ถกปรองดอง! 'แกนนำเพื่อไทย' เสนอให้อภัย-ไม่คุยนิรโทษกรรม
โฆษกปรองดอง เผย "แกนนำเพื่อไทย" เสนอให้อภัยซึ่งกันและกัน และไม่ได้พูดถึงการนิรโทษกรรม
พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย กทม., นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย นายโภคิน พลกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายชัยเกษม นิติสิริ อดีต รมว.ยุติธรรม เดินทางเข้าหารือ พูดคุยกับคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน เพื่อร่วมสร้างแนวทางความสามัคคีปรองดองพร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และข้อเสนอแนะตามกรอบ 10 ประเด็น ที่คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) กำหนด
จากนั้น พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง แถลงข่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 6 - 8 มี.ค. มีพรรคการเมืองที่เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นประกอบด้วย พรรคภูมิใจไทย พรรคภราดรธรรม พรรคพลังพลเมือง พรรคพลังประเทศไทย และพรรคเพื่อไทย โดยบรรยากาศการพูดคุยเป็นกันเอง ให้เกียรติซึ่งกัน มีความสร้างสรรค์และมุ่งมั่นในการเสนอทางออกให้กับประเทศ ซึ่งแต่ละพรรคต่างเอาใจช่วยให้เกิดผลสัมฤทธิ์ของการเกิดความปรองดองในครั้งนี้ ทั้งนี้การแถลงผลทุกครั้ง มาจากความคิดเห็นของพรรคการเมืองต่างๆที่เข้ามาให้ข้อคิดเห็นมิใช่ความคิดเห็นส่วนตัวหรือการสรุปเรื่องส่วนตัวแต่เป็นความเห็นของพรรคการเมืองต่างๆ
พล.ต.คงชีพ กล่าวว่า พรรคการเมืองมองเรื่องการปรองดองว่า ความขัดแย้งถือเป็นเรื่องปกติของสังคม ซึ่งทุกพรรค เห็นประโยชน์ร่วมกันในการเดินหน้ารับทราบความจริง และหาทางออกจากความขัดแย้งร่วมกัน โดยการเปิดกว้างให้พรรคการเมือง ทุกฝ่าย แสดงความคิดเห็น หาทางด้วยกันด้วยใจเป็นกลาง และเป็นที่ยอมรับของประชาชนที่ช่วยกำหนดทิศทาง เพื่อหาทางออกร่วมกัน และให้ความรู้สึกที่เท่าเทียมในสังคม
พล.ต.คงชีพ กล่าวต่อว่า พรรคการเมืองมองอีกว่า การปรองดองจะต้องรับฟังจากผู้ระดับ ทุกภาคส่วน และทุกพรรคการเมืองเห็นร่วมกันว่าควรจะทำให้เกิดความสำเร็ จและขอให้มีความจริงใจ มีสายกระบวนการองค์ความรู้ที่ถูกต้อง โดยไม่มีอคติ มีความจริงจัง และไม่อยากให้เสียโอกาสในการทำงานครั้งนี้ เพราะเป็นการเริ่มต้นของการวางรากฐานการปรองดองที่จะพัฒนาไปสู่กระบวนการปรองดองในระบอบประชาธิปไตยในอนาคต ซึ่งอยากให้กำหนดเป็น road map เพื่อให้เกิดการยอมรับทุกฝ่าย โดยมีการเสนอกันว่ามีความจำเป็นจะต้องใช้หลักนิติธรรม หลักการให้อภัยซึ่งกันและกัน โดยไม่มีอคติและขอให้ใช้ข้อมูลการศึกษาทั้งในและต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งและใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เพื่อหาทางออกและอยากให้กระบวนการปรองดองมีอิสระ เปิดกว้างรับฟังทุกฝ่ายนำไปสู่ข้อสรุปปรองดองที่ยอมรับและมีความไว้วางใจร่วมกัน
พล.ต.คงชีพ ยังกล่าวอีกว่า ในส่วนโครงสร้างความขัดแย้งพรรคการเมืองมองว่า เป็นโครงสร้างเชิงระบบซึ่งมีความเชื่อมโยงในหลายมิติ ไม่ใช่เพียงภาคการเมืองเป็นผู้ขัดแย้งเท่านั้น ทุกฝ่ายต้องทบทวนตัวเองว่ามีบทบาทเข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งที่ผ่านมาอย่างไร และยังมีการพูดถึงการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ความรู้สึก ที่คั่งค้างจำเป็นต้องใช้เวลา แล้วทุกฝ่ายจำเป็นที่จะต้องก้าวเดินร่วมกัน ในส่วนของกระบวนการยุติธรรมนั้นมีความสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง การเคารพและการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นธรรม ใช้ระบบ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาร่วมแก้ปัญหาเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ และให้อภัยซึ่งกันและกัน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำการอย่างจริงจัง ทั่วถึง เป็นธรรมและจำเป็นจะต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบเพื่อให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และองค์กรอิสระ ฉะนั้นการปฏิรูปจำเป็นจะต้อง ดำเนินการทุกฝ่าย เริ่มจากการปฏิรูปตัวเองไปไปพร้อมๆกัน ทั้งพรรคการเมือง ส่วนราชการรวมถึงกองทัพ กระบวนการยุติธรรม ภาคเศรษฐกิจกลุ่มทุน ภาคสังคมในทุกมิติ
