อธิบดีอุทยานโต้กลุ่มอนุรักษ์ฯ ยันจำเป็นปรับผิวถนนพะเนินทุ่ง 

อธิบดีอุทยานโต้กลุ่มอนุรักษ์ฯ ยันจำเป็นปรับผิวถนนพะเนินทุ่ง 

"ธัญญา" อธิบดีกรมอุทยานฯ โต้เครือข่ายอนุรักษ์สัตว์ป่า ยืนยันปรับปรุงผิวจราจร ถนนพะเนินทุ่ง ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จำเป็นต้องปรับปรุง

(3 พ.ย.61) จากกรณีที่ “เครือข่ายอนุรักษ์สัตว์ป่า 15 องค์กร นำโดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย เตรียมเคลื่อนขบวนมายังทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 5 พ.ย.นี้ เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ชะลอโครงการปรับปรุงพื้นผิวจราจรถนนพะเนินทุ่ง (สายบ้านกร่าง-พะเนินทุ่ง) ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เนื่องจากกังวลกระทบขึ้นทะเบียนมรดกโลกที่อาจด้อยคุณค่าจากการทำถนนผ่าป่าและชีวิตสัตว์ โดยมีประเด็น ดังนี้   

1. สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 1 พ.ย.เป็นวันแรกที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ได้ปิดแหล่งท่องเที่ยวเขาพะเนินทุ่ง เพื่อปรับปรุงเส้นทาง ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2561 จำนวน 560 วัน ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากกลุ่มองค์กรอนุรักษ์และนักวิชาการด้านสัตว์ป่า เครือข่าย 15 องค์กรอนุรักษ์ที่กังวลต่อปัญหาผลกระทบต่อสัตว์ป่า  โดยให้เหตุผล 3 ด้านคือ   1.1โครงการปรับปรุงถนนดังกล่าวไม่ได้คำนึงถึงหลักการมีส่วนร่วม ไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน   1.2 ในระหว่างการก่อสร้างปรับปรุงพื้นผิวถนน ตัดผ่านพื้นที่ใจกลางอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นบ้านถิ่นอาศัยของสัตว์ป่ามากมายหลายชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ป่าหายาก การที่ต้องมีเครื่องจักรกลขนาดหนักที่ต้องใช้ในการก่อสร้าง รถขนปูนที่ต้องวิ่งขนส่งไปมาไม่ต่ำกว่า 5,000 เที่ยวจะกระทบกับสัตว์ป่า อาจทำให้สัตว์ที่เคยเจอตัวง่ายต้องหลบหนีลึกเข้าไปและไม่กล้าออกมาด้านนอกให้เห็นอีกเลย   1.3 หลังการก่อสร้างปรับปรุงพื้นผิวถนน จากบทเรียนที่ผ่านมาการอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวโดยการปรับปรุงถนนให้ดีขึ้น ถึงแม้จะมีมาตรการรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาหลังการก่อสร้างเสร็จ แต่ไม่อาจ  การันตีได้ว่ามาตรการเหล่านั้นจะสามารถบังคับใช้ได้จริง แต่ผลที่ตามมาคือ ปริมาณรถที่วิ่งจะมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

2_99


  2. นายสัตวแพทย์เกษตร สุเตชะ กรรมการสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานได้ถูกขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้นเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติกับศูนย์มรดกโลกไว้แล้วตั้งแต่ปี 2554 และยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกเพื่อขึ้นทะเบียน ซึ่งเป็นห่วงว่าการปรับปรุงถนนคอนกรีตในแก่งกระจานอาจจะกระทบต่อความเป็นมรดกโลก โดยอ้างถึงตัวอย่างจากกรณีของมรดกโลก 2 แห่งคือ ห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร และดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ที่ไม่ต้องปรับปรุงถนนคอนกรีตเพื่อรองรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ขณะที่กรณีถนนสาย 304 ที่ตัดผ่ากลางป่าเขาใหญ่ -ทับลาน และถนนที่ขึ้นเขาใหญ่ทั้งด่านเนินหอม ปราจีนบุรี และปากช่อง จ.นครราชสีมา ก็เป็นโจทย์ที่คณะกรรมการมรดกโลกให้ไทยแก้ปัญหาด้วยการทำอุโมงค์เชื่อมป่า และถึงตอนนี้มีรายงานยืนยันว่าที่เขาอ่างฤาไนมีสัตว์ป่าหลายชนิดตายปีละ 3,000 ตัว เนื่องจากการทำถนนคอนกรีตต้องผูกเหล็กและเอาเครื่องจักรขนาดใหญ่เข้าไปในพื้นที่ ต้องใช้ปูนเทถนน ซึ่งเป็นการทำลายระบบนิเวศอย่างมาก
 

