ดัชนีคอร์รัปชั่นไทยร่วงอยู่ลำดับที่ 99 จาก 180 ประเทศ
องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ให้คะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต ไทยได้ 36 คะแนน ร่วงลงมาอยู่ลำดับที่ 99 จาก 180 ประเทศ และอยู่อันดับ 5 ของอาเซี่ยน คะแนนหลักนิติธรรมไม่ลด เชื่อการเลือกตั้งจะช่วยเพิ่มค่า CPI
นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2562 องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ได้ประกาศค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ปี 2018 ปรากฏว่า 2 ใน 3 จาก 180 ประเทศทั่วโลก ได้คะแนนต่ำกว่า 50 คะแนน โดยคะแนนเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 43 คะแนน ซึ่งประเทศที่ได้อันดับความโปร่งใสสูงสุดคือเดนมาร์ก ได้ 88 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน สำหรับไทยได้ 36 คะแนน อยู่ลำดับที่ 99 จาก 180 ประเทศในการให้ค่าคะแนน CPI ปี 2018 องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) ให้คะแนนและจัดอันดับประเทศไทย โดยพิจารณาข้อมูลจากแหล่งข้อมูล 9 แหล่งข้อมูล ซึ่งไทยได้คะแนนเท่าเดิม 6 แหล่ง คะแนนลดลง 3 แหล่ง
ทั้งนี้ จะสังเกตเห็นได้ว่า ค่าคะแนนที่เกี่ยวข้องกับความโปร่งใส หลักนิติธรรม และปัจจัยเกี่ยวกับคอร์รัปชัน ล้วนมีคะแนนเท่าเดิม1. แหล่งข้อมูลที่ไทย ได้คะแนนเท่ากับปีก่อน มี 6 แหล่งข้อมูล คือ1.1 Bertelsmann Foundation Transformation Index (BF-TI) ได้ 37 คะแนน (ปี 2017 ได้ 37 คะแนน) (เท่าเดิม) BF-TI ใช้ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์และประเมินกระบวนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตย และระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี และดูความเปลี่ยนแปลง 3 ด้าน คือ 1. ด้านการเมือง 2. ด้านเศรษฐกิจ และ 3. ด้านการจัดการของรัฐบาล ทั้งนี้ BF-BTI จะมีการเผยแพร่ผลทุก 2 ปี และข้อมูลที่เผยแพร่ครั้งล่าสุด คือ เดือนมกราคม 2561 ถึงแม้ว่าการประเมินค่าดัชนี Transformation index BTI จะประกอบด้วยชุดคำถามหลายข้อแต่ Transparency International ใช้คะแนนจากคำถามของ BF เพียง 2 ข้อ ในการประเมินคะแนน CPI คือ การดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำการทุจริต และความสำเร็จของรัฐบาลในการจัดการกับปัญหาคอร์รัปชัน คะแนนเท่าเดิม น่าจะเป็นเพราะ TI ใช้คะแนนจากรายงานการวิเคราะห์ของ BF-TI ครั้งล่าสุดเมื่อปีที่ผ่านมา1.2 International Country Risk Guide (ICRG) : Political Risk services ได้ 32 คะแนน (ปี 2017 ได้ 32 คะแนน) (เท่าเดิม) ICRG เป็นการจัดอันดับความเสี่ยงของประเทศต่าง ๆ ทั้งความเสี่ยงด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ และด้านการเงิน วิเคราะห์ข้อมูลโดยผู้เชี่ยวชาญ และมีการรายงานผลทุกเดือน ครอบคลุม 140 ประเทศ ทั่วโลก
