'พุทธิพงษ์-ดนุพร' ต่างขั้วการเมือง และครอบครัว 'ปุณณกันต์'
ลูกหมอหลานทหาร "พุทธิพงษ์-ดนุพร" 2พี่น้องต่างขั้วตระกูล "ปุณณกันต์" เผย "อยู่ 2 ฝั่งจะได้บาลานซ์กัน เป็นแผน ไม่ใช่เลย"
"บี" พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าสู่เส้นทางการเมืองปี 2544 โดยการลงสมัครเป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่เขตพญาไท แต่ครั้งแรกเขาสอบตก โดยพ่ายให้กับ “กรรณิกา ธรรมเกษร” จากพรรคไทยรักไทย แต่ต่อมา “กรรณิกา” โดนใบเหลือง และ้มีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนมีนาคม 2545 และพุทธิพงษ์ ชนะได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็น ส.ส.ครั้งแรก
ทั้งคู่เป็นบุตรของศาสตราจารย์ นายแพทย์ เหลือพร และนางดาริกา ปุณณกันต์ สายเลือด “ซอยราชครู” คุณปู่ คือ พล.อ.พงษ์ ปุณณกันต์ เป็นนายทหารที่เคยผ่านการยึดอำนาจ และเป็นรัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อยู่นาน 14 ปี ส่วนคุณย่าคือ “คุณหญิงสะอาด ปุณณกันต์” เป็นพี่สาวแท้ๆ ของ พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร อดีตนักการเมืองใหญ่อีกคน
ล่าสุดผู้เป็นพี่กลับสู่โฟกัสทางการเมืองอีกครั้งด้วยการย้ายไปทำงานกับ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หลังจากอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์มาตลอด 18 ปีโดยตอนแรกเป็นรองเลขาธิการนายกฯ และล่าสุดได้รับมอบหมายจาก “บิ๊กตู่” ให้ทำหน้าที่เป็นโฆษกรัฐบาลด้วย
ส่วนบรู๊ค ที่เงียบหายไปจากการเมืองก็กลับมาอีกครั้งในตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย หลังจากที่ทางพรรคเพื่อไทยเลือกกรรมการบริหารซึ่งส่วนใหญ่เป็นชุดเดิมมาทำหน้าที่ โดยในวันประชุมพรรคเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ เขาเป็นผู้อ่านแถลงการณ์ของพรรคหลังการประชุม
เส้นทางการเมืองของทั้งคู่ยังอยู่ “ฝั่งตรงข้าม” กันเหมือนเดิม
อย่างไรก็ตาม “พุทธิพงษ์” ยืนยันว่า แม้เขาและน้องชายจะมีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกัน แต่ทั้งคู่ก็ยังเป็นพี่น้องที่รักกันเหมือนเดิม
"ผมกับน้องชายไม่เคยทะเลาะกัน และเป็นพี่น้องที่รักกันและโตด้วยกันมาตั้งแต่เด็กจนถึงมัธยม เล่นกัน นั่งคุย เล่นดนตรี เล่นกีฬาด้วยกัน เรียกว่าอยู่ด้วยกันแทบจะตลอดเวลา แม้จะมีความคิดที่แตกต่างกัน แต่ที่บ้าน...ก็ต้องขอบพระคุณคุณพ่อคุณแม่ที่จะแนะนำอยู่แล้วว่าความคิดที่แตกต่างสามารถอยู่ร่วมกันได้แต่เราต้องรู้เส้นแบ่งพยายามอย่าเดินเข้าไปสู่เส้นแบ่งที่มันใกล้มาก เรื่องอะไรที่ถ้าพูดไปแล้วจะต่อยอดไปสู่ความขัดแย้ง เรื่องใครดีกว่าใคร ถูกใครผิด ก็เลี่ยงซะ
ฉะนั้นเราพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้ระดับหนึ่ง แต่เราจะรู้กันถ้าจะพูด หรือไปเยาะเย้ย ถากถาง หรือยกตัวเองว่าเก่งกว่าเขาไม่ควรพูดอยู่แล้ว ไม่มีสิ่งเหล่านั้น แต่ความเป็นพี่เป็นน้องกันก็ยังอยู่ แต่เราก็สามารถพูดคุยกันเรื่องอื่นได้อยู่แล้ว เช่นเรื่องกีฬา เรื่องครอบครัว เรื่องลูกนี่คือสิ่งที่ผมและครอบครัวทำแบบนี้มาตลอด และไม่เคยมีการคิดว่าอยู่ 2 ฝั่งจะได้บาลานซ์กัน เป็นแผน ไม่ใช่เลย" บี กล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์พิเศษกับคมชัดลึกออนไลน์
