอยู่บริเวณสะพานพระราม 7 ฝั่งกรุงเทพมหานคร
ส่วนขาออกอยู่บริเวณแยกรัชดา-ลาดพร้าว ด้านถนนพหลโยธินขาเข้า ท้ายแถวสะสมอยู่บริเวณหน้าตลาดสะพานใหม่ ด้านขาออกการจราจรชะลออยู่บริเวณห้าแยกลาดพร้าว นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบไปยังเส้นทางที่ต่อเนื่องในถนนวิภาวดีรังสิตขาเข้าช่วงที่จะเลี้ยวเข้าถนนงามวงศ์วานและช่วงที่จะเบี่ยงเข้าถนนรัชดาภิเษก รวมทั้งมีปัญหากระทบไปยังถนนลาดพร้าวขาเข้า ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า กรณีที่เร่งระบายการจรจรในถนนรัชดาภิเษกขาเข้า ทำให้รถที่ใช้ถนนลาดพร้าวขาเข้าเลี้ยวซ้ายเข้าถนนรัชดาบริเวณแยกรัชดา-ลาดพร้าว ไม่สามารถเลี้ยวซ้ายได้ ทำให้กีดขวางรถทางตรง ประกอบกับประชาชนเริ่มเลี่ยงเส้นทางและหันไปใช้ถนนลาดพร้าวมากยิ่งขึ้นจึงทำระบายรถได้ช้า
พล.ต.ต.จิรพัฒน์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบสภาพการจราจรช่วงเช้าที่ผ่านมา พบว่า จุดที่มีปัญหาคือถนนรัชดาภิเษกช่วงเชิงสะพานข้ามแยกรัชโยธิน เพราะจุดดังกล่าวมีปัญหาคอขวด ดังนั้นทางเจ้าหน้าที่ตำรวจราจรจึงพิจารณาเปิดจุดกลับรถใหม่บริเวณเชิงสะพานข้ามแยกรัชโยธิน เพื่อให้รถที่ใช้ถนนรัชดาภิเษกขาเข้าที่ต้องการจะเข้าไปยังสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ กลับรถได้ทันที โดยเมื่อลงจากสะพานยกระดับรัชวิภาสามารถชิดขวาและกลับรถได้เลย ไม่ต้องไม่กลับใต้สะพานข้ามแยกเหมือนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ วิธีการดังกล่าวจะเป็นการช่วยลดปริมาณรถที่ไม่มีความจำเป็นจะต้องผ่านแยกรัชโยธินให้น้อยลง ถือว่าเป็นการเฉลี่ยปริมาณการจราจรของรถที่เข้าแยก และจุดที่ 2 คือบริเวณแยกรัชดา-ลาดพร้าว โดยตนได้สั่งการให้วางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจราจร เพื่อเร่งการเคลื่อนตัวของรถที่ผ่านทางแยกให้มากขึ้น รวมทั้งได้กำชับสน.วิภาวดีให้รับรถจากถนนลาดพร้าวที่จะผ่านห้าแยกลาดพร้าวให้รวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม จากการประเมินสถานการณ์ ตนยังเห็นว่าการแก้ไขปัญหาโดยใช้สัญญาณไฟจราจรเร่งระบายยังสามารถจัดการได้ ดังนั้นจึงยังไม่จำเป็นจะต้องใช้แผนการจัดการจราจรตามที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ได้เตรียมไว้ คือกรณีที่มีรถติดขัดมาก แผนขั้นที่ 2 ที่วางไว้คือ ห้ามรถเลี้ยวขวาทุกทิศทางที่แยกรัชโยธิน โดยให้ตรงผ่านแยกไปกลับรถ แล้วเลี้ยวซ้ายเพื่อลดจังหวะสัญญาณไฟให้รถผ่านแยกได้เร็วขึ้น ทั้งนี้การปิดสะพานรัชโยธินเพื่อดำเนินการรื้อถอนก็ยังคงเดินหน้าต่อไปตามแผนไม่มีการเปลี่ยนแปลง