"การคอร์รัปชัน" เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ใช้ประเมินความเสี่ยงด้านการเมือง มุ่งประเมินการคอร์รัปชันในระบบการเมือง โดยรูปแบบการทุจริตที่พบมากที่สุด คือ การเรียกรับสินบน หรือการเรียกรับเงินเพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้า/ส่งออก การประเมินภาษี รวมถึงระบบอุปถัมภ์ ระบบพวกพ้อง การให้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองแบบลับ ๆ และความสัมพันธ์ใกล้ชิดของนักการเมืองกับนักธุรกิจคะแนนเท่าเดิม น่าจะเป็นผลมาจาก ICRG เน้นความเป็นประชาธิปไตย รัฐบาลและฝ่ายบริหารต้องสามารถถูกตรวจสอบได้ ซึ่งประเทศไทยยังมีข้อจำกัดในเรื่องนี้เหมือนปีที่ผ่านมา1.3 Economist intelligence Unit (EIU) : Country Risk Rating ได้ 37 คะแนน (ปี 2017 ได้ 37 คะแนน) (เท่าเดิม) EIU วิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับความเสี่ยงที่ระบบเศรษฐกิจของประเทศต้องเผชิญ ได้แก่ ความโปร่งใสในการจัดสรรและการใช้จ่ายงบประมาณ การใช้ทรัพยากรของราชการ/ส่วนรวม การแต่งตั้งข้าราชการจากรัฐบาลโดยตรง มีหน่วยงานอิสระในการตรวจสอบการจัดการงบประมาณของหน่วยงานนั้นๆ มีหน่วยงานอิสระด้านยุติธรรมตรวจสอบผู้บริหาร/ผู้ใช้อำนาจ ธรรมเนียมการให้สินบน เพื่อให้ได้สัญญาสัมปทานจากหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ EIU มีการสำรวจเก็บข้อมูลประมาณเดือนกันยายนของทุกปีคะแนนเท่าเดิม น่าจะเป็นเพราะ เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญของ EIU ได้วิเคราะห์ว่า แม้ว่าประเทศไทยจะมีการกำหนดให้มีการเลือกตั้งในปี 2019 แต่ทหารก็ยังมีอิทธิพลอยู่ในสภาเช่นเดิม รวมทั้งการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ไม่มีการเผยแพร่ในรูปแบบสากล จึงทำให้การวิเคราะห์อาจมีการคาดเคลื่อนได้
1.4 Global Insight Country Risk Rating (GI)ได้ 35 คะแนน (ปี 2017 ได้ 35 คะแนน) (เท่าเดิม)GI ประเมินปัจจัยเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจที่ต้องเกี่ยวข้องกับคอร์รัปชัน การแทรกแซงของเจ้าหน้าที่รัฐในการดำเนินธุรกิจ การให้สินบนและสิ่งตอบแทนสำหรับพิจารณาสัญญาและขอใบอนุญาตคะแนนเท่าเดิม น่าจะเป็นเพราะ แม้ว่ามุมมองและความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจต่อการแก้ไขปัญหาการทุจริตของรัฐดีขึ้น สถานการณ์ภายในประเทศเอื้ออำนวยต่อการลงทุน สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนและบริษัทข้ามชาติด้วยหลายแนวทาง ได้แก่ การออกคู่มือมาตรการควบคุมภายในของนิติบุคคล ตามมาตรา 123/5 (ปัจจุบันตามกฎหมายใหม่เป็นมาตรา 176) แต่นักลงทุน นักธุรกิจ และผู้ทำสัญญากับภาครัฐ ยังมองว่า การดำเนินงานของภาคธุรกิจที่ต้องพบอุปสรรคจากปัญหาคอร์รัปชัน การแทรกแซงจากเจ้าหน้าที่รัฐในการดำเนินธุรกิจ และปัญหาการให้สินบนและสิ่งตอบแทนสำหรับการพิจาณาสัญญาและการขอใบอนุญาตต่าง ๆ ยังคงมีอยู่ การป้องกันการให้สินบนในระดับต่าง ๆ ยังไม่เกิดความเปลี่ยนแปลวอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้สถานการณ์ต่างๆ ภายในประเทศทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ กฎหมาย ภาษี การบริหาร และความมั่นคง ที่จะเอื้ออำนวยต่อการลงทุน ทำธุรกิจไม่เปลี่ยนแปลงจากปีที่ผ่านมามากนัก1.5 World Economic Forum (WEF) : Executive Opinion Serveyได้ 42 คะแนน (ปี 2017 ได้ 42 คะแนน) (เท่าเดิม)
