'สมการ' หลังเลือกตั้ง อะไรก็เกิดขึ้นได้!
การเมืองช่วงโค้งสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.นี้ มีไฮไลต์สำคัญโดยเฉพาะการประกาศจุดยืนของพรรคการเมือง ถึงความชัดเจนการจับขั้วทางการเมืองภายหลังการเลือกตั้ง เพื่อเรียกเรทติ้งในช่วงโค้งสุดท้าย
ท่ามกลางกระแสกดดันการเลือกข้างระหว่าง “ฝ่ายคสช.” และ “ฝ่ายประชาธิปไตย” ล่าสุดคือกรณีที่ “เดอะมาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ชิงจังหวะโค้งสุดท้ายประกาศไม่สนับสนุน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกอีหนึ่งสมัย
ประเด็นดังกล่าวกลายเป็นวิวาทะระหว่าง 2 ฝั่ง คือฝั่งประชาธิปัตย์และฝั่งพลังประชารัฐ ยิ่งไปกว่านั้นการประกาศตัวของอภิสิทธิ์ ยังเป็นเสมือนการ “เปิดศึกเลือกข้าง” ระหว่าง “ประชาธิปัตย์” และ “อดีตคนกันเอง” อย่าง “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ที่ถึงขั้นออกมาทวงบุญคุณสมัยปลุกปั้นเป็นนายกฯ พร้อมย้ำจุดยืนในการสนับสนุน “บิ๊กตู่” อย่างไม่ลังเลใจ
ขณะที่ “อภิสิทธิ์” เองย่อมรู้ดีว่า สถานการณ์ภายในพรรคขณะนี้ยากต่อการ “คอนโทรล” เนื่องจากสมาชิกแบ่ง “เป็นก๊ก-เป็นเหล่า” โดยเฉพาะกลุ่มที่เคยมีความสนิทสนมใกล้ชิดกับ “สุเทพ” จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาออกมาคาดโทษสมาชิก “กลุ่มงูเห่า” ที่โหวตสวนมติพรรคไปยกมือโหวตนายกฯจากพรรคอื่น ก็จะต้องถูกพรรคลงดาบอย่างแน่นอน
และการจะไปจับมือกับ “เครือข่ายทักษิณ” หรือ “พรรคเพื่อไทย” นั้น ดูเหมือนว่าประตูนี้ก็จะถูก “ปิดตาย” เช่นกัน
ดังนั้นเมื่อ “อภิสิทธิ์” เลือกที่จะเดินเกมเช่นนี้ นั่นหมายความว่า “สมการการเมือง” หลังการเลือกตั้งจะถูกแบ่งออกเป็นสมการใหญ่ๆ คือ
1 พลังประชารัฐ ซึ่งมี 250 เสียง จากส.ว.ตุนอยู่ในมือ ไปจับขั้วกับพรรคการเมืองเพื่อรวบรวมเสียงส.ส. 126 เสียง รวมเป็น 376 เสียง (เกินกึ่งหนึ่งของสภาฯ) ในการจัดตั้งรัฐบาล
2 เพื่อไทย ซึ่งกติกาที่ออกแบบมาชัดเจนว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ แม้จะได้เสียงส่วนใหญ่ ดังนั้นเพื่อไทยจึงต้องไปจับมือกับพรรคทั้งใหญ่ กลาง เล็ก เพื่อรวบรวมเสียงส.ส.ให้ได้ 376 เสียง เพื่อเพียงพอต่อการเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล
และ 3 ประชาธิปัตย์ (ถูกคาดการณ์ว่าจะเป็นพรรคอันดับ 2) ไปจับมือกับพรรคใหญ่ กลาง เล็ก เพื่อรวบรวมเสียงส.ส. 376 เสียง เพื่อเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล
หรือ สมการที่ 4 ที่ดูเหมือนว่าจะถูกปิด “ประตูตาย” ไปก่อนหน้านี้ คือ 1 ใน 3 ขั้ว ตามที่กล่าวมาไปจับขั้วกันเองในขั้วใดขั้วหนึ่งเพื่อจัดตั้งรัฐบาล เพราะการประกาศจุดยืนของ “อภิสิทธิ์” ตามมาด้วยข้อสงสัยที่ว่า ถือเป็นการประกาศจุดยืนที่เป็นมติพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่?
ต้องไม่ลืมว่า “อภิสิทธิ์” เองเคยลั่นวาจาไว้ “หากได้ส.ส.ต่ำกว่า 100 ที่นั่ง จะลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรค” ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ประชาธิปัตย์จะยังคงเลือก “อภิสิทธิ์” ขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคเป็นครั้งที่ 2 ดังเช่นที่เคยประกาศลาออกเมื่อครั้งการเลือกตั้งปี 54 อีกหรือไม่ หรือเมื่อถึงเวลานั้นจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไร?
คงต้องจับตาดู “สมการการเมือง” ภายหลังการเลือกตั้งซึ่งเราจะได้รู้กันว่า “คำตอบ” ของสมการนี้จะถูกถอดออกมาอย่างไร เพราะเมื่อถึงเวลานั้นจริงอะไรก็อาจเกิดขึ้นได้!