3.ตัวแทนกลุ่มจะไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 5 พ.ย.เพื่อขอให้ชะลอโครงการสร้างถนนคอนกรีตสู่เขาพะเนินทุ่งเพื่อศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชน แต่ยังไม่มีการรับปากว่าจะถึงตัวนายกรัฐมนตรีหรือไม่


นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า  1) ถนนสายบ้านกร่าง–พะเนินทุ่ง ดังกล่าว เดิมได้ดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2530  โดยกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตกลงจ้างบริษัท ซีวิลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด สัญญาจ้างเลขที่ 03/31/2530 ลงวันที่ 30 กันยายน 2530 ก่อสร้างถนนลาดยาง สายบ้านวังวน-น้ำตกทอทิพย์ ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ระยะทาง 18 กิโลเมตร ผิวจราจรลาดยางสองชั้น กว้าง 4 เมตร   ไหล่ทางข้างละ 0.50 เมตร เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 28,570,000 บาท (ยี่สิบแปดล้านห้าแสนเจ็ดหมื่นบาทถ้วน) เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2530 สิ้นสุดวันที่ 13 กันยายน 2531 ภายใต้โครงการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เสนอผ่านสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย   

2) ถนนสายนี้เป็นเส้นทางตรวจการณ์ในการลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่ ในการเดินทางไปยังหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กจ.19 (เขาพะเนินทุ่ง) และเดินทางไปลาดตระเวนตามแนวชายแดน อีกทั้งยังเป็นถนนสายท่องเที่ยวปกติ ซึ่งจะปิดการท่องเที่ยวในช่วงเดือนสิงหาคม – เดือนตุลาคม ของทุกปี ดังนั้นเมื่ออุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้ตรวจพบสภาพถนนในปัจจุบันมีการชำรุด ผิวจราจรหลุดร่อน ถนนยุบตัว มีดินถล่ม น้ำกัดเซาะ ตลอดเส้นทาง ก่อให้เกิดอุบัติเหตุและอันตรายแก่เจ้าหน้าที่และนักท่องเที่ยว จึงได้จัดทำโครงการก่อสร้างปรับปรุงถนนสายบ้านกร่าง-พะเนินทุ่ง โดยได้รับการอนุมัติจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แล้ว จำนวน 2 โครงการ ดังนี้

3_80

(2.1) โครงการปรับปรุงถนนสายบ้านกร่าง-พะเนินทุ่ง จากผิวการจราจรเดิมเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง 4 เมตร ระยะทาง 3.4 กิโลเมตร และถนนน้ำล้นคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 แห่ง ความยาว รวม 90 เมตร ภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2561 (งบพัฒนาจังหวัด) งบประมาณที่ได้รับ 10,747,000 บาท (สิบล้านเจ็ดแสนสี่หมื่นเจ็ดพันบาทถ้วน) ระยะเวลาดำเนินการ  230 วัน เริ่มสัญญาวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 แล้วเสร็จวันที่ 15 มกราคม 2562 
(2.2) โครงการปรับปรุงถนนสายบ้านกร่าง-พะเนินทุ่ง จากผิวการจราจรเดิมเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง 4 เมตร ระยะทาง 18.50 กิโลเมตร พร้อมรางระบายน้ำ ภายใต้แผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2560 แผนงานบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ งบประมาณที่ได้รับ 86,747,000 บาท (แปดสิบหกล้านเจ็ดแสนสี่หมื่นเจ็ดพันบาทถ้วน) ระยะเวลาดำเนินการ 560 วัน เริ่มสัญญาวันที่ 28 กันยายน 2561 แล้วเสร็จวันที่ 9 เมษายน 2563

