เกมที่ 'บิ๊กตู่' ต้องอดทน
แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะโนคอมเม้นต์ ต่อกรณีที่ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องของส.ส.พรรคฝ่ายค้าน 110 คนไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ
วินิจฉัยปมคุณสมบัติที่ส่อขัดต่อตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ด้วยเหตุที่ว่า “ตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” นั้นเข้าข่ายเป็น “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามของการดำรงตำแหน่ง ประมุขฝ่ายบริหาร ที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดไว้ หรือไม่?
แต่การแสดงออกซึ่งสีหน้า และแววตา สะท้อนให้เห็นเชิงประจักษ์ได้ว่า “ต้องอดทน” กับเกมการเมืองที่ฝ่ายการเมืองฝ่ายค้านจ้องเล่นแบบรายวันให้มากยิ่งขึ้น
และต้องอดทนให้มาก... เมื่อบทบาทของ “ผู้นำประเทศ” ที่ต้องรับผิดชอบต่อสภา ต้องเข้าวงที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งฝ่ายค้านวางยุทธศาสตร์และแผนที่ใช้ต่อสู้ทางการเมืองไว้พร้อม “รบ” ฝ่ายกระบวนการตรวจสอบตามบทบาทและหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ
กับประเด็นส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญนั้น “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ออกมาตอบแทน “นายกฯ” ในเชิงเดาใจว่า ไม่น่ามีปัญหา ต่อการพิจารณาตามหลักการ รวมไปถึงกรณีที่ ศาลรัฐธรรมนูญอาจมีคำวินิจฉัยให้ “ยุติปฏิบัติหน้าที่” ที่เทียบเคียงได้กับกรณีที่เกิดขึ้นกับ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่เพราะถูกสอบเรื่อง “ถือหุ้นในกิจการสื่อ” ใน บริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัด
ซึ่งหากแกะรอยตามที่ “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” เคยพิจารณากรณีที่เทียบได้กับคำร้องของ “100ส.ส.พรรคเพื่อไทย” ว่าด้วยคุณสมบัติของ “หัวหน้า คสช.” ตอนที่ถูกเสนอชื่อให้เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ ว่าด้วยการเป็น เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ซึ่งมีข้อสรุปว่า “หัวหน้าคสช.” ไม่ใช่ตำแหน่งที่จำกัดความได้ว่า “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” เพราะไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา แต่หากเป็นผู้ใช้อำนาจ ฐานะ “รัฎฐาธิปัตย์” ปกครองประเทศ
แต่ในประเด็นนี้คำร้องของ “ส.ส.พรรคเพื่อไทย” โต้แย้ง โดยยกคำวินิจฉัยของศาลฎีกา ที่พิจารณาในประเด็นที่ “บก.ลายจุด” สมบัติ บุญงามอนงค์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ยื่นค้านคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่เรียกให้ไปรายงานตัว ว่า “หัวหน้าคสช.” ไม่มีสิทธิออกคำสั่งนั้น แต่ศาลฎีกา บอกว่า “บก.ลายจุด” ต้องปฏิบัติตามเพราะ หัวหน้าคสช. ถือเป็นพนักงานของรัฐ
อย่างไรก็ตามในประเด็นการต่อสู้เรื่องนี้ ตามที่คนร้อง และผู้ถูกร้อง จะต่อสู้กัน สุดท้ายเมื่อเรื่องนำส่งไปสู่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” คำตอบที่จะออกมา คือรอฟังว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาให้เป็นข้อยุติอย่างไร