ตามคาด! 'พรเพชร' นั่งประธานวุฒิสภา
ตามคาด! การประชุม ส.ว. "พรเพชร" นั่งประธานวุฒิสภา "สิงห์ศึก" นั่งรองปธ.คนที่หนึ่ง - "ศุภชัย" นั่งรองปธ.คนที่สอง
เมื่อวันที่ 24 พ.ค.62 ที่อาคารหอประชุมใหญ่ บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) สถานที่จัดประชุมวุฒิสภา ชั่วคราว มีการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่1 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง โดยมีวาระที่สำคัญคือ การเลือกประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง และเลือกรองประธานวุฒิสภาคนที่สอง
โดยก่อนเข้าวาระประชุมนายนัฑ ผาสุข เลขาธิการวุฒิสภา แจ้งต่อที่ประชุมส.ว. ว่าจะใช้ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ.2551 ในการประชุม และได้เชิญร.อ.ทินพันธุ์ นาคาตะ ส.ว.ที่มีความอาวุโสสูงสุด ให้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมชั่วคราว เพื่อดำเนินการประชุมตามวาระ คือ รับทราบพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา พ.ศ.2562 , รับทราบพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา ทั้ง 250 คน และให้สมาชิก กล่าวปฏิญาณตนในที่ประชุมก่อนเข้ารับและปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ ต่อด้วยการเลือกประธานวุฒิสภา
สำหรับการเลือกประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภา นั้นเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และใช้เวลาที่รวดเร็ว โดยนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ ส.ว. เป็นผู้เสนอชื่อบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งทั้ง 3 ตำแหน่ง โดยไม่มีผู้เสนอชื่อบุคคลใดแข่งขัน ได้แก่ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ส.ว. ดำรงตำแหน่ง ประธานวุฒิสภา, พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร ดำรงตำแหน่งรองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง และ นายศุภชัย สมเจริญ ดำรงตำแหน่ง รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง ทั้งนี้ตามข้อบังคับการประชุม เมื่อผู้ที่เสนอชื่อได้รับการรับรองจากสมาชิก ผ่านการยกมือ เกิน 10 เสียง ให้ถือว่าเป็นผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อและเมื่อไม่มีบุคคลใดถูกเสนอชื่อแข่งขันให้ถือว่าได้รับเลือก โดยไม่ต้องมีการลงคะแนน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนการเสนอชื่อตามวาระ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว. อภิปรายต่อที่ประชุม ว่า ตำแหน่งประธานวุฒิสภา ฐานะรองประธานรัฐสภา ต้องได้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถ และควบคุมการประชุมรัฐสภา รวมถึงได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการกลั่นกรองก่อนการเลือกประธานวุฒิสภา ไม่ใช่ให้กลุ่มบุคคลที่เคยปฏิบัติหน้าที่เกือบ 10 ปี ที่แสดงตนเป็นผู้นำทางความคิดเสนอตำแหน่งประธานและรองประธานวุฒิสภา โดยไม่ได้สอบถามสมาชิก ตนกังวลว่าจะเป็นจุดเสียต่อการปฏิบัติหน้าที่และเกิดความไม่ไว้วางใจ
อย่างไรก็ดีก่อนพล.อ.สมเจตน์จะอภิปรายแล้วเสร็จ ร.อ.ทินพันธ์ุ กล่าวตัดบทและงดการอภิปรายดังกล่าวพร้อมมั่นใจ ส.ว. มีวิจารณญาณในการเลือกประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภาด้วยตนเอง และเชื่อมั่นในเสียงข้างมาก ทั้งนี้พล.อ.สมเจตน์ยังได้ขออภิปรายอีกครั้งต่อประเด็นที่ถูกตัดบทโดยยืนยันว่าประเด็นที่เสนอความเห็นเป็นข้อกังวล แต่เมื่อที่ประชุมไม่เปิดโอกาสและรับฟัง จะขอนำความเห็นไปเผยแพร่ต่อสาธารณะต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับบุคคลที่ได้รับเลือก ได้แสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุม โดยนายพรเพชร กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุมตอนหนึ่ง โดยย้ำถึงประสบการณ์การทำงานทั้งก่อนการรับเลือกให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปี 2549 ต่อเนื่องถึงปี 2562 ว่า ได้เรียนรู้และเข้าใจถึงพฤติกรรมของสมาชิกแห่งสภาต่อการทำหน้าที่บัญญัติกฎหมาย สำหรับประสบการณ์การทำงานในฝ่ายนิติบัญญัติที่ผ่านมาพบการออกกฎหมายที่สำคัญต่อประเทศ สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของส.ว. ที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ ตนได้ศึกษาและเตรียมพร้อมทำให้วัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในบทเฉพาะกาล ที่กำหนด 5 ปีแรก ทำงานด้านการปฏิรูป ซึ่งตนพร้อมทำหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ลุล่วง รวมถึงความคาดหวังของประชาชนต่อการปฏิรูปประเทศ