“ การให้ข้อมูลของพรรคเพื่อไทยในวันนี้ มีความตั้งใจจริงและจริงใจที่จะนำเสนอข้อมูลที่เกิดประโยชน์ และการพูดคุยเป็นประโยชน์อย่างมากที่จะดำเนินการเดินหน้าการสร้างความปรองดองสู่กระบวนการประชาธิปไตยต่อไป ยอมรับว่าพรรคเพื่อไทยมีการเสนอการให้อภัยซึ่งกันและกัน แต่ไม่ได้พูดถึงการนิรโทษกรรม พร้อมยื่นเอกสารให้กับกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ส่วนจะมีจดหมายแทรกของ อดีตนายกรัฐมนตรีมาด้วยหรือไม่นั้นผมไม่สามารถตอบได้ และยืนยันว่าการพรรคภูมิใจไทยไม่ได้มีการเสนอในเรื่องของการ อภัยโทษ” พล.ต.คงชีพ กล่าว
พล.ต.คงชีพ กล่าวต่ออีกว่า การเสนอความเห็นและเป็นสิ่งที่พูดคุยกันเสมอและไม่อยากให้ล้วงลึกไปเรื่องเก่า เพราะจะทำให้เดินหน้าต่อไปไม่ได้ ซึ่งทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย และประชาชน มีความจำเป็นต้องร่วมเดินหน้าการออกจากหล่มความขัดแย้ง ทั้งนี้ในส่วนคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น จะนำความคิดเห็นและข้อมูลทั้งหมดของทุกพรรคการเมือง ทั้งประสบการณ์องค์ความรู้ ทำให้เกิดประโยชน์ในกระบวนการปรองดองให้สัมฤทธิ์ผลเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ
พล.ต.คงชีพ ยังกล่าวว่า การทำงานของคณะอนุกรรมการ รับฟังความคิดเห็นจะเชื่อมโยงกับคณะกรรมการจัดทำความเห็นร่วม โดยมี พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธาน และส่งผ่านไปยัง คณะจัดทำข้อพิจารณาและข้อเสนอแนะ โดยมี พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบกเป็นประธาน เมื่อได้ข้อมูลทั้งหมดแล้วจะเสนอข้อมูลรวมถึงร่างสัญญาประชาคม สู่คณะกรรมการ ป.ย.ป.ชุดใหญ่พิจารณาอีกครั้ง ดังนั้นในการพิจารณาได้ใช้ดุลพินิจร่วมกัน ใช้ทั้งองค์คณะที่ปรึกษา นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมเป็นคณะกรรมการร่วมกัน
“คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง มีความมุ่งมั่น จริงใจในการทำงาน เพราะถือเป็นงานของประเทศชาติและเป็นงานปรองดองของประชาชน ที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมและหาทางออกคลี่คลายปัญหาในสังคม ช่วยกันทำให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์และกระบวนการเดินไปได้ ไปสู่การกำหนดอนาคตการอยู่ร่วมกัน ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีเพราะเป็นการวางรากฐานกระบวนการปรองดองที่จะต้องเดินหน้าต่อไปจนถึงรัฐบาลที่มีการปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย เรื่องบางเรื่องที่ยังติดค้าง ยังมีปัญหาก็ต้องแก้ไปตามกระบวนการประชาธิปไตย ซึ่งการปรองดองไม่ได้จบขึ้นในรัฐบาลชุดนี้แต่จะต้องเดินหน้าออกไปถึงกระบวนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและต้องทำในระดับพื้นที่ร่วมไปด้วยเพื่อรับฟังความคิดเห็น” พล.ต.คงชีพ กล่าว
ด้าน พล.อ.ต.รังสรรค์ เยาวรัตน์ ผู้ช่วยโฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ในส่วนของการรับฟังความคิดเห็นในระดับภูมิภาคนั้น ได้ดำเนินการคู่ขนานไปกับศูนย์กลาง ปัจจุบันมีการดำเนินการในหลายพื้นที่ มีประชาชนสนใจเข้าร่วมทุกภาคส่วน โดยบรรยากาศทั่วไปเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีการเสนอความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ในขณะนี้จังหวัดที่ได้มีการกำหนดให้เข้ารับฟังความคิดเห็นมีจำนวน 39 จังหวัด เหลือเพียง 37 จังหวัดที่อยู่ระหว่างการประสานงานกับกลุ่มที่จะเข้ามาแสดงความคิดเห็น ซึ่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในแห่งราชอาณาจักร (กอ.รมน.)คาดว่าจะสามารถกำหนด ให้ทั้ง 76 จังหวัดได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นได้ครบภายในสัปดาห์นี้ สำหรับในวันที่ 9 มี.ค.เวลา 13.30 น.พรรคประชาธิปไตยใหม่จะเดินทางมาแสดงความคิดเห็น ในขณะที่วันที่ 10 มี.ค.เวลา 09.00 เป็นต้นไป จะมี 3 พรรคการเมืองประกอบด้วย พรรคเพื่ออนาคต พรรคร่วมพัฒนาชาติไทย พรรคถิ่นกาขาว เข้าเสนอความเห็น ในขณะที่กลุ่มนปช.จะเข้าเสนอความเห็น วันที่ 15 มี.ค. และ กลุ่มกปปส.วันที่ 17 มี.ค.