เปิดคำพิพากษา! ลุ้นตัดสิน 'เปรมชัย-คนขับรถ' ติดสินบนจนท. 11 มิ.ย.นี้
อัยการเผย "เปรมชัย" ยังมีคดีอาญาลุ้นอีก 3 คดี ติดสินบน-งาช้าง-ครอบครองปืนไรเฟิล ส่วนรุกที่ภูเรือคดียังไม่เข้าอัยการ ขณะที่เปิดคำพิพากษาล่าเสือดำ ชัดพรานแกละยิง-แหล่ ส่วนเจ้าสัวเอี่ยวให้ปืนลูกซองใช้ รอลุ้นอุทธรณ์ต่อ
นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงคดีอาญาอื่นซึ่งได้ดำเนินคดีกับนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หลังจากที่ล่าสุดศาลจังหวัดทองผาภูมิ เพิ่งมีคำพิพากษาจกคุกนายเปรมชัย 16 เดือนโดยไม่รอลงอาญา คดีครอบครองซากไก่ฟ้าหลังเทาสัตว์ป่าคุ้มครอง และสนับสนุนผู้อื่นล่าเสือดำว่า จากที่ได้ตรวจสอบข้อมูลที่อัยการได้ยื่นฟ้องนายเปรมชัยในคดีอื่นๆ อีกนั้น ก็มี 3 เรื่อง
1.คดีที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 7 ยื่นฟ้องนายเปรมชัย กรรณสูต จำเลยที่ 1 และนายยงค์ โดดเครือ จำเลยที่ 2 ข้อหาร่วมกันให้ ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการใด ไม่กระทำการใดหรือประวิงการกระทําอันมิชอบด้วยหน้าที่ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 ประกอบมาตรา 83 (เสนอให้สินบนเจ้าพนักงาน กรณีนายยงค์ พูดลักษณะพยายามจะติดสินบนเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ปล่อยตัวนายเปรมชัยและพวก) ซึ่งคดีดังกล่าวศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 ได้ดำเนินกระบวนการสืบพยานโจทก์ และจำเลยเสร็จสิ้น โดยกำหนดนัดฟังคำพิพากษา คดีติดสินบนเจ้าพนักงาน ในวันที่ 11 มิ.ย.นี้ เวลา 09.00 น.
ส่วนเรื่องที่ 2 คือคดีครอบครอบงาช้างแอฟริกา 2 คู่ (4 กิ่ง) ไว้ในครอบครองฯ โดยพนักงานอัยการสำนักงานคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 2 ได้ยื่นฟ้องนางคณิตดา กรรณสูตร (อายุ 64 ปี) ภรรยาของนายเปรมชัย จำเลยที่ 1 , นายเปรมชัย จำเลยที่ 2 , น.ส.วันดี สมภูมิ (แม่บ้าน) อายุ 71 ปี จำเลยที่ 3 ฐานร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครอง (งาช้าง) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต , ร่วมกันนำหรือพาของที่ยังไม่ได้เสียภาษี ของต้องห้ามซ่อนเร้นเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต , ร่วมกันช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาหรือรับไว้โดยประการใด ๆ ที่รู้ว่าเป็นของนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ข้อห้ามฯ (ตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 และพ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560) ซึ่งคดีนี้ ศาลอาญากำหนดนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 8-9 ส.ค.นี้ และสืบพยานจำเลยในวันที่ 13-14 ส.ค.เช่นกัน
และเรื่องที่ 3 ครอบครองอาวุธปืนไรเฟิลโดยไม่ได้รับอนุญาต ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 8 ยื่นฟ้อง นายเปรมชัย (มีอาวุธปืนยาวไรเฟิล 3 กระบอก และปืนแก๊บ 1 กระบอกไว้ในครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาตภายในบ้านพักเลขที่ 12/3 ซ.ศูนย์วิจัย 3 แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กทม.) ศาลอาญา กำหนดนัดสืบพยานเริ่มวันที่ 9 ก.ค.นี้
ส่วนกรณีที่มีการตรวจสอบว่า นายเปรมชัย อาจมีบ้านพักและโฉนดกว่า 500 ไร่ทับซ้อนกับพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติภูเรือ จ.เลย ที่บริษัท ซี.พี.เค.อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทในเครือตระกูลนายเปรมชัย เคยครอบครองเนื้อที่กว่า 6,200 ไร่ซึ่งภายหลังถูกเพิกถอนสิทธิเมื่อปี 2546 หรือไม่นั้น “นายประยุทธ” รองโฆษกอัยการฯ ระบุว่า จากการตรวจสอบข้อมูลทางคดีไปยังสำนักงานอัยการจังหวัดเลย และอัยการสำนักงานคดีเศรษฐกิจและทรัพยากรแล้ว ยังไม่พบข้อมูลคดีที่มีการส่งสำนวนจากพนักงานสอบสวนมาแต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคำพิพากษาคดีล่าเสือดำ อายุ 3-5 ปี น้ำหนัก 30 กก. ที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันตก เมื่อเดือน ก.พ.61 ที่ผ่านมา
