ป.ป.ช. จับมือ IOD กระตุ้นธุรกิจไทยโปร่งใสไร้สินบน
ป.ป.ช. ผนึกกำลังร่วมกับสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย กระตุ้นธุรกิจไทยโปร่งใสไร้สินบน
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะองค์กรหลักในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พร้อมผนึกกำลังร่วมกับสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Collective Action Coalition against Corruption: CAC) เพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเอกชนประกอบกิจการอย่างโปร่งใส และมีมาตรการป้องกันการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีประสิทธิภาพ
ตลอดปีที่ผ่านมา หลายท่านอาจเคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับความพยายามของสำนักงาน ป.ป.ช. ในการขับเคลื่อนกฎหมายและออกคู่มือมาตรการสำหรับนิติบุคคลเพื่อป้องกันการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งสร้างกระแสความตื่นตัวให้กับวงการธุรกิจได้พอสมควร ในปีนี้ ป.ป.ช. ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่องโดยมีเป้าหมายเพื่อให้ภาคธุรกิจเอกชนรับทราบและเข้าใจ รวมถึงนำแนวทางของ ป.ป.ช. ไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ โดยนอกจากการเผยแพร่องค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีให้กับบริษัทและนิติบุคคลในกรุงเทพมหานคร ซึ่งอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตประจำหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจ สภาและสมาคมที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ สำนักงาน ป.ป.ช. ยังเตรียมลงพื้นที่เพื่อให้ความรู้และรับฟังปัญหาอุปสรรคของผู้ประกอบการในแต่ละภูมิภาคโดยเฉพาะเขตพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยจะประเดิมการจัดงานสัมมนาที่จังหวัดเชียงใหม่ในช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้
ทั้งนี้ การผลักดันให้ภาคเอกชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลไกและให้ความร่วมมือในการต่อต้านการให้สินบนเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยสำนักงาน ป.ป.ช. เล็งเห็นว่า IOD จะเป็นพันธมิตรสำคัญ เนื่องจากเป็นสถาบันที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์จากการทำงานใกล้ชิดกับภาคเอกชน ทำให้ได้รับรู้รับทราบถึงอุปสรรคและความต้องการของภาคเอกชน ประกอบกับความสำเร็จของโครงการ CAC ซึ่งมีบริษัทเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นและผ่านการรับรองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี ดังนั้น ความร่วมมือในการจัดกิจกรรม รวมทั้งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างสองหน่วยงานจะช่วยกระตุ้นให้ภาคธุรกิจเอกชนอีกจำนวนมากตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการสร้างมาตรฐานจริยธรรมในการประกอบธุรกิจ อีกทั้ง ยังช่วยเสริมสร้างความเข้าใจและช่วยลดภาระในการจัดทำมาตรการป้องกันคอร์รัปชั่นและการให้สินบนของบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ CAC อยู่แล้วไม่ให้มีความซ้ำซ้อน เนื่องจากมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชั่นตามแบบประเมินตนเองของ CAC และมาตรการสำหรับนิติบุคคลในการป้องกันการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐตามแนวทางของ ป.ป.ช. มีเนื้อหาที่สอดคล้องกัน โดยสำนักงาน ป.ป.ช.
คาดว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงในการประกอบกิจการของภาคธุรกิจให้มีความโปร่งใส มีธรรมาภิบาล และลดการทุจริตคอร์รัปชั่นได้อย่างยั่งยืน
ท่านสามารถดาวน์โหลดคู่มือแนวทางสำหรับนิติบุคลในการกำหนดมาตรการป้องกันการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ที่ หรือที่เว็บไซต์ www.nacc.go.th หรือ www.thai-cac.com