WEF สำรวจมุมมองของนักธุรกิจที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเกี่ยวกับปัจจัยที่เป็นอุปสรรคสูงสุดในการทำธุรกิจ 5 ด้าน คือ 1. การคอร์รัปชัน 2. ความไม่มั่นคงของรัฐบาล/ปฏิวัติ 3. ความไม่แน่นอนด้านนโยบาย 4. ระบบราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพ 5. โครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่ไม่เพียงพอว่าแต่ละปัจจัยเป็นอุปสรรคเพิ่มขึ้น เท่าเดิม หรือลดลง ทั้งนี้ WEF สำรวจข้อมูลประมาณเดือนมกราคม มิถุนายนของทุกปี คะแนนเท่าเดิม เนื่องจากสถานการณ์การทุจริตในความรู้สึกของนักลงทุนนั้นยังคงเท่าเดิมไม่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น หรือแย่ลงกว่าเดิม ถึงแม้หน่วยงานภาครัฐจะมีการตื่นตัวกับการให้บริการด้วยความโปร่งใส มีการออกนโยบายต่างๆ รวมทั้งการประกาศเจตนารมณ์ในการต่อต้านการทุจริต แต่การแก้ปัญหาก็ไม่อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ1.6 World Justice Project (WJP) : Rule of Law Index ได้ 40 คะแนน (ปี 2017 ได้ 40 คะแนน) (เท่าเดิม) WJP ประเมินค่าความโปร่งใสโดยใช้ 8 หลักเกณฑ์ เน้นเรื่องหลักนิติธรรม แต่ปีที่ผ่านมา TI นำเกณฑ์ด้านการปราศจากคอร์รัปชันและแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนมาเป็นตัวให้คะแนน โดยในรายงานฉบับที่ผ่านมา WJP ได้เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนพฤษภาคม พฤศจิกายน 2017ได้คะแนนเท่าเดิม น่าจะเป็นเพราะ TI ใช้คะแนนจากรายงานการวิเคราะห์ของ WJP ครั้งล่าสุดเมื่อปีที่ผ่านมา (2017 2018)
2. แหล่งข้อมูลที่ไทย ได้คะแนนลดลงจากปีก่อน มี 3 แหล่งข้อมูล คือ2.1 International Institute Management Development (IMD) : World Competitiveness Yearbook ได้ 41 คะแนน (ปี 2017 ได้ 43 คะแนน) (ลดลง 2 คะแนน) IMD นำข้อมูลสถิติทุติยภูมิและผลการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูง ไปประมวลผลจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย และพิจารณาจาก 4 องค์ประกอบ คือ 1. สมรรถนะทางเศรษฐกิจ 2. ประสิทธิภาพของภาครัฐ 3. ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ 4. โครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ IMD สำรวจข้อมูลประมาณเดือนมกราคม เมษายนของทุกปีคะแนนลดลง ถึงแม้ว่าจะมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายและระเบียบต่างๆ หลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ เป็นต้น รวมทั้งมีการกำหนดนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศก็ตาม แต่ยังขาดการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ที่ถูกต้อง จึงอาจทำให้ประชาชนและนักธุรกิจยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้2.2. Political and Economic Risk Consultancy (PERC) ได้ 37 คะแนน (ปี 2017 ได้ 41 คะแนน) (ลดลง 4 คะแนน)
PERC สำรวจข้อมูลจากนักธุรกิจในท้องถิ่นและนักธุรกิจชาวต่างชาติที่เข้าไปทำธุรกิจในประเทศนั้นๆ ได้แก่ นักธุรกิจจากสมาคมธุรกิจ ผู้แทนที่เข้าร่วมการประชุมต่าง ๆ ในเอเชีย ผู้แทนหอการค้าประเทศต่างๆ เป็นต้น ซึ่งข้อมูลที่นำมาใช้จัดทำ CPI 2018 เป็นข้อมูลที่เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนมกราคมถึงต้นเดือนมีนาคม 2018 และตีพิมพ์วารสารในเดือนมีนาคม 2018ทั้งนี้ PERC มีหลักเกณฑ์ในการสำรวจโดยการสอบถามกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นการถามคำถามที่แสดงให้เห็นถึงระดับการรับรู้ในเรื่องการคอร์รัปชัน โดยมีคำถามที่ใช้ในการสำรวจที่สำคัญ คือ ท่านจะให้คะแนนปัญหาการทุจริตในประเทศที่ท่านทำงานหรือประกอบธุรกิจเท่าใดคะแนนลดลง น่าจะเป็นเพราะ แม้ว่ามุมมองนักธุรกิจภายในประเทศจะมองว่าสถานการณ์คอร์รัปชันไทย ปี 2018 มีความรุนแรงน้อยกว่า ปี 2017
