ราชกิจจาฯ ประกาศใช้ 'พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ (ฉบับที่ 6) ยึดตลาดหุ้นเบ็ดเสร็จ
ราชกิจจาฯ ประกาศใช้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2562 โอนเงินเข้ากองทุนส่งเสริมตลาดทุน 5,700 ล้านบาท ภายใน 90 วัน กำหนดขั้นตอนตั้งบอร์ดกำกับตลาดทุน - ตลท. - กองทุนส่งเสริมพัฒนาตลาดทุนเพียบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2562 เมื่อวันที่ 15 เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ทั้งนี้ เพื่อให้การกำกับดูแลตลาดทุนและการดำเนินธุรกรรมเกี่ยวข้องให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และคุ้มครองประโยชน์ของผู้ลงทุน รวมทั้งเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดทุนและการพัฒนาของนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงิน ตลอดจนเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันและการเติบโตของตลาดทุนไทย
ทั้งนี้ สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ได้เพิ่มเติมมาตรา 4/1 ให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีอำนาจประกาศกำหนดให้การประกอบกิจการในลักษณะใดลักษณะหนึ่งไม่เป็นธุรกิจหลักทรัพย์ตาม พ.ร.บ.นี้
ขณะที่ แก้ไขการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับตลาดทุน โดยให้ประกอบด้วย เลขาธิการเป็นประธานกรรมการ, กรรมการ ประกอบด้วย รองเลขาธิการ เลขาธิการ ก.ล.ต. ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และกรรมการผู้ทรงวุฒิ ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง โดยผ่านการคัดเลือกอีกไม่เกิน 4 คน ทั้งนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิอย่างน้อย 2 คน ต้องมีประสบการณ์ในการบริหารกิจการบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือ บริษัทหลักทรัพย์
สำหรับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิกำหนดให้มีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ในวันที่ได้รับแต่งตั้ง และเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญด้านตลาดทุน เศรษฐศาสตร์ หรือ การเงินการธนาคาร
แก้ไขเพิ่มเติมให้ สำนักงาน ก.ล.ต. ด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ก.ล.ต. จัดทำแผนการดำเนินงานเสนอรัฐมนตรี เพื่อทราบเป็นประจำทุกปี และเปิดเผยไว้ในลักษณะที่ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้ เป็นแผน 3 ปี เพื่อส่งเสริมให้การกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนเป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองผู้ลงทุน เสริมสร้างความเป็นธรรม ความมีประสิทธิภาพ ความโปร่งใสของตลาดทุน และลดความเสี่ยงของระบบการเงิน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
พร้อมทั้งกำหนดเกี่ยวกับการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ก.ล.ต. หรือ ในคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือก 7 คน จากผู้ทื่เคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เลขาธิการ ก.ล.ต. หรือ ผู้เคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ก.ล.ต. ไม่เกินตำแหน่งละ 1 คน โดยกรรมการคัดเลือกต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ สมาชิกวุฒิสภา และไม่เป็นผู้มีผลประโยชน์หรือส่วนได้เสียอย่างมีนัยสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่
การคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ก.ล.ต. และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ให้บุคคลดังต่อไปนี้ ร่วมกันเสนอรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 2 เท่าของจำนวนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่จะแต่งตั้ง ต่อคณะกรรมการคัดเลือก โดยให้ประธานกรรมการ ก.ล.ต. และกรรมการ ก.ล.ต. ที่มิใช่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมกันเสนอรายชื่อ จากนั้นให้เสนอชื่อต่อรัฐมนตรีเพื่อแต่งตั้ง
