เปิดฟรีหาเสียงโซเชียลฯ ทุกช่องทาง ไฟเขียวใช้ภาพแคนดิเดทนายกฯ-หัวหน้า-สมาชิก ผู้สมัคร ส.ส.ผู้ช่วยหาเสียงได้ไม่เกิน 20 คนต่อเขต ปาร์ตี้ลิสต์ไม่เกิน 10 เท่าของจำนวนเขตที่ส่ง ห้ามช่วยเงินซองงานบุญ ห้ามดึงสถาบันฯ หาเสียง
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเห็นชอบร่างระเบียบ กกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. 2561 แล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา
โดยสาระสำคัญของระเบียบดังกล่าว กำหนดเกี่ยวกับข้อควรปฏิบัติ ข้อห้ามไม่ให้ปฏิบัติ สำหรับผู้สมัคร พรรคการเมืองและผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น โดยสามารถแจกเอกสาร วีดิทัศน์ที่เกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งในเขตชุมชน สถานที่ งานพิธีต่างๆ ได้ รวมทั้งจัดรถหาเสียงและเวทีหาเสียง ใช้เครื่องขยายเสียงช่วยหาเสียงได้
ขณะที่ผู้สมัครและพรรคการเมือง ต้องแจ้งรายละเอียดให้ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทราบภายใน 10 วัน หลังปิดการรับสมัคร ซึ่งทั้งเอกสาร วีดิทัศน์ ประกาศการโฆษณา ป้ายโฆษณาที่จะติดตั้งบนรถหาเสียง เวทีหาเสียง สามารถระบุชื่อ รูปภาพและ หมายเลขผู้สมัคร ชื่อ สัญลักษณ์ นโยบายของพรรค คติพจน์คำขวัญ ข้อมูลประวัติเฉพาะที่เกี่ยวกับผู้สมัคร พรรคการเมือง และนำภาพของผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรค และสมาชิกพรรค ลงโฆษณาหาเสียงได้เท่านั้น
โดยการดำเนินการในส่วนของรถหาเสียงและเวทีหาเสียง ให้นับรวมเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง
สามารถหาเสียงผ่านจดหมาย สิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ถึงผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งได้
ทำเอกสาร ที่มีการกากบาทในช่องคะแนนเลือกตั้งให้กับตนเองได้ แต่เอกสารต้องไม่มีลักษณะ หรือสีคล้ายกับบัตรเลือกตั้ง
นอกจากนี้ สามารถตั้งผู้ช่วยหาเสียงได้โดยผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งมีผู้ช่วยหาเสียงในเขตได้ไม่เกิน 20 คนต่อเขต ส่วนของพรรค ที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ มีผู้ช่วยหาเสียงได้ ไม่เกิน 10 เท่าของจำนวนเขตที่พรรคนั้นส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขต
กรณีพบมีการหาเสียงไม่เป็นไปตามที่ กกต. กำหนด ผอ. กกต.จังหวัด จะแจ้งให้ผู้สมัคร พรรคการเมืองแก้ไข ภายใน 5 วัน หากไม่ดำเนินการกกต.สามารถรื้อถอน ปลดออกหรือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการโดยคิดค่าใช้จ่ายกับผู้สมัคร พรรคการเมืองนั้น และนำมาเป็นเหตุสืบสวนวินิจฉัยได้
ส่วนการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์นั้น กำหนดให้ผู้สมัคร พรรคการเมือง สามารถหาเสียงด้วยตนเองหรือว่าจ้างบุคคลนิติบุคคลดำเนินการได้ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภท ทั้ง ยูทูบ เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น อีเมล์ เอสเอ็มเอส โดยผู้สมัครต้องแจ้งวิธีการรายละเอียดช่องทางระยะเวลาการหาเสียงรวมถึงหลักฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้ ผอ.กกต. ประจำจังหวัดทราบ ตั้งแต่วันสมัครหรือก่อนหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์
สำหรับผู้ที่ไม่ได้เป็นผู้สมัคร หรือสมาชิกพรรค หากต้องการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้กับผู้สมัครพรรคการเมืองใด ต้องแจ้งชื่อสกุลนิติบุคคล หรือเครื่องหมายใดๆ ที่สามารถเจาะจงตัวบุคคลที่ดำเนินการได้ โดยค่าใช้จ่ายในการหาเสียงผ่านสื่อส่วนนี้ หากเกินกว่า 10,000 บาท ต้องแจ้งให้ผู้สมัครพรรคการเมืองทราบและให้แจ้งต่อ ผอ. กกต.จังหวัดเลขากกต.ทราบ และการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ให้นับรวมเป็นค่าใช้จ่ายของผู้สมัคร พรรคการเมืองนั้น
