'เรืองไกร' ยื่นอัยการสูงสุด ส่งศาล รธน.วินิจฉัย ปม 'ประยุทธ์' ถวายสัตย์ไม่ครบ
"เรืองไกร" ยื่นอัยการสูงสุด ส่งศาล รธน.วินิจฉัย ปม "ประยุทธ์" ถวายสัตย์ไม่ครบ "โฆษกอัยการ" ระบุรับหนังสือแล้ว เบื้องต้นมีคณะทำงานอัยการเฉพาะพิจารณาเรื่องนี้
เมื่อวันที่ 7 ส.ค.62 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.แจ้งวัฒนะ "นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ" อดีตทีมกฎหมายพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เดินทาง มายื่นหนังสือถึง "นายเข็มชัย ชุติวงศ์" อัยการสูงสุด เพื่อขอให้พิจารณาในการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กระทำขัดรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้กล่าวถ้อยคำถวายสัตย์ปฏิญาณให้ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญฯ ปี 2560 มาตรา 161 และไม่ได้ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย ในวันที่มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาๆ ตามรัฐธรรมนูญฯ ปี 2560 มาตรา 162 โดยสำนักงานอัยการสูงสุด มี "นายธรัมพ์ ชาลีจันทร์" โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และ 'นายประยุทธ เพชรคุณ" เป็นผู้แทนอัยการสูงสุด รับหนังสือดังกล่าว
ขณะที่ "นายเรืองไกร" กล่าวว่า การกล่าวถ้อยคำถวายสัตย์ปฏิญาณ ของพล.อ. ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมานั้น ปฏิบัติไม่เหมือนกับครั้งก่อนๆ คือกล่าวคำปฏิญาณตกไปในท่อนสุดท้าย แถมยังกล่าวคำว่า "ตลอดไป" เติมเข้ามาอีก ซึ่งการอภิปรายในสภาก็กำลังจะมีการตั้งกระทู้สด ในเรื่องนี้บางคนที่ได้รับทราบ ก็ไปร้องที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน
"นายเรืองไกร" กล่าวอีกว่า จากที่ตนได้ดูข้อกฎหมายและจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา เห็นว่าเรื่องนี้จะต้องมาร้องที่อัยการสูงสุด เนื่องจากเห็นว่าการกระทำดังกล่าว ขัดมาตรา 5 และไม่เป็นไปตามมาตรา 3 วรรคสอง ก็เท่ากับว่าการกระทำดังกล่าวใช้บังคับไม่ได้ และประเด็นที่ 2 คือเมื่อจะเข้ารับหน้าที่จะต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามมาตรา 162 เนื่องจากนโยบายจะต้องสอดคล้องกับหน้าที่แห่งรัฐ พร้อมต้องแสดงที่มางบที่จะนำใช้จ่าย แต่ก็เกิดปัญหาว่าคำแถลงนโยบาย 37 หน้านั้น ไม่มีตัวเลขงบประมาณ ก็เท่ากับว่าการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อรัฐสภา น่าจะเป็นโมฆะเช่นเดียวกัน การไม่ปฏิบัติ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ อาจจะโดนดำเนินคดีอาญาได้ด้วย ซึ่งตนก็ได้ไปยื่นคำร้องที่ป.ป.ช.มาแล้ว และวันนี้ ตนก็ยื่นคำร้องขอให้อัยการสูงสุด พิจารณาส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวใช้บังคับไม่ได้ ตามมาตรา 89 และในวันนี้ ตนยังได้นำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีสนธิสัญญาไทย-กัมพูชา ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยการกระทำของนายนพดล ปัทมะ อดีตรมว.ต่างประเทศว่ามีการกระทำที่ไม่ชอบเพราะไม่ได้ขอความเห็นชอบจากรัฐสภา
เท่าที่ทราบการปฏิบัติหน้าที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ ในครั้งนี้ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าเกิดจากข้อผิดพลาดจริงๆ เราจึงต้องมาหาทางออกร่วมกันว่าหากมีการบริหารราชการแผ่นดินในการกระทำที่ไม่เป็นไปตามกฏหมายแล้ว ถัดจากนี้การประชุมการใช้จ่ายงบประมาณและพันธกรณีกับต่างประเทศ จะสมบูรณ์หรือไม่ ซึ่งตนเห็นควรเสนอว่า หากเกิดการกระทำที่ไม่ชอบแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ควรจะพิจารณาตัวเองด้วยการลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วเริ่มกระบวนการขึ้นมาใหม่ เลือกผู้ที่ควรเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้เลือกที่ประชุมรัฐสภาเข้ามารับตำแหน่งนายกฯ อีก ก็จะต้องนำ ครม.เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณให้ครบถ้วน และทำคำแถลงนโยบายใหม่ อย่างนี้จึงจะถือว่าเหมาะสมที่สุด ประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์ก็จะยุติ แต่ในส่วนกรณีที่มีการยื่นร้องส่วนต่างๆ ก็ดำเนินคู่ขนานไป
ทั้งนี้ "นายเรืองไกร" ยังกล่าวกรณีที่มีการ้องเรียนยังองค์กรตรวจสอบเรื่องนี้ว่า ทราบว่าก่อนหน้านี้ก็มีผู้ร้องกับผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 231 ซึ่งเป็นผู้ร้องคนเดียวกันกับที่เคยร้องกรณี นายกฯ เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่ ขณะที่เรื่องที่ตนยื่นนั้นมี 2 ประเด็น คือการกระทำขัดต่อมาตรา 161,162 และที่ขัดมาตรา 231 (1)
ด้าน "นายธรัมพ์ ชาลีจันทร์" โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 49 วรรคสอง เป็นช่องทางที่อัยการสูงสุดจะพิจารณาว่าสามารถส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ หากภายใน 15 วันอัยการสูงสุดยังไม่ได้ให้คำตอบ หรือดำเนินการใดๆ ผู้ร้องนั้นสามารถไปยื่นโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ อย่างไรก็ดี วันนี้ตนจะรับเรื่องของนายเรืองไกร เสน อัยการสูงสุดต่มขั้นตอนต่อไป ซึ่งการพิจารณาเบื้องต้นอัยการมีคณะทำงานเฉพาะตรวจสอบก่อน เนื่องจากมีผู้ร้องหลายคนเคยดำเนินการ และมีหลายคำร้องลักษณะคล้ายกัน รวมทั้งพรรคอนาคตใหม่ที่ก่อนหน้านี้ก็ได้มายื่นหนังสือไว้ โดยเมื่ออัยการสูงสุดพิจารณาแล้วก็จะแจ้งผลให้ผู้ร้องทราบ ซึ่งยืนยันว่าจะเร่งพิจารณาโดยเร็ว เนื่องจากมีเรื่องพิจารณาหลายเรื่อง