 
   3) การดำเนินงานดังกล่าว เป็นการดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 และระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ในเขตอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2549 รวมทั้งแนวทางพิจารณาการก่อสร้างถนนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2550 อีกทั้งยังเป็นการปรับปรุงผิวถนนเดิมซึ่งมีอยู่ก่อนแล้ว ไม่ได้เป็นการตัดถนนขึ้นมาใหม่ หรือเพิ่งจะมาทำถนนลาดยางในภายหลัง อีกทั้งการดำเนินโครงการเป็นไปตามแนวทางในการดูแลรักษาความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว สอดคล้องตามหลักการจัดการอุทยานแห่งชาติ โดยได้ดำเนินการตามแนวถนนเดิม (ถนนลาดยางเดิมที่ชำรุด) ผิวการจราจรขนาดเท่าเดิม เป็นการซ่อมแซม ผิวการจราจรและร่องระบายน้ำ มิได้ขยายเส้นทางหรือเปิดเส้นทางใหม่ ไม่เกิดปัญหาผลกระทบกับสภาพป่าและสัตว์ป่าแต่อย่างใด ทั้งนี้ ได้เสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน  ครั้งที่ 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560  เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2560 และครั้งที่ 2 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2561 ซึ่งคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน  ประกอบด้วย หน่วยงานราชการ องค์กรภาคเอกชน (NGO) องค์การบริหารส่วนตำบล ผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยว เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและผู้ทรงคุณวุฒิ  ฯลฯ ซึ่งได้แจ้งเหตุผลความจำเป็นในการปรับปรุงผิวการจราจรให้คณะกรรมการฯที่มาจากทุกภาคส่วนได้ทราบแล้ว จึงไม่ได้เป็นการดำเนินการโดยลำพังแต่ประการใด

5_49


4) ประเด็นข้อกังวลเกี่ยวกับการขนส่งวัสดุก่อสร้างจะรบกวนความเป็นอยู่ของสัตว์ป่าในบริเวณใกล้เคียงนั้น ซึ่งโดยสภาพปกติข้อมูลในปี พ.ศ. 2561 มีรถยนต์ที่เข้าไปท่องเที่ยวยังพะเนินทุ่ง จำนวนรวม 21,860 คัน (มีค่าเฉลี่ยจำนวนรถยนต์ ขึ้น – ลง วันละ 80 คัน ไม่นับรวมในช่วงเวลาที่ปิดการท่องเที่ยว) โดยที่ผ่านมาไม่ได้ส่งผลกระทบต่อถิ่นที่อยู่อาศัย รัง ของสัตว์ป่า แต่ประการใด  ตามที่มีข้อกังวลว่าการขนส่งวัสดุก่อสร้าง จำนวน 5,000 เที่ยว จะรบกวนต่อสัตว์ป่า (มีค่าเฉลี่ยการขนส่งวัสดุก่อสร้างวันละ 9 คัน) เมื่อพิจารณาจากค่าเฉลี่ยรถที่ขนวัสดุก่อสร้างแล้ว ยังต่ำกว่ารถยนต์นักท่องเที่ยวที่สัญจรไปมาในช่วงเวลาปกติ  ดังนั้น การขนส่งวัสดุก่อสร้างจึงมีผลกระทบน้อยกว่าการสัญจรในช่วงเปิดท่องเที่ยวปกติอย่างชัดเจน อีกทั้งยังได้กำหนดมาตรการควบคุมการดำเนินโครงการฯร่วมกับผู้รับจ้าง โดยได้กำหนดมาตรการทั้งก่อนดำเนินการ ระหว่างดำเนินการ และหลังดำเนินการ  ไว้อย่างรัดกุมแล้ว 


สำหรับความกังวลที่อาจทำให้สัตว์ป่าที่เคยเจอตัวง่ายต้องหลบหนีลึกเข้าไปและไม่กล้าออกมาด้านนอกให้เห็นอีกเลย จากการตรวจสอบถนนลาดยางในบริเวณใกล้เคียงกัน ตั้งแต่ด่านหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ กจ.2 (เขาสามยอด) ถึง หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ กจ.4 (บ้านกร่าง) ระยะทาง 15 กิโลเมตร ถนนลาดยาง กว้าง 8 เมตร ซึ่งภายหลังการก่อสร้างและใช้ประโยชน์ยังสามารถพบเห็นสัตว์ป่าออกมาใช้ประโยชน์ บริเวณเส้นทาง และสองข้างทางสม่ำเสมอ อาทิเช่น เสือดาว เสือดำ หมาจิ้งจอก หมาไน กระทิง ช้างป่า ลิงลม เม่น ย่อมแสดงให้เห็นว่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่า และยังสามารถปรับตัวอยู่อาศัยได้ตามปกติ


อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีความเข้มงวดกวดขัน ในเรื่องการควบคุมการจราจร ตลอดระยะเวลา 2 ปี ที่ผ่านมาไม่พบสัตว์ป่าถูกรถชนตาย ในถนนตลอดเส้นทาง ตั้งแต่ด่านหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ กจ.2 (เขาสามยอด) ถึง หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ กจ.19 (เขาพะเนินทุ่ง) ซึ่งมีมาตรการลดผลกระทบความเร็วของรถยนต์และเจ้าหน้าที่ควบคุมดูแลอย่างเข้มงวดกวดขัน สำหรับถนนในช่วงระหว่างบ้านกร่าง – พะเนินทุ่ง กำหนดเวลา ขึ้น – ลง และเดินรถทางเดียวไม่ให้สวนทางกัน เนื่องจากสภาพถนนมีความลาดชันสูง คดเคี้ยวและแคบ มีขนาดกว้าง 4 เมตร ไม่สามารถทำความเร็วได้ และกำหนดจำนวนผู้พักค้างแรม ต้องจองล่วงหน้าผ่านระบบออนไลน์ และมีการให้บริการรถยนต์สาธารณะของชุมชน ซึ่งทำให้ลดจำนวนรถยนต์ส่วนบุคคล สำหรับการป้องกันความเร็วของรถยนต์สามารถจัดทำสิ่งกีดขวางเพื่อชะลอความเร็วได้ ตลอดจนจำนวนและระยะเวลาในการเข้าออกของรถยนต์ สามารถประกาศกำหนดได้ตามข้อระเบียบกฏหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เช่น กำหนดให้รถเข้าออก ตั้งแต่เวลา 06.00 น. - 18.00 น. ห้ามรถเก๋งและรถตู้โดยสารขับขึ้นเขาพะเนินทุ่ง ซึ่งปัจจุบันได้ใช้มาตรการนี้มาโดยตลอด

4_64


5) กรณีข้อกังวลต่อสถานภาพการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก เนื่องจากขณะนี้พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานอยู่ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative list) ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ดังนั้นหากมีการพัฒนาหรือปรับปรุงสิ่งก่อสร้างอันใด จึงไม่จำเป็นต้องรายงานต่อศูนย์มรดกโลก หรือคณะกรรมการมรดกโลก เนื่องจากไม่เข้าข่ายที่จะต้องดำเนินการตามแนวทางอนุวัตอนุสัญญา (Operational Guidelines) 
อนึ่ง สำหรับคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (OUV) ของกลุ่มป่าแก่งกระจาน ในการนำเสนอเป็นมรดกโลก ประกอบด้วยชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่สำคัญตาม IUCN Red List ได้แก่ สถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critical Endanger-CR) และสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endanger-EN) เช่น จระเข้น้ำจืด ลิ่น เสือโคร่ง ช้างป่า วัวแดง กระทิง ฯลฯ ทั้งนี้ เส้นทางปรับปรุงถนนบ้านกร่าง-พะเนินทุ่ง ไม่ส่งผลกระทบต่อคุณค่า OUV ตามเอกสารที่เสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลก แต่อย่างใด 


อย่างไรก็ตามกรมอุทยานแห่งชาติฯ  ได้มีหนังสือแจ้งให้องค์กรต่างๆซึ่งมีความเป็นห่วงเป็นใย และไม่ทราบถึงข้อมูลเดิมเกี่ยวกับถนนสายนี้มาก่อน ตลอดจนมาตรการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมระหว่างการก่อสร้างดังกล่าวข้างต้น ให้กับองค์กรต่างๆได้ทราบบ้างแล้ว เช่น สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เป็นต้น อีกทั้งจะได้ประสานองค์กรที่ยังคัดค้านโครงการฯเข้าหารือร่วมกันในโอกาส ต่อไป