โพลเผยปชช.ให้ 'ความบริสุทธิ์ยุติธรรมปานกลาง' ในการเลือกตั้ง 2562
นิด้าโพลเผยผลสำรวจ ปชช.38.16 มีความบริสุทธิ์ยุติธรรมปานกลาง ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา 43.15% ค่อนข้างพึงพอใจ ต่อคะแนนเสียงของส.ส.ที่เลือก
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง 2562” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 25 – 26 มีนาคม 2562 จากผู้ที่ไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ที่ผ่านมา กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,182 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง 2562 ที่ผ่านมา การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบ แบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงการไปลงคะแนนเสียงของประชาชนในการเลือกตั้งที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 91.96 ระบุว่า ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ขณะที่ร้อยละ 8.04 ระบุว่า ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในวันที่ 17 มีนาคม 2562
ส่วนการไปเฝ้าดูการนับคะแนนเสียงเลือกตั้งที่คูหาของประชาชน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 82.83 ระบุว่า ไม่ได้ไปเฝ้าดู การนับคะแนนเสียงเลือกตั้งที่คูหา รองลงมา ร้อยละ 17.17 ระบุว่า ได้ไปเฝ้าดูการนับคะแนนเสียงเลือกตั้งที่คูหา
ด้านความคิดเห็นต่อความบริสุทธิ์ยุติธรรมในการจัดการเลือกตั้งที่ผ่านมา พบว่า ประชาชน ร้อยละ 7.02 ระบุว่า มีความบริสุทธิ์ยุติธรรมมากที่สุด ร้อยละ 18.95 ระบุว่า มีความบริสุทธิ์ยุติธรรมมาก ร้อยละ 38.16 ระบุว่า มีความบริสุทธิ์ยุติธรรมปานกลาง ร้อยละ 14.81 ระบุว่า มีความบริสุทธิ์ยุติธรรมน้อย ร้อยละ 18.44 ระบุว่า มีความบริสุทธิ์ยุติธรรมน้อยที่สุด ร้อยละ 0.50 ระบุว่า ไม่ทราบ ร้อยละ 0.34 ระบุว่า ไม่แน่ใจ และร้อยละ 1.78 ระบุว่า ไม่แสดงความคิดเห็น
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความพึงพอใจของประชาชนต่อคะแนนเสียงที่ได้ของผู้ลงสมัคร ส.ส. หรือ พรรคการเมืองที่ตนเลือก พบว่า ประชาชน ร้อยละ 25.72 ระบุว่า พึงพอใจมาก ร้อยละ 43.15 ระบุว่า ค่อนข้างพึงพอใจ ร้อยละ 20.47 ระบุว่า ยังไม่ค่อยพึงพอใจ ร้อยละ 10.07 ระบุว่า ไม่พึงพอใจเลย และร้อยละ 0.59 ระบุว่า ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.72 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.72 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.19 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.33 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.04 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 52.96 เป็นเพศชาย ร้อยละ 46.96 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 0.08 เป็นเพศทางเลือก ตัวอย่างร้อยละ 5.84 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 17.34 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 21.57 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 34.10 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 20.81 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 0.34 ไม่ระบุอายุ
ตัวอย่างร้อยละ 93.40 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.64 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 1.52 นับถือศาสนาคริสต์/ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 1.44 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 20.56 ระบุว่าสถานภาพโสด ร้อยละ 74.87 สมรสแล้ว ร้อยละ 3.30 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 1.27 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 33.50 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 26.14 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.96 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 26.14 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 4.74 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 1.52 ไม่ระบุการศึกษา
ตัวอย่างร้อยละ 11.51 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 12.86 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 21.23 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 17.77 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 16.66 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 15.99 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.12 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.25 เป็นพนักงานองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 1.61 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 13.28 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 27.24 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 25.89 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 11.00 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 6.85 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 7.45 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 8.29 ไม่ระบุรายได้