ขณะที่ ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัครแบบแบ่งเขต รายละไม่เกิน 2 ล้านบาท ส่วนค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองคิดจากจำนวนการส่งผู้สมัคร 1-50 คน ไม่เกิน 10 ล้านบาท 51-100 คน ไม่เกิน 20 ล้านบาท 101-150 คน ไม่เกิน 30 ล้านบาท 201-250 คน ไม่เกิน 50 ล้านบาท 251-300 คน ไม่เกิน 60 ล้านบาท และ 301-350 คน ไม่เกิน 70 ล้านบาท
กรณี กกต.พบว่ามีการใช้ถ้อยคำรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดมหรือนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้อง สามารถสั่งให้แก้ไขเปลี่ยนแปลง ลบข้อมูลนั้น หากผู้สมัครพรรคการเมืองไม่ดำเนินการในเวลาที่กำหนด เลขากกต.สามารถแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ให้บริการ ดำเนินการโดยผู้สมัครพรรคการเมืองต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย และการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ลบข้อมูล ไม่สามารถลบล้างความผิดที่ได้กระทำสำเร็จแล้วได้ ซึ่งกกต. สามารถนำมาสืบสวนและวินิจฉัยได้
ส่วนข้อห้าม ไม่ควรปฎิบัติในการหาเสียง กำหนดไว้กว้างๆ คือ ห้ามผู้สมัครพรรคการเมืองหรือผู้ใดนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียง ห้ามผู้สมัครพรรคการเมืองหรือผู้ใด ให้ผู้ประกอบอาชีพ เจ้าของกิจการวิทยุโทรทัศน์ สื่อมวลชน สื่อโฆษณา หรือนักแสดง นักดนตรีพิธีกร ใช้ความสามารถทางวิชาชีพเอื้อประโยชน์ในการหาเสียงให้แก่ตน แต่ถ้าผู้สมัครมีความรู้ความสามารถทางศิลปะเป็นของตนเอง สามารถใช้หาเสียงให้กับตัวเองได้ แต่ต้องไม่ใช้อุปกรณ์ในการแสดง
นอกจากนี้ ยังห้ามไม่ให้มีการ แจกจ่ายเอกสารที่เกี่ยวกับการหาเสียงโดยใช้วิธีการวาง หรือโปรยในที่สาธารณะ ไม่ใช้ถ้อยคำรุนแรงก้าวร้าว หยาบคาย หรือปลุกระดม และไม่ช่วยเหลือเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ให้แก่ผู้ใดตามประเพณี
เลือกตั้งส.ส.นอกประเทศอย่างไร
ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.นอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2561 เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา ระบุ กำหนดวันลงคะแนน สถานที่ และวิธีการในต่างประเทศ กระทำก่อนวันเลือกตั้งในประเทศไม่น้อยกว่า 7 วัน
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) นอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2561 โดยที่เป็นการสมควรให้มีการออกระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. นอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2561 เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สำหรับสาระสำคัญ อาทิ การกำหนดวัน เวลา ที่เลือกตั้ง และวิธีการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร โดยภายใน 10 วัน นับแต่มีพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.)ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ให้เอกอัครราชทูตประกาศกำหนดวัน เวลา วิธีการออกเสียงลงคะแนน และสถานที่เลือกตั้ง ส.ส.พร้อมปิดประกาศให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทราบโดยทั่วกัน
หากจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง ให้ประกาศก่อนวันลงคะแนนไม่น้อยกว่า 10 วัน เว้นแต่ในกรณีฉุกเฉินจะประกาศเปลี่ยนแปลงน้อยกว่า 10 วัน ก็ได้ โดยให้เอกอัครราชทูตจัดสถานที่ออกเสียงลงคะแนน หรือให้มีการออกเสียงลงคะแนนทางไปรษณีย์ หรือโดยวิธีอื่นใดที่มิใช่เป็นการจัดตั้งสถานที่ออกเสียงลงคะแนนก็ได้ ทั้งนี้ให้พิจารณาตามความเหมาะสมของประเทศนั้น
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร การเพิ่มชื่อ ถอนชื่อ และเปลี่ยนแปลงถิ่นที่อยู่นอกราชอาณาจักรในฐานข้อมูลผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง วิธีการแจ้งความประสงค์ ขอใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนนอกราชอาณาจักร ตัวอย่างบัตรเลือกตั้ง และหีบบัตรเลือกตั้ง การออกเสียงลงคะแนนนอกราชอาณาจักร การออกเสียงลงคะแนนทางไปรษณีย์ และวิธีอื่น การดำเนินการภายหลังปิดการลงคะแนน