แต่ในมุมมองของนักธุรกิจต่างชาติที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ยังคงเห็นว่า การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในประเทศที่มีต่อการแก้ไขปัญหาการทุจริตของรัฐบาล นอกจากนี้ข่าวเกี่ยวกับการทุจริตของข้าราชการระดับสูงในอดีต ซึ่งประชาชนกล้าออกมาเปิดเผยมากขึ้น ดังที่เป็นข่าวออกมาอย่างต่อเนื่อง ก็มีส่วนที่ทำให้มุมมองการรับรู้ของผู้ตอบแบบสอบถามอาจมีผลให้มีค่าคะแนนที่ลดลง2.3 Varieties of Democracy Project (V-DEM) ได้ 21 คะแนน (ปี 2017 ได้ 23 คะแนน) (ลดลง 2 คะแนน) V-DEM วัดเกี่ยวกับความหลากหลายของประชาธิปไตย การถ่วงดุลของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ตลอดจนการทุจริตของเจ้าหน้าที่ในฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ซึ่งในปี 2016 มีการวัดในอาเซียนเพียง 4 ประเทศ แต่ในปี 2017 มีการวัดในอาเซียน 10 ประเทศคะแนนลดลง น่าจะเป็นเพราะปีที่ผ่านมาสังคมโลกมองว่าไทยยังขาดความชัดเจนเกี่ยวกับการเลือกตั้งมีข้อจำกัดเรื่องสิทธิเสรีภาพบางประการเพื่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ การถ่วงดุลของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติและกระบวนการยุติธรรมยังไม่ชัดเจนดังนั้น ในการดำเนินการเพื่อเพิ่มค่าดัชนีการรับรู้การทุจริตและการลดปัญหาการทุจริต จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนในสังคมต้องรวมพลังกันสร้างสังคมที่ไม่ทนกับการทุจริต โดยรัฐบาลต้องมีเจตจำนงในการแก้ไขปัญหาการทุจริตที่ชัดเจนและต่อเนื่อง ภาครัฐต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ภาคเอกชนต้องไม่ให้ความร่วมมือในการให้สินบนทุกรูปแบบและมีการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ ภาคประชาสังคมต้องมีความตื่นตัว ไม่ยอม ไม่ทน ไม่เฉย ต่อการทุจริตทุกรูปแบบ สร้างค่านิยมสุจริต ขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายเดียวกัน "ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต"
สำหรับในส่วนของสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ผ่านมาได้มีการเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและปราบปรามการทุจริตมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากปริมาณคดีเข้าและที่ดำเนินการแล้วเสร็จ นอกจากนี้ เมื่อมีคดีเกิดขึ้นจะมีการศึกษาเพื่อวางมาตรการป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นอีก หรือวางมาตรการเพื่อส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมาย ได้แก่ มาตรการป้องกันการทุจริตกรณีการค้าระหว่างประเทศแบบรัฐต่อรัฐจากโครงการจำนำข้าว และการระบายข้าวแบบจีทูจี, มาตรการป้องกันการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับป้ายโฆษณาบนทางสาธารณะ, มาตรการเพื่อวางเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย ตลอดจนการป้องกันการทุจริต โดยใช้หลักสูตรต้านทุจริตศึกษาที่จะเริ่มการเรียนการสอนในปีการศึกษาแรกของปี 2562