“หัวใจหลักของส.ว. คือ การทำงานร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร มีคนบอกว่า ต้องทันเกม แต่ผมเช่ือว่าความตั้งใจและจริงใจต่อการทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นไม่ต้องกังวล ผมต้องทำให้ได้ ผมไม่ขอพูดถึงการโหวตนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ผมขอบคุณสมาชิกและกราบขอกำลังใจ รวมถึงการสนับสนุนจากส.ว.ทุกคน” นายพรเพชร กล่าว
สำหรับนายพรเพชร วิชิตชลชัย เกิดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2491 จบการศึกษา นิติศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 2 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบเนติบัณฑิตไทย และปริญญาโทด้านกฎหมาย จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา
ด้านประวัติการทำงาน
1 เมษายน 2532 ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลคดีเด็กและเยาวชน จังหวัดนครสวรรค์
1 เมษายน 2533 ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนครสวรรค์
1 ตุลาคม 2535 ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา
1 ตุลาคม 2538 ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 1
1 ธันวาคม 2540 ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง
ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์
1 ตุลาคม 2546 ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลอุทธรณ์ภาค 5
1 ตุลาคม 2547 ผู้พิพากษาศาลฎีกา
1 ตุลาคม 2549 ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 4
1 ตุลาคม 2550 ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ภาค 9 (ลาออก 21 พ.ย.2556)
11 ตุลาคม 2549 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สมัยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระ มหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข)
12 ธันวาคม 2549 กรรมาธิการการยุติธรรม การตำรวจและสิทธิมนุษยชน
8 ธันวาคม 2556 ผู้ตรวจการแผ่นดิน (แทนนายประวิช รัตนเพียร)
31 กรกฎาคม 2557 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ต่อมาเวลา 18:27 น.ที่ประชุม ส.ว.เสนอมีรองประธาน ส.ว. 2 คน นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ เสนอ พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร เป็นรองประธานคนที่ 1 โดยเสนอเพียงคนเดียวไม่มีคู่แข่ง
ทางด้าน พล.อ.สิงห์ศึก แสดงวิสัยทัศน์ ตอนหนึ่ง ว่า ส.ว. ต้องร่วมมือสร้างสรรค์งาน ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งตนคาดหวังว่าจะได้รับความร่วมมือ เป็นผู้ประสานงานที่ดี สำหรับกิจกรรมของสมาชิกที่จะทำประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศ เพื่อให้สภาฯ ได้รับความเชื่อม้่นจากประชาชนว่าพึ่งพาได้ รวมถึงคำนึงถึงมิตรภาพอันดี
เวลา 18:40 น. นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ เสนอนายศุภชัย สมเจริญ เป็นรองประธานวุฒิสภา คนที่ 2
นายศุภชัย แสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุมตอนหนึ่ง ว่า ตนจะจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และพิทักษ์สิทธิของสมาชิกวุฒิสภา พร้อมรับฟังความเห็นของสมาชิก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากที่ประชุมเลือกตำแหน่งทั้ง 3 แล้ว เลขาธิการวุฒิสภาจะนำรายชื่อทูลเกล้าฯ เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งต่อไป.