'แกนนำ ทษช.' ตบเท้าฟังคำวินิจฉัย 'ศาลรธน.' ยุบพรรคหรือไม่
ล่าสุด กลุ่มแกนนำไทยรักษาชาติ หรือ ทษช. ตบเท้าฟังศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยยุบพรรคหรือไม่
เมื่อเวลา 13.30 น. ความเคลื่อนไหวที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เตรียมนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นให้ศาลพิจารณายุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ขณะที่แกนนำหรือคณะกรรมการบริหารพรรค รวมทั้งหมด 40 คน ได้เดินทางมาที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเพื่อเข้าฟังคำวินิจฉัยของศาลแล้ว
คณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติ นำโดย ร้อยโท ปรีชาพล พงษ์พานิช , นายมิตติ ติยะไพรัช , นายพงศ์เกษม สัตยาประเสริฐ , นายฤภพ ชินวัตร ,นายต้น ณ ระนอง ,นายพชร นริพทะพันธุ์ ,นางวรรษมล เพ็งดิษฐ์ ,นางสาวสุณีย์ เหลืองวิจิตร ,นางสาวชยิกา วงศ์นภาจันทร์ และนายวิม รุ่งวัฒนจินดา รวมถึงคณะกรรมการยุทธศาสตร์หาเสียง สมาชิกพรรครวมทั้งหมด 40 คน เดินทางมาถึงสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อเข้ารับฟังคำวินิจฉัยของศาลว่าวันนี้จะมีการยุบพรรคไทยรักษาชาติหรือไม่ โดยยังไม่ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน แต่จะให้สัมภาษณ์หลังจากศาลฯมีคำวินิจฉัยออกมาแล้ว
ขณะที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญขึ้นนั่งบัลลังก์พิจารณาวินิจฉัย โดยแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติ เมื่อเวลา 13:30 น. ที่ผ่านมา ก่อนที่จะแถลงคำวินิจฉัยว่าจะยุบพรรคหรือไม่ในเวลา 15.00 น.
ทั้งนี้ จุดเริ่มต้นของการที่ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าจะยุบพรรคไทยรักษาชาติหรือไม่ เกิดขึ้นหลังจากที่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง เข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้พิจารณากรณีพรรคไทยรักษาชาติมีหนังสือแจ้งรายชื่อบุคคลเพื่อเสนอแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี 1 ราย และเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
โดยทีมฝ่ายกฎหมายพรรคไทยรักษาชาติ จะมีคำชี้แจงข้อกล่าวหา เพื่อส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญรวม 20 หน้า ประเด็นข้อต่อสู้รวม 8 ประเด็น ประกอบด้วย
ข้อ 1. การดำเนินกิจการของพรรคไทยรักษาชาติ เป็นไปตามประกาศอุดมการณ์ นโยบายในการยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ข้อ 2. พรรคฯ ทำตามประสงค์และความยินยอม ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ ด้วยเจตนาบริสุทธิ์ภายใต้รัฐธรรมนูญ กฎหมาย ประกาศพระบรมราชโองการ พ.ศ. 2515 และข้อบังคับพรรค ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติเป็นข้อห้ามมิให้ ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในฐานะนายกรัฐมนตรี
ข้อ 3. พรรคฯ เข้าใจโดยสุจริตว่าการเสนอชื่อดังกล่าว ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นการกระทำตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 88, 89 และ พรป. เลือกตั้งส.ส. มาตรา 13 และ 14 ไม่ใช่เป็นการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ข้อ 4. เมื่อมีพระราชโองการวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 23.00 น. ภายหลังที่พรรคได้แจ้งรายชื่อบัญชีนายกฯ ไปแล้วเมื่อเวลา 9.00 น. พรรคฯจึงได้แถลงโดยทันทีในวันรุ่งขึ้น เพื่อน้อมรับพระราชโองการไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ด้วยความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์ทุกพระองค์ เป็นการแสดงเจตนารมณ์โดยชัดเจนว่าพรรคฯไม่ติดใจในการเสนอชื่อนายกฯ
ข้อ 5. การกระทำตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 88 และมาตรา 89 ประกอบมาตรา 87 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 13 และ มาตรา 14 ให้ถือว่าการเสนอชื่อบุคคลใดที่มิได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายดังกล่าวให้ถือว่าไม่มีการเสนอชื่อบุคคลนั้น จึงไม่เป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดให้ผู้ร้องกล่าวหาผู้ถูกร้องในทางใดๆ ต่อศาลได้
ข้อ 6. พรรคฯ เห็นว่าคำว่า “ปฏิปักษ์” ให้ความหมายว่า ฝ่ายตรงกันข้าม ข้าศึก ศัตรู แต่การกระทำของผู้ถูกร้อง ได้กระทำการเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเป็นความประสงค์ของผู้ได้รับการเสนอชื่อ ที่อาสาเข้ามาทำงานให้กับประเทศชาติ และยินยอมให้ผู้ถูกร้องเสนอชื่อ มิใช่เป็นการแอบอ้างโดยพละการ
ข้อ 7. กกต. ไม่มีอำนาจหน้าที่นำพระราชโองการมาขยายความกล่าวหาพรรคฯว่ากระทำผิดตามมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560คำขอให้พิจารณาวินิจฉัยเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคนั้น เป็นการขยายความของพระราชโองการที่เป็นโทษ เป็นเรื่องที่มิบังควร และไม่ถูกต้องอย่างยิ่งอันเป็นการนำพระราชโองการมาแอบอ้างใช้อย่างมีเจตนาไม่สุจริตเป็นการกล่าวหาโดยสร้างฐานความผิดใหม่ซึ่งไม่มีฐานกฎหมายใดๆบัญญัติไว้
ข้อ 8. มติในการประชุมครั้งที่ 18/2562 เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 ของกกต.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคไม่เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจาก กกต.จงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย ตามมาตรา 41 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560ประกอบระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 และมีพฤติกรรมไม่สุจริต ซึ่งพรรคฯมีหลักฐานนำเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญและพรรคฯจะใช้สิทธิตามกฎหมายดำเนินการที่พรรคฯ ไม่ได้รับความเป็นธรรมต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มประชาชนที่เดินทางมาให้กำลังใจ กับพรรคไทยรักษาชาติพวกเขาบอกว่า ที่เดินทางมาในวันนี้ก็ต้องการมาให้กำลังใจและฟังคำวินิจฉัยของศาลด้วยตัวเอง