“ศาลจังหวัดทองผาภูมิ” มีคำพิพากษาลงโทษ “นายเปรมชัย กรรณสูต” อายุ 64 ปี ประธานบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 1 ให้จำคุก 3 ข้อหา ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะฯ โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน , ฐานเป็นผู้สนับสนุนให้ผู้อื่นล่าสัตว์ป่า (เสือดำ) ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จำคุก 8 เดือน , ฐานร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครอง (ไก่ฟ้าหลังเทา น้ำหนัก 0.6 กก.) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 เดือน รวมจำคุกนายเปรมชัย จำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น 16 เดือน โดยให้ยกฟ้อง 2 ข้อหาฐานร่วมกันเก็บของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และข้อหาร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครอง (เสือดำ)
“นายยงค์ โดดเครือ” อายุ 66 ปี คนสนิทและคนขับรถของนายเปรมชัย จำเลยที่ 2 โดยจำคุก 3 ข้อหา ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 3 เดือน , ร่วมกันพาอาวุธไปในที่สาธารณะฯ โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน , ร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครอง (เสือดำและไก่ฟ้าหลังเทา) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 4 เดือน รวมจำคุก 13 เดือน โดยยกฟ้อง 2 ข้อหาร่วมกันล่าสัตว์ป่า (เสือดำ) ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และร่วมกันเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ
“นางนที เรียมแสน” อายุ 44 ปี แม่ครัว จำเลยที่ 3 ลงโทษเพียงข้อหาเดียว ฐานร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครอง (เสือดำและไก่ฟ้าหลังเทา) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต 4 เดือน และปรับเป็นเงินอีก 10,000 บาท โดยโทษจำคุกนั้นให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ซึ่งศาลยกฟ้อง 3 ข้อหา ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต, ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณะฯ โดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะฯ โดยไม่มีเหตุสมควร
“นายธานี ทุมมาศ” หรือพรานแกละ อายุ 57 ปี จำเลยที่ 4 ให้จำคุกข้อหา 6 ข้อหา ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 3 เดือน , ร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครอง (เสือดำและไก่ฟ้าหลังเทา) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 4 เดือน , ร่วมกันพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะฯโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน , พยายามล่าสัตว์ (กระรอก) ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จำคุก 4 เดือน , ล่าสัตว์ป่า (เสือดำ) ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จำคุก 1 ปี และเก็บของป่า (ซากสัตว์) ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำคุก 1 ปี รวมจำคุกทั้งสิ้น 2 ปี 17 เดือน
และให้ “นายเปรมชัย” จำเลยที่ 1 และ “นายธานี” (นายพราน) จำเลยที่ 4 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จำนวน 2 ล้านบาท (มูลค่าความเสียหายเสือดำ) พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ.61 (วันที่เจ้าหน้าที่พบการกระทำผิด) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โดยคดีนี้ฟ้องของอัยการโจทก์ ได้ขอให้นับโทษนายเปรมชัย จำเลยที่ 1 ต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำ อ.1143/2561 (คดีครอบครองงาช้างป่าแอฟริกา) และคดีหมายเลขดำ อ.1144/2561 (คดีครอบครองปืนไรเฟิล) ในศาลอาญา กับโทษในคดีอาญาหมายเลขดำ อท.10/2561 (คดีเสนอสินบนให้เจ้าพนักงาน) ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 และให้นับโทษนายยงค์ โดดเครือ (คนขับรถของนายเปรมชัย) จำเลยที่ 2 ต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำ อท.10/2561 ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 ด้วยเช่นกัน และมีคำขอให้ จำเลยที่ 1-4 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จำนวน 3,012,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ.61 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ
ขณะที่ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ก็ได้เข้ามาเป็นผู้ร้อง ยื่นคำขอให้จำเลยที่ 1-4 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งด้วยโดยให้ร่วมกันชำระเงินค่าเสียหาย 12,750,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี กรณีที่เสือดำถูกยิงตาย โดยอ้างอิงตัวเลขค่าเสียหายนั้นเปรียบเทียบกับโครงการเพาะพันธุ์และอนุรักษ์พันธุกรรมเสือโคร่งเพื่อคืนสู่ถิ่นกำเนิดในธรรมชาติ และคิดจากอัตราการรอดตาย ร้อยละ 20 ในการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ
ซึ่งจำเลยที่ 1-4 ให้การสู้ประเด็นในส่วนแพ่งนี้ว่า จำเลยที่ 1-4 ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง และฟ้องขออัยการโจทก์ ก็มีคำขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย แก่กรมอุทยานฯ ผู้ร้องอยู่แล้ว จึงถือว่าผู้ร้องนั้นยื่นคำร้องซ้อน กับคำร้องขออัยการโจทก์
ขณะที่การพิจารณาคดี “อัยการโจทก์” นำสืบว่า เมื่อวันที่ 3 ก.พ.61 เวลาประมาณ 15.00 น. จำเลยที่ 1-4 ซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาท่องเที่ยวและศึกษาธรรมชาติในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เดินทางเข้าพบนายวิเชียร ชิณวงศ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแนะนำเส้นทางในการท่องเที่ยวและศึกษาธรรมชาติ
ต่อมาวันที่ 4 ก.พ.61 เวลาประมาณ 14.00 น. เจ้าหน้าที่ซึ่งประจำอยู่หน่วยพิทักษ์มหาราช ได้แจ้งนายวิเชียรว่า มีนักท่องเที่ยวตั้งแคมป์พักแรม อยู่บริเวณห้วยปะชิ ห่างจากหน่วยพิทักษ์ป่าฯ ประมาณ 7 กม. จึงสั่งให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจดู ซึ่งไปถึงเวลาประมาณ 16.00 น.ก็พบจำเลยที่ 1-3 และมีเต็นท์กางอยู่ 3 หลัง กับมีผ้าใบขึงระหว่างเต็นท์ ซึ่งเจ้าหน้าที่บอกกับนายเปรมชัย จำเลยที่ 1 ว่านายวิเชียรชวนไปกินอาหารเย็นและให้ย้ายไปพักที่สำนักงาน แต่จำเลยที่ 1 ปฏิเสธอ้างว่าหุงข้าวแล้ว โดยระหว่างเจ้าหน้าที่ขับรถกลับหน่วยพิทักษ์ป่าฯ ในช่วงที่กำลังเดินทางห่างจากที่ตั้งแคมป์ ประมาณ 70 เมตรก็มีเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด มาจากด้านแคมป์ของจำเลยทั้งสี่ ซึ่งระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่ติดต่อวิทยุสื่อสารกับนายวิเชียรซึ่งสั่งให้นำคณะของจำเลยทั้งสี่ กลับมาที่สำนักงานฯ โดยกลุ่มเจ้าหน้าที่ได้เดินตามกันจะไปแจ้งนายเปรมชัย จำเลยที่ 1 ให้ออกจากแคมป์ ระหว่างนั้นก็ตามตัวนายธานี ทุมมาศ (นายพราน) จำเลยที่ 4 และพบใช้อาวุธปืนยาว เล็งไปที่ยอดไม้ที่มีกระรอกวิ่งอยู่ ก็ได้ร้องห้าม จำเลยที่ 4 จึงลดอาวุธปืนลงมาแล้วเชิญตัวกลับไปยังแคมป์ ซึ่งนายเปรมชัย จำเลยที่ 1 ได้ขับรถสวนทางออกไปโดยแจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่าจะไปหานายวิเชียร ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่กลุ่มหนึ่งได้เฝ้าดูจำเลยที่ 4 ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งเดินย้อนกลับไปทางที่พบตัวจำเลยที่ 4 ครั้งแรกซึ่งห่างจากแคมป์ ประมาณ 700 เมตรก็พบปลอกกระสุนปืนลูกซอง 1 ปลอกอยู่บนถนน , ซากเครื่องในสัตว์ที่มีลักษณะใหม่ ไม่มีกลิ่นเหม็น อยู่ตรงซอกหินริมห้วย กับพบกระจุกขนสีดำเทา บริเวณที่ใกล้กับการพบเครื่องในสัตว์ , ถุงใส่เกลือ ถุงเปล่าอีก 2 ถุง ซึ่งห่างจากจุดที่พบเครื่องในสัตว์ประมาณ 3-4 เมตร เจ้าหน้าที่จึงใช้วิทยุสื่อสารแจ้งให้นายวิเชียรทราบ โดยให้เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวจำเลยทั้งสี่ไว้ก่อน และกลุ่มเจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้ขอตรวจค้นบริเวณแคมป์ที่พัก ก็พบถุงน้ำแข็ง 2 ถัง ถังแรกมีน้ำแข็งอยู่พร้อมยาซึ่งนางนที เรียมแสน (แม่ครัว) จำเลยที่ 3 บอกว่าเป็นยารักษาโรคเบาหวานของจำเลยที่ 1 ส่วนอีกถังมีซากไก่ฟ้าหลังเทา 1 ตัวที่ยังไม่ได้ชำแหละ และถุงพลาสติกใส่เนื้อสัตว์อยู่หลายถุง กับถุงเกลืออีก 2 ถุง ซึ่งเปิดใช้ไปแล้ว 1 ถุง , หม้อใส่อาหารอยู่บนเตาแก๊สปิกนิกโดยจำเลยที่ 3 บอกว่าต้มซุปกระดูกหมู ส่วนไก่ฟ้าก็มีเสียงตอบว่าซื้อมาจากร้านอาหารป่า
กระทั่งเวลา 18.30 น. นายเปรมชัย จำเลยที่ 1 ขับรถกลับมาที่แคมป์ แล้วบอกให้จำเลยที่ 2-4 เก็บสิ่งของ เพื่อจะออกจากบริเวณดังกล่าว แต่เจ้าหน้าที่ได้ห้ามและบอกว่านายวิเชียรกำลังจะมาที่เกิดเหตุ เมื่อนายวิเชียรมาถึงเจ้าหน้าที่ ก็ชี้ให้ดูปลอกกระสุน กับบริเวณที่พบสิ่งของต่างๆ และเมื่อทั้งหมดกลับไปที่จุดตั้งแคมป์ เจ้าหน้าที่รายงานให้นายวิเชียร ทราบว่าได้ตรวจยึดอาวุธปืนยาว ขนาด.22 ติดกล้องเล็ง 1 กระบอกจากจำเลยที่ 4 โดยมีกระสุนปืนอยู่ในรังเพลิง 1 นัด และอยู่ในซองบรรจุกระสุนปืนอีก 1 นัด ซึ่งนายเปรมชัย จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นอาวุธปืนของตน และเมื่อตรวจค้นตัวกับที่พักก็ยังพบกระสุนปืนลูกซองและกระสุนปืนขนาด .22 อีกจำนวนหนึ่ง ส่วนที่ตัวจำเลยที่ 2 และ 3 ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย
และผลการตรวจแคมป์ ยังพบซากไก่ถูกสับอยู่บนโต๊ะซึ่งหัวไก่เป็นลักษณะของไก่ฟ้า โดยมีลูกกระสุนปรายที่ฝังอยู่กับหนังไก่ ส่วนที่หลังแคมป์ของจำเลยที่ 1 ก็พบกองไฟซึ่งดับแล้ว กับตะแกรงเหล็กมีคราบเนื้อสัตว์ที่ใช้ย่างติดอยู่ , อุปกรณ์ตกและจับปลา , มีดปังตอ , มีดอีโต้ , มีดทำครัวหลายเล่ม , ถุงเกลือทั้งที่เปิดใช้แล้วและยังไม่ได้เปิด โดยกลุ่มของนายวิเชียรได้ตรวจค้นบริเวณแคมป์ของจำเลยทั้งสี่ จนถึงเวลา 01.00 น.ของวันที่ 5 ก.พ.61 กระทั่งเวลา 07.00 น.นายวิเชียรให้เจ้าหน้าที่อีก 20 คน กลับไปที่เกิดเหตุเพื่อตรวจสอบอีกครั้ง ก็พบหนังเสือดำ ทาเกลือไว้ และกะโหลกเสือดำที่อยู่ในถุงสีดำ ซุกไว้บริเวณกอไผ่ห่างจากจุดตั้งแคมป์ ประมาณ 15 เมตร , ถุงพลาสติกหูหิ้ว 2 ถุงที่มีเนื้อสัตว์ติดกระดูก-ขาสัตว์-ซี่โครงที่มีเนื้อติดอยู่ บริเวณจุดที่พบอาวุธปืนโดยมีใบไม้ปกปิดคลุมอยู่ , กระสุนปืน-น้ำมันชโลมปืน , เขียงพลาสติก โดยเจ้าหน้าที่ได้จัดทำบัญชีสิ่งของที่ตรวจยึด กับรวบรวมภาพถ่ายและแผนที่ที่เกิดเหตุ ตลอดจนทำบันทึกจับกุมเสร็จในวันที่ 6 ก.พ.61 เวลาประมาณ 14.00 น. โดยนายวิเชียร แจ้งข้อกล่าวหากับจำเลยทั้งสี่ ซึ่งชั้นจับกุมทั้งหมดให้การปฏิเสธ จากนั้นจึงได้มอบตัวจำเลยทั้งสี่พร้อมของกลางให้กับพนักงานสอบสวน
ขณะที่ “จำเลยที่ 1-4” นำสืบว่า ระหว่างที่เดินทางจะเข้าไปเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฯ กลุ่มจำเลยได้แวะที่ร้านอาหารป่า แล้วนายยงค์ (คนขับรถของนายเปรมชัย) จำเลยที่ 2 ซื้อไก่มา 1 ตัว , เนื้อเก้ง 1 กก. , เนื้อหมู 1 กก. จากนั้นแวะไปที่บ้านของนายเปรมชัย จำเลยที่ 1 ที่ช่องกระทิง แล้วมาแวะรับ นายธานี (นายพราน) จำเลยที่ 4 กระทั่งไปถึงสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ เจ้าหน้าที่ได้พาจำเลยที่ 1 ไปพบนายวิเชียรซึ่งให้จำเลยที่ 1 ไปพักที่ด่านมหาราช แต่จำเลยทั้งสี่เดินทางไปถึงจุดหนึ่งแล้วเห็นว่าใกล้มืดจำเลยจึงตั้งแคมป์ โดยจำเลยที่ 1 ก็เดินไปชมธรรมชาติ แล้วกลับมานั่งที่แคมป์ พร้อมรับประทานอาหารก่อนเข้านอน ต่อมาวันที่ 4 ก.พ.61 จำเลยที่ 1 ขับรถออกจากที่พักไปคนเดียวเพื่อไปชมความสวยงามของทุ่งใหญ่นเรศวร ส่วนจำเลยที่ 2-4 ก็นำอาหารมาอุ่นกินกันและแยกไปพักผ่อน กระทั่งใกล้เที่ยงวัน นางนที (แม่ครัว) จำเลยที่ 3 ทำซุปหมู-หางหมู ให้นายยงค์ (คนขับรถ) จำเลยที่ 2 กินเพราะต้องกินยาด้วย โดยระหว่างนั้นจำเลยที่ 1 ขับรถไปถึงด่านเซซาโว่และกลับมาถึงที่พักในเวลา 16.00 น. จากนั้นก็มีกลุ่มเจ้าหน้าที่มาที่แคมป์ แจ้งว่าไม่สามารถพักบริเวณดังกล่าวได้ โดยจำเลยแจ้งขอพักอีก 1 คืนแล้วจะเดินทางกลับในวันรุ่งขึ้น แต่เจ้าหน้าที่ให้ไปขออนุญาตนายวิเชียร จำเลยที่ 1 จึงขับรถไปหานายวิเชียรแต่ก็ได้รับคำตอบว่าไม่สามารถตั้งแคมป์ที่จุดดังกล่าวได้ กระทั่งเวลา 21.00 น.จำเลยที่ 1 ขับรถกลับมาแคมป์ เพื่อจะเก็บของ แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าให้รอนายวิเชียรก่อน จากนั้นประมาณ 30 นาที นายวิเชียรกับเจ้าหน้าที่ ก็มาค้นที่ตั้งแคมป์ แล้วเก็บสิ่งของต่างๆไป
โดย นายยงค์ (คนขับรถของนายเปรมชัย) จำเลยที่ 2 และนายธานี (นายพราน) จำเลยที่ 4 ให้การรับสารภาพความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่ง “ศาล” เห็นว่าความผิดดังกล่าว ไม่ใช่ความผิดที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้จำคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปหรือโทษสถานหนักกว่านั้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง
“ศาล” พิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยทั้งสี่แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยทั้งสี่กระทำความผิดอื่นตามฟ้องหรือไม่
