สนช.เสียงเอกฉันท์ ผ่านร่างกม.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หลังกมธ.ฯ ปรับเนื้อหาคืนเนื้อหาเดิม ยกเว้นเก็บ-เปิดเผย ข้อมูลฝ่ายการเมือง-ความมั่นคง พบปมคุ้มครองสิทธิ-เสรีภาพ คนสื่อ ถูกตัดออกจากเนื้อหา
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติเห็นชอบ ให้ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.... ด้วยเสียงเอกฉันท์ 166 เสียง โดยไม่มีสมาชิก สนช.ผู้ใดติดใจอภิปรายท้วงติง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับการพิจารณา ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ของ สนช. เป็นการพิจารณาต่อเนื่องมาจากการประชุม เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ซึ่งที่ประชุมขอเลื่อนเพื่อให้ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฯ ที่มีนาเสาวณี สุวรรณชีพ เป็นประธาน กมธ.ฯ ปรับปรุงแก้ไขในประเด็นที่ถูกท้วงติง รวม 5 ประเด็น
ได้แก่ 1.มาตรา 4 ว่าด้วยข้อยกเว้นการรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล จากเดิมที่กมธ.ฯ แก้ไขสิทธิ์ยกเว้นเฉพาะการเก็บรวบรวมข้อมูล ใช้ หรือ เปิดเผย ข้อมูลส่วนบุคคลที่ใช้ประโยชน์ส่วนตัวหรือกิจกรรมในครอบครัวเท่านั้น ไปเป็นคืนเนื้อหาตามเดิมที่ได้รับเสนอมาจากวาระแรก คือ ครอบคลุมถึง 1.การดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ ทำหน้าที่รักษาความมั่นคงของรัฐ, ความปลอดภัยประชาน การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินหรือนิติวิทยาศาสตร์ และรวมถึงความมั่นคงทางการคลังของรัฐ และ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์, 2.บุคคลหรือนิติบุคคล ที่รวบรวมข้อมูลไว้เพื่อกิจการสื่อมวลชน, งานศิลปกรรม หรืองานวรรณกรรมตามจริยธรรมแห่งการประกอบอาชีพ, 3. สภาผู้แทนราษฎร, วุฒิสภา และรัฐสภา รวมถึง กมธ. ที่ตแงตั้ง, 4.การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลและการทำดำเนนิงานของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม และ 5.ข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตและสมาชิก
ทั้งนี้กมธ.ฯ ได้เพิ่มความของเนื้อหาด้วยว่ากรณียกเว้นรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูล ต้องกำหนดลักษณะกิจการ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และให้คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ และเพิ่มความด้วยวาให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลและหน่วยงาน กำหนดมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคลด้วย
2.แก้ไขมาตรา 16 (8) ว่าด้วยหน้าที่ของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่เพิ่มความให้ทบทวนการตราพระราชกฏษฎีกาหรือกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ทุกๆ 5 ปี, 3. ตัดมาตรา 21/1 ที่คุ้มครองการใช้สิทธิ เสรีภาพ ของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนทุกแขนงออก, 4.มาตรา 26 เพิ่มถ้อยคำให้ความคุ้มครองบุคคลตามสภาพความพิการ ต่อการถูกรวบรวมข้อมูลโดยไม่ได้รบอนุญาตจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลอย่างชัดเจน จากเดิมที่กำหนดไว้เพียง เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ความคิดเห็นทางการเมือง ความเช่อ ศาสนา ข้อมูลสุขภาพ เป็นต้น และ 5. ตัดหมวด 3/1 ว่าด้วยข้อจำกัดการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและสิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ของเจ้าหน้าที่ที่จะเข้าจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลออกทั้งหมด
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เมื่อประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้มีผลบังคับใช้ทันที ยกเว้น เนื้อหาที่ว่าด้วยการรวบรวม ใช้ เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล, สิทธิการเข้าถึงข้อมูล, การร้องเรียน, การรับผิดทางแพ่ง และบทกำหนดโทษ เนื่องจากต้องให้เวลาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมด้านระเบียบ และการบริหารจัดการ ทำให้ผลบังคับใช้จะมีผลหลังจากวันประกาศใช้ร่างกฎหมาย แล้ว 1 ปี.