กฎหมายฉบับนี้ยังแก้ไขให้การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์เหมาะสมกับรูปแบบการประกอบธุรกิจและได้สัดส่วนกับความจำเป็นในการคุ้มครองผู้ลงทุน โดยคณะกรรมการ ก.ล.ต. อาจประกาศกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตที่ประกอบธุรกิจในลักษณะตามที่กำหนดได้รับยกเว้นการปฏิบัติ หรือ ปฏิบัติแตกต่างไปจากบทบัญญัติเดิมทั้งหมด หรือ แต่เพียงบางส่วนก็ได้ ให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีอานาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ หรือ เงื่อนไขใด ๆ ให้ผู้รับใบอนุญาตตามวรรคหนึ่งถือปฏิบัติด้วยก็ได้ และคณะกรรมการ ก.ล.ต. อาจประกาศกำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์ต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วตามจำนวนที่กำหนดสำหรับการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์แต่ละประเภท หรือ แต่ละลักษณะก็ได้
และเพิ่มเติมกฎหมาย ห้ามมิให้บริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ซื้อหรือขายหลักทรัพย์จดทะเบียนนอกตลาดหลักทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็น การซื้อหรือขายในฐานะนายหน้า หรือ ตัวแทน หรือ ในนามของสมาชิกเอง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากตลาดหลักทรัพย์ หรือ เป็นการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการ ในการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามประเภทที่ได้รับใบอนุญาต
ในส่วนของการจัดการกองทุนรวม ให้บริษัทหลักทรัพย์จัดให้มีนโยบายการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในการจัดการกองทุนรวม รวมทั้งติดตามดูแลการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน และการกระทำที่อาจมีลักษณะไม่เป็นธรรมต่อผู้ถือหน่วยลงทุน หรือ อาจทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนเสียประโยชน์อันพึงได้รับ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการ ที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด
และต้องดำเนินการตามโครงการจัดการกองทุนรวมที่ได้รับอนุมัติจาก สำนักงาน ก.ล.ต. การแก้ไขเพิ่มเติมโครงการจัดการกองทุนรวม หรือ แก้ไขวิธีการจัดการให้กระทำ โดยการขอมติของผู้ถือหน่วยลงทุน ซึ่งจะดำเนินการโดยการจัดประชุมผู้ถือหน่วยลงทุน หรือ การส่งหนังสือขอมติของผู้ถือหน่วยลงทุนก็ได้ ให้บริษัทหลักทรัพย์แจ้งการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการจัดการกองทุนรวม หรือ วิธีการจัดการให้สำนักงานทราบ รวมทั้งแจ้งไปยังผู้ถือหน่วยลงทุนทุกคนและเผยแพร่ในลักษณะที่ผู้ลงทุนทั่วไปสามารถเข้าตรวจดูได้ ทั้งนี้ ภายใน 15 วันนับแต่วันที่มีมติให้แก้ไข
ส่วนตลาดหลักทรัพย์ต้องดำเนินการอย่างน้อย ในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) มีแหล่งเงินทุนและระบบงานที่เพียงพอต่อการประกอบกิจการ สามารถรองรับความเสี่ยงจากการประกอบกิจการตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งมีมาตรการรองรับในสถานการณ์ฉุกเฉิน
(2) มีระบบการซื้อขายหลักทรัพย์ ระบบบันทึกและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการเสนอราคาและการซื้อขายหลักทรัพย์ ระบบกำกับตรวจสอบการซื้อขายหลักทรัพย์ และระบบการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ ที่ส่งเสริมและรักษาความมั่นคง ความมีประสิทธิภาพ ตลอดจนความเป็นธรรมในการซื้อขายหลักทรัพย์
(3) มีหลักเกณฑ์การรับสมาชิกที่เป็นธรรม มีหลักเกณฑ์ที่สมาชิกต้องปฏิบัติในการซื้อขายหลักทรัพย์ รวมทั้งมีมาตรการกำกับดูแลและลงโทษสมาชิกที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว
(4) มีหลักเกณฑ์การรับจดทะเบียนหลักทรัพย์ การดำรงสถานะ และการเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียน ตลอดจนการสร้างหลักธรรมาภิบาลและการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์จดทะเบียน
(5) มีมาตรการในการป้องกันและจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์
(6) มีการจัดการข้อร้องเรียนหรือข้อพิพาทที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