1.ความผิดฐานร่วมกันมีและพาอาวุธปืน และร่วมกันพาอาวุธมีดนั้น “ศาล” เห็นว่า นายเปรมชัย จำเลยที่ 1 ได้ตอบคำถามค้านของโจทก์ว่าก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ให้วิศวกรนำรถกระบะวีโก้ ของจำเลยพร้อมอุปกรณ์ไปใช้กับมอบอาวุธปืนของกลางทั้ง 3 กระบอกและน้ำมันล้างปืนให้ไปใช้ในสถานที่ก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมซึ่งบริเวณดังกล่าวมีสภาพป่าสมบูรณ์อาจต้องใช้เพื่อป้องกันตัวจากสัตว์ร้ายระหว่างการสำรวจเส้นทาง โดยหลังเสร็จงานวิศวกรก็นำรถยนต์มาคืน จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าภายในรถมีอาวุธปืนและกระสุนปืน และเมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งให้ขนย้ายสิ่งของจากรถคันดังกล่าวมาไว้ที่รถคันของกลาง จำเลยที่ 1 ก็ย่อมรู้ว่ามีอาวุธปืน ประกอบกับเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้จากคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 2 และ 4 ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่อนุญาตแล้ว การที่จำเลยที่ 1,2,4 อยู่ในรถและออกเดินทางจากบ้านพร้อมอาวุธปืนและมีดของกลางไปยังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ด้วยกัน จึงเป็นการร่วมกันพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร กับร่วมกันพาอาวุธมีเหน็บ , มีดอีโต้ ,มีดพับ โดยไม่มีเหตุสมควรด้วย
ส่วนนางนที (แม่ครัว) จำเลยที่ 3 นั้น “ศาล” เห็นว่า ก็เป็นแม่ครัวมีหน้าที่คอยดูแลหาอาหารให้นายเปรมชัย จำเลยที่ 1 เท่านั้น โดยจำเลยที่ 3 ไม่ได้ร่วมขนย้ายสิ่งของจากรถกระบะ จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 3 ไม่รู้ว่ามีอาวุธปืน , กล้องเล็ง ,ซองบรรจุกระสุนปืนและกระสุนปืนหลายนัด ส่วนอาวุธมีดต่างๆ ไม่ได้พบหรือยึดได้จากจำเลยที่ 3 ดังนั้นนางนที จึงไม่มีความผิดในข้อหานี้
2.ความผิดต่อสัตว์ป่าคุ้มครองและป่าสงวนแห่งชาตินั้น โจทก์มีนายวิเชียร หัวหน้าเขตฯ กับเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฯ อีก 2 คน เป็นพยาน ซึ่งได้ความว่า เมื่อมีเจ้าหน้าที่ 4 คน ไปถึงจุดตั้งแคมป์ พบจำเลยที่ 1-3 มีเต็นท์กาง 3 หลังมีผ้าใบขึงระหว่างเต็นท์ เมื่อเจ้าหน้าที่ขับรถขึ้นไปทางหน่วยพิทักษ์ป่ามหาราช ห่างจากจุดตั้งแคมป์ ประมาณ 70 เมตร ขณะนั้นเจ้าหน้าที่ใช้วิทยุสื่อสารติดต่อนายวิเชียร ระหว่างนั้นได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 นัดมาจากทางที่ตั้งแคมป์ของพวกจำเลย เจ้าหน้าที่จึงขับรถกลับไปจุดดังกล่าวแล้วเดินตามหาจนพบนายธานี (นายพราน) จำเลยที่ 4 กำลังใช้อาวุธปืนยาวเล็งไปที่ยอดไม้ที่มีกระรอกวิ่งอยู่ เจ้าหน้าที่จึงเชิญตัวจำเลยที่ 4 กลับไปยังแคมป์ และเมื่อเจ้าหน้าที่เดินย้อนกลับไปทางหน่วยพิทักษ์ป่าทิคอง จุดที่พบตัวจำเลยที่ 4 ซึ่งห่างจากแคมป์ประมาณ 700 เมตร บริเวณห้วยปะชิ พบปลอกกระสุนปืนลูกซองและซากเครื่องในสัตว์ที่มีลักษณะใหม่กับถุงใส่เกลือเปล่า และเมื่อกลับไปจุดตั้งแคมป์ก็พบถังน้ำแข็ง 2 ถัง ถังหนึ่งมีน้ำแข็งกับยารักษาโรคเบาหวานของนายเปรมชัย จำเลยที่ 1 ส่วนอีกถังมีซากไก่ฟ้าสีเทา 1 ตัวที่ยังไม่ได้ชำแหละ กับถุงพลาสติกใส่เนื้อสัตว์หลายถุง , หม้อใส่อาหารบนเตาแก๊สปิกนิก และเมื่อตรวจค้นตัวจำเลยที่ 4 ก็ยังพบกระสุนปืนลูกซองอีกจำนวนหนึ่ง
ขณะที่หลังแคมป์ของนายเปรมชัย จำเลยที่ 1 พบกองไฟซึ่งดับแล้ว , ตะแกรงเหล็กมีคราบเนื้อสัตว์ซึ่งใช้ย่างติดอยู่ , อุปกรณ์ตกและจับปลา , มีดปังตอ 1 เล่ม , มีดอีโต้ 1 เล่ม , มีดทำครัว 3 เล่ม , ถุงเกลือทั้งที่เปิดใช้แล้วและยังไม่ได้เปิด จากนั้นนายวิเชียรให้จำเลยทั้งสี่เก็บสิ่งของ-เครื่องใช้ส่วนตัวขึ้นรถกระบะของจำเลยที่ 1 ส่วนอาวุธปืน , อาวุธมีด , เครื่องมือล่าสัตว์ นำขึ้นรถของเจ้าหน้าที่ไป และมีการแบ่งกำลังเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งเฝ้าที่เกิดเหตุไว้ ส่วนจำเลยทั้งสี่ได้ขับรถตามคณะของนายวิเชียรกลับไปที่สำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ กระทั่งวันที่ 5 ก.พ.61 เวลา 07.00 น. เจ้าหน้าที่ประมาณ 20 คน กลับไปที่เกิดเหตุ พบหนังเสือดำ ทาเกลืออยู่ในถุงสีดำแบบใส่ขยะ ซุกไว้บริเวณกอไผ่ และในถุงยังพบกะโหลกเสือดำ โดยบริเวณหัวเสือดำไม่มีร่องรอยการฉีกขาด กับหนังเสือดำมีอุ้งเท้าติดอยู่ และหนังส่วนหางของเสือดำก็ยังมีอยู่แต่กระดูกของหางถูกเลาะออกไปหมดแล้ว โดยยังพบถุงพลาสติกหูหิ้วที่มีเนื้อสัตว์อยู่ด้วย , มีดพับ , น้ำมันชโลมปืน , เขียงพลาสติก และสิ่งของอื่นๆอีก ต่อมาวันที่ 14 ก.พ.61 เจ้าหน้าที่ชุดพญาเสือ ได้เข้าไปยังจุดเกิดเหตุอีกครั้งและได้งมพบไส้สัตว์ยาว 1 ฟุตใกล้กับด้านหลังที่ตั้งแคมป์ ,เศษกระดูกสัตว์ท่อนขา 2 ท่อนไม่มีชิ้นเนื้อติดอยู่ ที่บริเวณริมห้วย
