แกะรอยคดี 'วรยุทธ อยู่วิทยา' ปมยื้อดึงเกม?
จับประเด็นฮอต! แกะรอยคดี "บอส-วรยุทธ อยู่วิทยา" ปมยื้อดึงเกม ยิ่งยืดเยื้อระวังงานเข้า "อัยการ" ??
นับตั้งแต่ "อัยการสูงสุด" (อสส.) ตัดสินที่จะส่งฟ้อง นายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา ทายาทผู้บริหารเครื่องดื่มกระทิงแดง ก็ได้พบความพยายามในการที่จะประวิงเวลา และขอเลื่อนการเข้าไปพบอัยการ
โดยจากข้อมูลของสำนักงานอัยการสูงสุด พบว่า เหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2555 และอัยการตัดสินที่จะส่งฟ้องนายวรยุทธ ในสองคดีคือ 1.ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย 2.ไม่หยุดให้ความช่วยเหลือตามสมควร แต่ตามกฎหมายเมื่อจะส่งฟ้องก็ต้องนำตัวผู้ต้องหามาแสดงต่อศาล และจนถึงขณะนี้นายวรยุทธก็ยังไม่มาแสดงตัวแต่อัยการโดยมีทั้งการเลื่อนและการไม่มา
โดยครั้งแรกอัยการนัดนายวรยุทธ ในวันที่ 25 เม.ย. 2559 แต่นายวรยุทธ มอบอำนาจทนายความขอเลื่อน โดยให้เหตุลผลว่าเนื่องจากอยู่ต่างประเทศ ทำให้อัยการนัดอีกครั้งในวันที่ 25 พ.ค. แต่นายวรยุทธก็ยังไม่มาพบ อัยการจึงมีหนังสือไปถึงตำรวจ สน.ทองหล่อ วันที่ 30 พ.ค. 2559 ให้ติดตามตัวนายวรยุทธ แต่ตำรวจแจ้งว่า นายวรยุทธขอเลื่อนเนื่อจากร้องขอความเป็นธรรมพยานในประเด็นการขับรถเร็วไปที่คณะกรรมาธิการกฎหมายกระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ อย่างไรก็ตามอัยการเห็นว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งฟ้อง จึงยืนยันให้เข้าพบเพื่อส่งฟ้อง วันที่24 มิ.ย. 2559
แต่เมื่อถึงวันดังกล่าว นายวรยุทธก็ขอเลื่อนอีกอ้างว่าอยู่ระหว่างกระบวนการร้องขอความเป็นธรรมคณะกรรมาธิการฯ อัยการจึงแจ้งตำรวจทองหล่อให้ติดตามมาให้ทันส่งฟ้องภายในวันที่ 28 ต.ค. 2559 และเมื่อถึงวันที่กำหนดก็เป็นไปตามคาดว่า นายวรยุทธ ก็ขอเลื่อนอีกโดยอ้างเหตุผลเดิม อัยการจึงให้มาพบเพื่อส่งฟ้องอีกครั้งภายในวันที่ 30 พ.ย. 2559
ในวันที่ 30 พ.ย. 2559 นายวรยุทธก็ขอเลื่อนอีกครั้งโดยอ้างติดภารกิจ ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อัยการจึงเลื่อนนัดเป็นวันที่ 28 ธ.ค. 2559 อย่างไรก็ตามระหว่างนั้น คือวันที่23 ธ.ค. 2559 คณะกรรมมาธิการฯ ซึ่งนายวรยุทธทำเรื่องขอความเป็นธรรม ทำหนังสือถึงอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ ว่านายวรยุทธ ได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมาธิการฯ จึงตั้งคณะทำงานสอบสวนข้อเท็จจริง
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้รับผลการสอบสวนจากคณะกรรมาธิการฯ แล้ว จึงได้นัดให้นายวรยุทธ มาพบในวันนี้ คือ 30 มี.ค. 2560 แต่นายวรยุทธก็ขอเลื่อนคดีอีกครั้งโดยอ้างว่าติดภารกิจอยู่ที่ประเทศอังกฤษ จึงให้เลื่อนเป็นวันที่ 27 เม.ย. 2560 โดยทางอัยการระบุว่าได้กำชับให้นำตัวนายวรยุทธมาด้วย หากยังมีการแจ้งขอเลื่อนด้วยเหตุผลเดิม อัยการจะไม่อนุญาตแน่นอนและจะให้ตำรวจขอศาลออกหมายจับทันที
เรื่องนี้นับว่าเป็นปัญหาของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่ไม่กำหนดกรอบเวลาการพิจารณาสำนวนคดีของอัยการ กล่าวคือจะใช้เวลาเท่าไหร่ก็ได้ ทำให้สามารถยื้อคดีไปได้เรื่อยๆ
โดยหากตกลงกันได้ อัยการก็จะส่งสัญญาณให้ผู้ต้องหาร้องขอความเป็นธรรมเข้ามา หรือขอเลื่อน อ้างอยู่ต่างประเทศ ก็จะทำให้เลื่อนได้เรื่อยๆ แบบไม่มีกรอบเวลา จนถึงวันที่จะส่งฟ้อง พอสำนวนไปถึงศาล ก็อาจขาดอายุความแล้ว ซึ่งการกระทำความผิดแต่ละฐานจะกำหนดอายุความฟ้องไว้ เช่น ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย สมมติอายุความฟ้อง 3 ปี อัยการถ้าจะช่วยผู้ต้องหา ก็จะดึงเวลาไปเรื่อยๆ พอครบ 3 ปีจึงค่อย และเมื่อฟ้องศาลก็จะมาดูอายุความก็พบว่าขาดแล้ว ทำให้เอาผิดจำเลยไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เคยมีการเสนอให้แก้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้เขียนกรอบเวลาการพิจารณาสำนวนของอัยการ แต่ปรากฏว่าอัยการคัดค้าน ทำให้จนถึงวันนี้ไม่มีการกำหนดกรอบเวลา
น่าสนในว่าคดีนี้ แม้นายวรยุทธจะทั้งเลื่อนและทั้งไม่มาและมีหลักฐานว่าเขาไปใช้ชีวิตหรูอยู่ต่างประเทศหรือไม่ แต่ก็ยังไม่มีการออกหมายจับทั้งๆที่ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 25.พ.ค. 2559 นายสุทธิ กิตติศุภพร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ เคยระบุว่า “ถ้าผู้ต้องหาไม่มาโดยไม่แจ้งเหตุอีก อัยการควรมองเป็นเหตุอื่นไม่ได้นอกจากการประวิงเวลา ซึ่งต้องออกหมายจับ”
และในวันนี้ก็มีการระบุว่าจะออกหมายจับอีกครั้ง โดย นายประยุทธ์ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการ กล่าวว่า “หากยังมีการแจ้งขอเลื่อนด้วยเหตุผลเดิม อัยการจะไม่อนุญาตแน่นอนและจะให้ตำรวจขอศาลออกหมายจับทันที”
ต้องดูว่าที่สุดแล้วคดีนี้ จะเป็นอย่างไร จะดำเนินการอะไรได้อีกหรือไม่ หรือสุดท้ายก็จะมีการประวิงคดีไปเรื่อยๆ จนคดีหมดอายุความไปเอง