ให้มีคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ ประกอบด้วย บุคคลที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. แต่งตั้งจำนวนไม่เกิน 6 คน และบุคคลที่บริษัทสมาชิกเลือกตั้งอีกจำนวนไม่เกิน 4 คน เป็นกรรมการ และให้ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์เป็นกรรมการตลาดหลักทรัพย์โดยตำแหน่ง โดยบุคคลที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. แต่งตั้งเป็นกรรมการตลาดหลักทรัพย์ต้องเป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์อันจำเป็นต่อการดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์ และต้องมาจากรายชื่อที่เสนอโดยนิติบุคคล หรือ คณะบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับตลาดทุน กรรมการตลาดหลักทรัพย์จะดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี แต่จะแต่งตั้งหรือเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระมิได้
นอกจากนี้ ประเด็นที่เป็นสาระสำคัญในการแก้ไขของ พ.ร.บ.นี้ ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งชื่อ กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน มีฐานะเป็นนิติบุคคล และมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน และกำหนดให้ตลาดหลักทรัพย์นำส่งเงินให้แก่กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนภายใน 150 วันนับแต่วันสิ้นปีปฏิทิน ในอัตราไม่น้อยกว่า 90% ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย ภาษี และเงินสำรอง ทั้งนี้ ให้ใช้งบการเงินรวมของตลาดหลักทรัพย์ในการคำนวณจำนวนเงินนำส่ง
วัตถุประสงค์ของกองทุนส่วนเสริมการพัฒนาตลาดทุน กำหนดให้ส่งเสริมให้มีการพัฒนาองค์กรและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน รวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุน, ส่งเสริมให้มีการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนหรือการกำกับดูแลตลาดทุน, เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดทุน การลงทุน และการพัฒนาตลาดทุน ให้แก่ผู้ลงทุน ประชาชน หน่วยงาน และองค์กรที่เกี่ยวข้อง และส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา วิจัย อบรม และพัฒนาองค์ความรู้หรืองานวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อตลาดทุน
กองทุนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้ 1.เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับโอนมาจากตลาดหลักทรัพย์ 2.เงินที่ได้รับตามที่กฎหมายกำหนดไว้ 3.เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคหรือมอบให้ และ 4.ดอกผลหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน
ทั้งนี้ ให้ตลาดหลักทรัพย์โอนเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดเป็นจำนวนหรือมูลค่า 5,700 ล้านบาท ให้แก่กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนภายใน 90 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาดหลักทรัพย์ หรือ กรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษ และตลาดหลักทรัพย์จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากกองทุน คณะกรรมการกองทุนอาจพิจารณาให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ตลาดหลักทรัพย์ โดยอาจกำหนดเงื่อนไขตามที่เห็นสมควรได้
คณะกรรมการกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน ประกอบด้วย ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์เป็นประธานกรรมการ รองเลขาธิการ ซึ่งเลขาธิการ ก.ล.ต. มอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เป็นกรรมการ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน ที่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แต่งตั้ง และเป็นกรรมการ ให้ผู้จัดการกองทุนเป็นเลขานุการ
ด้านนางทิพยสุดา ถาวรามร รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า “ปัจจุบันตลาดทุนและเทคโนโลยีทางการเงินมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้การประกอบธุรกิจหลักทรัพย์มีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ประกอบกับพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ยังมีส่วนที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ไม่เพียงพอที่จะคุ้มครองประโยชน์ของผู้ลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าว”ทั้งนี้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ฉบับใหม่นี้จะครอบคลุม 6 ด้าน ได้แก่ (1) เพิ่มความยืดหยุ่นในการการกำกับดูแลธุรกิจหลักทรัพย์ อาทิ ยกเลิกการกำหนดทุนจดทะเบียนของบริษัทหลักทรัพย์ไว้ในระดับกฎหมาย โดยคณะกรรมการ ก.ล.ต. สามารถใช้ดุลยพินิจในการกำหนดให้เหมาะสมกับลักษณะและความเสี่ยงของธุรกิจ และให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. สามารถกำหนดให้การประกอบกิจการในบางลักษณะไม่เป็นธุรกิจหลักทรัพย์ เช่น การให้บริการต่อคนในวงจำกัด หรือการทำ regulatory sandbox เป็นต้น ซึ่งเป็นการรองรับการประกอบธุรกิจและการให้บริการรูปแบบใหม่ ๆ ที่ใช้เทคโนโลยี