พุทธิพงษ์ กล่าวว่า เขาและน้องชายต่างคนก็ต่างมีความคิดของตัวเอง ชี้นำกันไม่ได้ วันที่น้องชายเขาออกไปอยู่อีกฝั่งในทางการเมืองก็โตแล้ว ไม่ใช่เด็กแล้ว ตอนนั้นน้องชายอายุ 30 กว่าแล้ว ซึ่งเขาคิดว่านี่เป็นตัวอย่างที่ดี อาจจะเป็นพี่น้องคู่แรกที่เป็นพี่น้องร่วมสายเลือดกันและก็โตมาด้วยกัน ไม่ได้ทะเลาะกัน แต่ก็อยู่ด้วยกันได้ ความคิดที่แตกต่างสามารถอยู่ด้วยกันได้ถ้าให้เกียรติกัน รู้ว่าอะไรควรไม่ควรและยังรักกัน ยังมีความเป็นห่วงเป็นใยกัน
"สมัยก่อนตอนผมออกมาปี 56-57 (ช่วงชุมนุม กปปส.) เขาก็โทรมาถามปลอดภัยหรือเปล่าบอกดูแลตัวเองนะพี่ผมว่าความเป็นห่วงเป็นใย ความเป็นพี่เป็นน้องก็เหมือนกันกับคนไทยทุกคน”
สำหรับการที่บรู๊คกลับมาอยู่ในการเมืองอีกครั้งบี เล่าว่าได้สอบถามน้องชายว่ากลับมาจะมาลง ส.ส. หรือไม่ ก็ได้รับคำตอบว่ายังไม่ได้ตัดสินใจ เพียงแต่เคยเป็นกรรมการบริหารพรรคชุดเดิมจึงกลับมาเป็น ที่ผ่านมาน้องชายก็ไปทำธุรกิจที่ถนัดด้านอื่นๆ เช่นไปทำละคร
“ความเป็นพี่น้องของเราสะท้อนความรู้สึกของคนไทย คนไทยรักกันไหม รัก รักกันมากด้วย แต่ว่าสถานการณ์แต่ละอันอาจจะทำให้ขัดแย้ง มีความคิดที่ไม่ตรงกันแต่เราก็เป็นคนไทยด้วยกัน เหมือนกัน ผมกับน้อง สุดท้ายเราก็เป็นพี่น้องกัน ก็ต้องแบ่งแยกให้ได้ อะไรผ่านมาแล้ว เรื่องอะไรลืมได้ก็ต้องลืม อะไรที่เก็บมาเป็นประโยชน์เป็นบทเรียนได้ก็ต้องเอามาทบทวน มาวิเคราะห์ และเดินหน้าต่อ”
พุทธิพงษ์ กล่าวด้วยว่า ตอนนี้มีคนที่เคยเป็นระดับแกนนำการชุมนุมของฝ่ายหนึ่งก็ออกมาพูดในลักษณะเดียวกัน ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี
“ผมเริ่มเห็นหลายๆท่าน หลายคนเคยเป็นแกนนำของข้างหนึ่ง วันนี้ฟังคำสัมภาษณ์ดีๆ เริ่มมีความคิดที่เปลี่ยนไป คิดว่าทำไมเราไม่ร่วมกันเดินหน้า หลายท่านเดินผ่านเส้นทางที่คิดผิดและคิดถูก ไม่มีใครผิดทั้งหมด หรือถูกทั้งหมด แต่ตอนนี้เราเดินผ่านมาแล้ว และต้องเดินต่อไป ถ้ามองมุมที่ประชาชนได้ประโยชน์ และไม่ต้องเกิดวิกฤติขึ้นมาอีก สิ่งที่ดีที่สุดคือการรับฟังความคิดเห็นของทุกคน และไม่มีสูตรสำเร็จ คือไม่มีใครได้อย่างใจทุกอย่างร้อยเปอร์เซ็นต์”
ถึงแม้ว่า พุทธิพงษ์ จะบอกว่า “ไม่ขอระบุชื่อ” บุคคลที่เขาพูดถึง แต่ก็น่าจะหมายถึง “จตุพร พรหมพันธุ์” ด้วย
“ผมยืนยันแบบนี้อีกครั้ง เราคือคนไทย ประเทศไทยคือประเทศไทย เราไม่มีทางย้ายหนีกันไปได้ แล้วลูกหลานเราก็ต้องอยู่บนผืนแผ่นดินนี้ ฉะนั้นต้องช่วยกัน ส่วนใครจะต้องปรับตัวมาก ปรับตัวน้อยผมคิดว่าเวลาก็จะช่วยให้เราลืมและปรับตัวได้ แต่หลักคิด ถ้าเป็นส่วนรวม ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ก็จะเป็นประโยชน์” พุทธิพงษ์ กล่าวย้ำ
โมเดลการปฏิบัติต่อกันของสองพี่น้อง “บี-บรู๊ค” น่าจะเป็นโมเดลในการอยู่ร่วมกันในสังคมของคนไทยที่แม้จะมีความเห็นต่าง แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้
===================
โดย สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์ , คมชัดลึก