“ศาล” เห็นว่าพยานโจทก์ดังกล่าว เป็นเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1-4 มาก่อน ไม่มีเหตุให้ต้องระแวงสงสัยว่าจะเบิกความกลั่นแกล้ง ปรักปรำ บิดเบือนข้อเท็จจริง อีกทั้งยังเบิกความเป็นขั้นตอน สมเหตุสมผลไม่มีข้อพิรุธ จึงเชื่อว่าพยานโจทก์ทั้งสาม เบิกความตามความเป็นจริงที่พบ และเมื่อเห็นนายธานี (นายพราน) จำเลยที่ 4 ใช้อาวุธปืนยาว เล็งไปที่ยอดไม้ซึ่งมีกระรอกวิ่งอยู่โดยขณะนั้นยังเป็นเวลากลางวัน ซึ่งจำเลยที่ 4 ก็ไม่ได้อ้างตัวเองเบิกความหักล้างข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 4 พยายามล่ากระรอกที่เป็นสัตว์ป่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามฟ้อง
และเมื่อค้นตัว นายธานี (นายพราน) จำเลยที่ 4 แล้วพบกระสุนปืนลูกซอง ซึ่งสภาพของกระสุนปืนมีลักษณะคล้ายกับปลอกกระสุนปืนของกลาง ที่พบบริเวณใกล้กับจุดพบซากเสือดำ และในกระเป๋ากางเกงยังพบกระสุนปืนขนาด .22 ที่อยู่ในกล่องอีก 64 นัด ซึ่งใช้กับอาวุธปืนยาวที่พบที่ตัวจำเลยที่ 4 ได้ จึงส่อแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 4 มีพฤติการณ์ใช้อาวุธปืนของกลางในการล่าสัตว์ เมื่อเสือดำถูกอาวุธปืนยิงตามภาพถ่ายจำลองตำแหน่งรูกระสุนปืนถึงแก่ความตาย โดยพบรอยฉีกขาดของหนัง มีรอยกระสุนปืนเข้าทั้งหมด 8 รอย เป็นรอยทะลุ 7 รอย และรอยถาก 1 รอย โดยพบลูกกระสุนปราย 3 ลูก ขนาด SSG ฝังอยู่ที่หนัง เป็นขนาดเดียวกันกับลูกกระสุนปืนลูกซอง ขนาด 20 ของกลาง และเมื่อนำปลอกกระสุนปืนลูกซองขนาด 20 ของกลางที่พบใกล้กับจุดพบซากเสือดำกับปลอกกระสุนปืนที่ใช้ยิง เปรียบเทียบจากอาวุธปืนยาวลูกซองแฝด ขนาด 20 มีตำหนิรอยเข็มแทงชนวน และรอยลายเส้นที่จานท้ายปลอกกระสุนปืนตรงกันและเข้ารอยกันได้ ตามรายการตรวจพิสูจน์ จึงเชื่อว่าปลอกกระสุนปืนลูกซองของกลาง ยิงมาจากอาวุธปืนยาวลูกซองแฝดของกลาง ประกอบกับพบกระสุนปืนลูกซอง ขนาด 20 จำนวน 2 นัดในกระเป๋ากางเกงของจำเลยที่ 4 ซึ่งสภาพของกระสุนปืนมีลักษณะคล้ายกับปลอกกระสุนปืนขนาด 20 ของกลางที่พบใกล้กับจุดพบซากเสือดำ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 4 ตามที่โจทก์นำสืบมาฟังได้มั่นคงว่า จำเลยที่ 4 เป็นผู้ใช้อาวุธปืนยาวลูกซองแฝดของกลางยิงเสือดำ จำเลยที่ 4 จึงมีความผิดฐานล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง (เสือดำ)
3.ส่วนนายเปรมชัย จำเลยที่ 1 และนายยงค์ (คนขับรถ) จำเลยที่ 2 เป็นตัวการ ที่ได้ร่วมกระทำความผิดฐานล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง (เสือดำ) ด้วยหรือไม่ “ศาล” เห็นว่า ตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่า จำเลยที่ 1 -2 ไม่ได้อยู่ในขณะที่นายธานี (นายพราน) จำเลยที่ 4 จะยิงกระรอก ซึ่งแสดงให้เห็นพฤติกรรม การออกล่าสัตว์ของจำเลยที่ 4 ว่ามักจะออกล่าสัตว์ตามลำพัง ประกอบกับโจทก์ไม่มีพยานพฤติเหตุแวดล้อมให้เห็นว่า จำเลยที่ 1-2 อยู่กับจำเลยที่ 4 ในขณะยิงเสือดำ หรืออยู่กับจำเลยที่ 4 ในลักษณะพร้อมที่จะช่วยเหลือในการล่าเสือดำที่จะเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ จึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1-2 เข้าร่วมในระหว่างที่มีการกระทำความผิด เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1-2 ได้กระทำการอันใดให้เห็นว่ามีลักษณะเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดด้วย ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าเป็นตัวการกระทำความผิดล่าเสือดำ
แต่การที่ นายเปรมชัย จำเลยที่ 1 ให้นายธานี (นายพราน) จำเลยที่ 4 ใช้อาวุธปืนยาวลูกซองแฝดของกลางที่เป็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นอาวุธปืนที่มีความสำคัญของนักล่าสัตว์เพื่อครอบคลุมการล่าสัตว์ทุกประเภทตามหนังสือข้อมูลเกี่ยวกับกระสุนปืน โดยจำเลยที่ 1 ก็เป็นนักสะสมอาวุธปืนย่อมรู้ดี ดังนั้นจำเลยที่ 1 ย่อมรู้ว่าจำเลยที่ 4 จะนำไปใช้ล่าสัตว์ จึงถือได้ว่าเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด อันเป็นผู้สนับสนุน แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษฐานเป็นตัวการร่วม แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาเป็นเพียงผู้สนับสนุนฯ ซึ่งแตกต่างจากข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องแต่ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ อีกทั้งจำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธจึงไม่ได้เป็นการหลงต่อสู้ ดังนั้น “ศาล” มีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดซึ่งมีโทษเบากว่าได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง นายเปรมชัย จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง
และเมื่อเสือดำตายแล้วตามปกติวิสัยของคนล่าสัตว์ จำเลยที่ 4 จะต้องจัดการซากเสือดำ เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่พบและเป็นการปกปิดการกระทำความผิดของตนเอง ซึ่งผลการตรวจพิสูจน์ของกลางที่มีดของกลางแบบต่างๆก็พบดีเอ็นเอเสือดำจึงเชื่อว่าจำเลยที่ 4 ใช้มีดของกลางเล่มใดเล่มหนึ่งชำแหละซากเสือดำและทิ้งเครื่องในของเสือดำไว้ตามแผนผังแสดงพื้นที่เกิดเหตุ และงยังพบถุงพลาสติกหูหิ้ว 2 ใบที่ภายในมีขาสัตว์ตั้งแต่ข้อขาขึ้นมาจนถึงสะโพก 3 ขา กับพบซี่โครงมีเนื้อติดอยู่ 2 ซีก , เนื้อสันหลังติดกระดูกและเนื้อสัตว์ติดกระดูก อยู่คนละฝั่งถนนกับที่ตั้งแคมป์ ประมาณ 15 เมตร และพบคราบไขมันสัตว์ , ไส้สัตว์ขนาดยาว 1 ฟุตใกล้กับด้านหลังที่ตั้งแคมป์ พบเศษกระดูสัตว์ในส่วนท่อนขา 2 ท่อนบริเวณริมห้วยซึ่งผลการตรวจพิสูจน์พบว่าเป็นของเสือดำ ประกอบกับเมื่อตรวจดีเอ็นเอที่มีดอีโต้ , มีดทำครัวและเขียงพลาสติกก็พบดีเอ็นเอเสือดำ จึงเชื่อว่าหลังจากจำเลยที่ 4 ชำแหละซากเสือดำ เอาเครื่องในออกแล้ว ได้นำซากส่วนที่เหลือกลับไปชำแหละต่อที่แคมป์ ซึ่งเกี่ยวพันกับเหตุการณ์ที่จำเลยที่ 1 เบิกความถึงเช้าวันที่ 4 ก.พ.ว่าจำเลยที่ 1 ขับรถออกไปคนเดียว เข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ จนถึงด่านเซซาโว่ ซึ่งจำเลยที่ 1 สามารถเบิกความถึงสภาพทางและสภาพแวดล้อมได้ โดยโจทก์ไม่ได้ถามพยานโจทก์ที่เป็นเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าให้เห็นถึงสภาพทางไปด่านเซซาโว่รวมทั้งไม่ได้ถามค้านจำเลยที่ 1 เพื่อจะแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 เบิกความไม่ตรงต่อความจริงของสภาพแวดล้อมให้พบจนเป็นข้อพิรุธหรือไม่ ดังนั้นจึงเชื่อว่า ขณะที่จำเลยที่ 4 นำซากเสือดำกลับมาที่แคมป์ จำเลยที่ 1 ไม่ได้อยู่ที่แคมป์
4.ส่วนนายยงค์ (คนขับรถของนายเปรมชัย) จำเลยที่ 2 และนางนที (แม่ครัว) จำเลยที่ 3 ก็เบิกความว่าไม่ได้ออกจากแคมป์ไปไหน ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 4 นำซากเสือดำกลับมาที่แคมป์ จำเลยที่ 2-3 ต้องรู้เห็นด้วย เนื่องจากชิ้นเนื้อปรุงสุกที่ตรวจพิสูจน์แล้วพบว่าเป็นของเสือดำ เจือสมกับคำเบิกความของจำเลยที่ 3 ที่ว่า ได้ทำซุปรับประทานด้วยกัน จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 2 -4 ใช้มีดที่พบดีเอ็นเอเสือดำ ช่วยกันชำแหละ เนื้อเสือดำไปปรุงเป็นอาหารรับประทาน จากนั้นนำซากเสือดำส่วนที่ไม่ได้กิน ใส่ถุงดำไปซ่อนไว้ก่อนจำเลยที่ 1 จะกลับมา การกระทำของจำเลยที่ 2-4 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครอง (เสือดำ) ไว้ในครองครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
5.เมื่อฟังว่า นายธานี (นายพราน) จำเลยที่ 4 เป็นคนล่าเสือดำซึ่งทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ และนำซากเสือดำกลับมาที่แคมป์เพียงลำพังโดยซากสัตว์นั้นก็เป็นของป่า ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 จำเลยที่ 4 จึงมีความผิดฐานเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวน และฐานกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติด้วย
6.ส่วนซากไก่ฟ้าหลังเทา (น้ำหนัก 0.6 กก.) ที่อยู่ในถังน้ำแข็ง พบว่าไม่ได้อยู่ในลักษณะซุกซ่อนโดยถังน้ำแข็งนั้นไม่มีการล็อกหรือตั้งไว้ในส่วนเฉพาะของผู้ใด จำเลยที่1-4 สามารถเปิดฝาถังได้และสามารถเห็นซากไก่ฟ้าหลังเทาได้ทันที จึงถือได้ว่าซากไก่ฟ้านั้นอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1-4 แม้นายยงค์ (คนขับรถของนายเปรมชัย) จำเลยที่ 2 บอกว่าซื้อไก่ฟ้ามาจากร้านอาหารป่า ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ไปตรวจที่ร้านดังกล่าวไปพบสิ่งผิดกฎหมาย แต่กรณีก็ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1-4 ร่วมกันรับซากไก่ฟ้าที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่ไม่สามารถหาซื้อได้โดยทั่วไปนั้น มาจากผู้อื่น โดยซากไก่ฟ้ามีลูกกระสุนปืนฝังอยู่และมีรอยกระสุนเข้า 12 รอยจึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1-4 รู้อยู่แล้วว่าซากไก่ฟ้าได้มาโดยการกระทำความผิดด้วยการล่า ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1-4 ร่วมกันครอบครองซากสัตว์ป่าคุ้มครอง (ไก่ฟ้าหลังเทา) และร่วมกันรับไว้ด้วยประการใดๆ ซึ่งซากของสัตว์ป่าคุ้มครองอันได้มาจากการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535
