แก้กฎหมายจราจร 'เมา' ห้ามขี่จักรยาน
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภายใต้การทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)” สัปดาห์นี้ได้นัดประชุมช่วงท้ายสัปดาห์ เพื่อพิจารณา ร่างพ.ร.บ.หลายฉบับที่สำคัญ
เบื้องต้น มี2ร่าง พ.ร.บ. ที่ “คณะรัฐมนตรี (ครม.)” เสนอ คือร่าง พ.ร.บ.สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ....เพื่อกำหนดให้มี คณะทำงานชุดใหญ่เพื่อบูรณาการ และ นำเสนอแผน แนวทางพัฒนาด้านการอุดมศึกษา และร่าง พ.ร.บ. จราจรทางบก (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งเป็นเนื้อหาที่แก้ไข พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ.2522 แก้ไขในหลายประเด็นที่ “ล้าหลัง”
โดยมีสาระสำคัญ อาทิ เชื่อมโยงข้อมูล ประวัติการกระทำความผิดของผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ ข้อมูลทะเบียนรถ และข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และกรมขนส่งทางบก, กำหนดให้ผู้ขับขี่ต้องมีใบอนุญาตอยู่กับตัวขณะขับรถ, ห้ามขี่ “รถจักรยาน” ขณะเมาสุราหรือของมึนเมา,ปรับปรุงหลักเกณฑ์และมาตรการในการออกใบสั่งสำหรับผู้ขับขี่ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติการตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทาบก และปรับการจ่ายค่าปรับ ผ่านทางธนาคารได้
กำหนดมาตรการยึด และเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ สำหรับผู้กระทำผิดกฎหมายจราจรและมีพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับบุคคล หรือทรัพย์สินที่รุนแรงและพบการหลบหนีจากการกระทำผิดรุนแรง เกิน2ครั้ง ภายในเวลา 3 ปี พร้อมกำหนดมาตรการบันทึกคะแนนความประพฤติ ผู้ขับขี่ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย เพื่อประโยชน์ของการควบคุมความประพฤติผู้ขับขี่ และทำให้การจราจรปลอดภัย โดยให้ “สตช.”ออกระเบียบที่เกี่ยวข้อง ต่อไป
นอกจากนั้นยังมีวาระพิจารณาร่างกฎหมายที่“คณะกรรมาธิการฯ” พิจารณาเสร็จแล้ว อาทิ ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ฉบับที่...) พ.ศ.. ร่าง พ.ร.บปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อจัดตั้ง“กรมการขนส่งทางราง” เพื่อให้การดูแลระบบรางทั้งประเทศเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยกำหนดให้โอนกิจการและบุคลากรของ “สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม” เป็นฟันเฟืองทำงานในกรมใหม่นี้
ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว (ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์อัตโนมัติ), ร่างพ.ร.บ.สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... , ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....ว่าด้วย ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล, ร่าง พ.ร.บ.การดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....และร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ กสทช. (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อปรับบทบาทของ กสทช. ตามเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560
ทั้งนี้ในร่างกฎหมาย ตามที่ “กรรมาธิการฯ” เติมใหม่ ที่เกียวกับปมของการจัดสรรคลื่นความถี่ที่มีมีข้อกำหนดให้ กสทช. อนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ผ่านการะประมูล และ ยังมีข้อกำหนดบทอนุญาตให้บุคคลอื่นร่วมใช้ประโยชน์จากความถี่หรือช่องความถี่ที่ได้รับอนุญาตไปด้วย
ต้องจับตาในเนื้อหาและรายละเอียดว่า การปรับบทบาท “กสทช.” ใหม่นั้น จะเป็นแนวทางกู้หน้าและแก้ไข ปัญหา “ทีวีดิจิตอล” ที่ทำให้ ผู้ประกอบการสื่อฯ ล่มสลายได้หรือไม่