(2) ด้านการกำกับดูแลธุรกิจจัดการลงทุน จะมีการกำหนดหน้าที่ (fiduciary duty) ของผู้ประกอบธุรกิจหรือ บลจ. ไว้ในกฎหมายเพื่อส่งเสริมการดูแลรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน โดย บลจ. จะต้องมีนโยบายป้องกันและติดตามดูแลการกระทำที่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ไม่เป็นธรรม หรือทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนเสียประโยชน์ รวมทั้งปรับปรุงบทบัญญัติในการขอมติผู้ถือหน่วยลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในทางปฏิบัติมากยิ่งขึ้น โดยผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถร้องขอต่อศาลเพื่อเพิกถอนมติได้ หากพบว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์
(3) ปรับปรุงการกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยจะมีการกำหนดภารกิจ (regulatory objectives) และหลักเกณฑ์ในการดำเนินกิจการของตลาดหลักทรัพย์และกำหนดให้กระบวนการออกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงระเบียบข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. และมีการรับฟังความคิดเห็นจาก บล. สมาชิก ผู้ลงทุน หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ องค์ประกอบของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ จะมีการปรับปรุงให้ประกอบด้วยบุคคลซึ่ง บล. สมาชิกเลือกตั้งจำนวนไม่เกิน 4 คน และอีก 6 คนมาจากการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการ ก.ล.ต. ซึ่งจะคัดเลือกจากรายชื่อที่กลุ่มบุคคลหรือองค์กรที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในตลาดทุนเสนอมา เพื่อให้การดำเนินการคำนึงถึงประโยชน์ของ ตลาดทุนโดยรวม และมีผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง รวมถึงขยายวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการจาก 2 ปี เป็น 3 ปีเพื่อให้การดำเนินการมีความต่อเนื่อง
(4) เพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดทุน อาทิ ให้คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์มีอำนาจประกาศกำหนดให้บุคคลที่มิใช่ บล. สมาชิกสามารถทำการซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ เปิดโอกาสให้ บล. สมาชิกสามารถซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนนอกตลาดหลักทรัพย์ได้มากขึ้น และส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมในการประกอบธุรกิจศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ โดยศูนย์รับฝากหลักทรัพย์สามารถให้บริการรับฝากหลักทรัพย์ด้วยระบบไร้ใบหลักทรัพย์ (scripless) ได้สำหรับหลักทรัพย์ทุกประเภท และสามารถใช้ระบบไร้ใบหลักทรัพย์ได้ตลอดกระบวนการ
(5) จัดตั้งกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (กองทุน CMDF) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน และแยกบทบาทหน้าที่ในด้านการพัฒนาตลาดทุนออกจากการเป็นศูนย์กลางในการซื้อขายหลักทรัพย์ (exchange function) ของตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้ตลาดหลักทรัพย์สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
(6) เพิ่มประสิทธิภาพ ความชัดเจน และความโปร่งใสในการดำเนินงานของ ก.ล.ต. อาทิ กำหนดให้สำนักงาน ก.ล.ต. จัดทำแผนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และวัตถุประสงค์ในการกำกับดูแลตลาดทุนตามมาตรฐานสากล รวมทั้งให้สามารถเปิดเผยข้อมูลที่ได้จากการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ให้แก่หน่วยงานที่กำกับดูแลผู้สอบบัญชีหรือสินค้าหรือตัวแปรของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้
ที่มา : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/050/T_0069.PDF