7.ส่วนจำเลยที่ 1-4 ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับกรมอุทยานแห่งชาติฯ หรือไม่ เพียงใด ศาลเห็นว่าแม้ค่าเสียหายของเสือดำ อัยการโจทก์จะมีคำขอท้ายฟ้องมาแล้ว จำนวน 3,012,000 บาทก็ตาม แต่เป็นการยื่นโดยใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ส่วนที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ผู้ร้องยื่นเรียกค่าเสียหาย 12,750,000 บาทนั้นใช้อำนาจตามพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 จึงเป็นการใช้อำนาจของกฎหมายคนละฉบับดังนั้น คำร้องของกรมอุทยานแห่งชาติฯ จึงไม่ซ้อนกับคำฟ้องของอัยการโจทก์ ตามที่จำเลยอ้างต่อสู้
อย่างไรก็ตามในการคิดคำนวณค่าเสียหายนั้น “ศาล” เห็นว่าแม้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ผู้ร้อง ระบุว่าคำนวณจากโครงการเพาะพันธุ์และอนุรักษ์พันธุกรรมเสือโคร่งเพื่อคืนถิ่นกำเนิดในธรรมชาติและข้อมูลการเลี้ยงเสือโคร่ง 5 ตัวที่มีโอกาสรอด 1 ตัวคิดเป็นร้อยละ 20 กับราคาที่สวนสัตว์ซื้อเสือดำมาในปี พ.ศ.2549 นั้น “ศาล” เห็นว่า เสือโคร่งถือว่าเป็นสัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่ ส่วนเสือดำเป็นสัตว์ผู้ล่าขนาดเล็ก ขณะที่โครงการเพาะพันธุ์และอนุรักษ์พันธุกรรมเสือโคร่งฯ นั้นยังไม่เคยมีการอนุมัติให้ดำเนินการจึงไม่สามารถมีข้อมูลยืนยันได้ว่าจะมีผลลัพธ์อย่างไร ส่วนการรอดตายของเสือโคร่งก็เป็นเพียงการคาดคะเนไม่ใช่ผลที่แน่นอนตายตัว ซึ่งในความเป็นจริงความเปลี่ยนแปลงทางทรัพยากรธรรมชาติส่วนต่างๆ ย่อมมีปัจจัยหลายอย่างที่เป็นตัวแปร อีกทั้งทางนำสืบของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ผู้ร้อง ก็ยังไม่ได้ความว่าการกระทำของนายเปรมชัย จำเลยที่ 1 และนายธานี (นายพราน) จำเลยที่ 4 ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด ดังนั้นที่ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ผู้ร้อง เรียกค่าเสียหายของเสือดำ จำนวน 12,750,000 บาท “ศาล” เห็นว่าสูงเกินไป จึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายของเสือดำให้เป็นเงิน 2 ล้านบาท โดยให้จำเลยที่ 1 และ 4 ร่วมกันรับผิดค่าเสียหายดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 4 ก.พ.61 ซึ่งเป็นวันที่เจ้าหน้าที่พบการกระทำผิด
ส่วนนายยงค์ (คนขับรถของนายเปรมชัย) จำเลยที่ 2 กับ นางนที (แม่ครัว) จำเลยที่ 3 ศาลเห็นว่า ไม่ได้เป็นผู้ร่วมล่าเสือดำ จึงฟังไม่ได้ว่าร่วมทำให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในส่วนนี้
ทั้งนี้ สำหรับอาวุธปืนยาวลูกกรดพร้อมกล้องเล็ง , อาวุธปืนไรเฟิลพร้อมกล้องเล็ง และซองบรรจุกระสุนปืน , อาวุธปืนยาวลูกซองแฝดขนาด 20 กับปลอกกระสุนลูกซองขนาด 20 , ลูกกระสุนปราย กระสุนปืนลูกซอง ซึ่งเป็นของกลางที่ใช้ในการกระทำความผิดฐานล่าสัตว์และพาไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต , นกหวีดสำหรับเป่าล่อสัตว์และไฟฉายสปอร์ตไลท์ , มีดเหน็บ มีดพับ มีดอีโต้ มีทำครัวของกลาง , ซากเสือดำและซากไก่ฟ้าหลังเทา ของกลาง ซึ่งเป็นซากสัตว์ป่าคุ้มครอง ศาลมีคำสั่งให้ริบทั้งหมด
ส่วนที่อัยการโจทก์ ขอให้นับโทษ “นายเปรมชัย” จำเลยที่ 1 ต่อจากโทษคดีครอบครองงาช้างป่าแอฟริกา , คดีครอบครองปืนไรเฟิล , คดีเสนอสินบนให้เจ้าพนักงาน และขอนับโทษ “นายยงค์” คนขับรถ จำเลยที่ 2 ต่อจากคดีเสนอสินบนให้เจ้าพนักงานนั้น เนื่องจากคดีดังกล่าวที่ขอให้นับโทษ ศาลยังไม่มีคำพิพากษาจึงไม่อาจนับโทษต่อได้
โดยระหว่างรอการยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดี “นายเปรมชัย” จำเลยที่ 1 , “นายยงค์” จำเลยที่ 2 , “นายธานี หรือพรานแกละ” จำเลยที่ 4 ที่ศาลพิพากษาจำคุกโดยไม่รอลงอาญา ได้ยื่นประกันตัวไปด้วยเงินสด ซึ่ง “ศาลจังหวัดทองผาภูมิ” อนุญาตให้ นายเปรมชัย จำเลยที่ 1 และนายยงค์ ที่ 2 ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยตีราคาประกันคนละ 400,000 บาท (เท่ากับหลักทรัพย์ในชั้นพิจารณา) ซึ่งศาลพิจารณาคำร้องประกอบพฤติการณ์แล้วเห็นว่า ระหว่างการพิจารณาคดี จำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และหลักประกันที่เรียกมาในศาลชั้นต้นพอสมควรแล้ว
ส่วน นายธานีหรือพรานแกละ จำเลยที่ 4 เนื่องจากมีข้อหาที่มีอัตราโทษหนักกว่า ก็ให้ปล่อยชั่วคราวไปโดยตีราคาประกัน 500,000 บาท ซึ่งศาลยังกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยที่ 1,2,4 เดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลด้วย