“ชวน” บอกประชุมไอป้า เรียบร้อย แต่มีท่าทีผิดหวัง “ตัวแทนอินโดฯ” หลังใช้ปม “โรฮิงญา” เป็นตัวประกันก่อนรับข้อตกลงอื่นๆ ด้าน “เกียรติ “ บอกพฤติกรรมไม่น่ารัก ชี้กรณีช่วยโรฮิงญา ไทยร่วมหนุนเงิน 4 ล้านเหรียญ
ที่โรงแรมแชงกรี-ลา บางรัก นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ฐานะประธานสมัชชารัฐสภาอาเซียน พร้อมด้วยนายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ร่วมพิธีปิดงานประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียน (ไอป้า) ครั้ง ที่ 40 และส่งมอบตำแหน่งประธานไอป้าและเจ้าภาพครั้งต่อไป ให้กับ นางเหวียน ทิ กิม เงิน ประธานรัฐสภาแห่งชาติสาธารณรัฐสังคมเวียดนาม
ทั้งนี้นายชวน กล่าวตอนหนึ่งในช่วงแถลงข่าวปิดประชุมไอป้าและได้ตอบคำถามกับสื่อมวลชนตอนหนึ่งว่า การประชุมดังกล่าวถือว่าเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีข้อตกลงที่เชื่อว่าจะกลายเป็นความร่วมมือที่ดีร่วมกัน คือการประสานงานระหว่างเลขาธิการไอป้า และ กลุ่มประชาคมอาเซียน (เออีซี) เพื่อให้การทำงานเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ร่วมกันทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างผลงานให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามในประเด็นที่ประชุมด้านการเมือง ไม่สามารถบรรจุการเจรจาและทำข้อตกลงร่วมกันได้ เนื่องจากตัวแทนของประเทศอินโดนีเซียไม่ยอมรับข้อตกลงบางประการ ทำให้ข้อตกลงที่มีกติการ่วมกันว่าต้องให้ประเทศสมาชิกเห็นร่วมกันเพื่อเป็นมติเอกฉันท์ ไม่สามารถบรรจุข้อตกลงครบทั้ง 8 ประเด็นได้ และทำได้เพียง 7 ประเด็นเท่านั้น
นายชวน กล่าวด้วยว่าสำหรับประเด็นที่ตนเสนอที่ให้สภาของแต่ละประเทศร่วมกันผลักดัน คือ การนำประเด็นที่เป็นปัญหาร่วมกัน เช่น การหลอกเด็กและผู้หญิงเพื่อขายบริการทางเพศ เข้าสู่การพิจารณาของสภาแต่ละประเทศเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา เพราะหากไม่กระตุ้นประเด็นดังกล่าว เรื่องนี้อาจกลาเป็นปัญหา
ทั้งนี้นายเกียรติ สิทธีอมร ประธานกรรมาธิการด้านการเมือง ไอป้า ชี้แจงเพิ่มเติมต่อประเด็นด้านการเมืองว่า การประชุมกลุ่มการเมืองไม่สามารถหารือร่วมกันได้ เนื่องจากตัวแทนของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีตำแหน่งเป็นรองประธานสภาอินโดนีเซีย ได้ยื่นคำแถลงการณ์ต่อประเด็นเรื่องของโรฮิงญาให้กับที่ประชุม พร้อมยื่นเงื่อนไขว่าหากที่ประชุมไม่รับแถลงการณ์จะไม่ยอมรับข้อตกลงที่เสนอมาทั้งหมด ทั้งนี้ตนพยายามพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน แต่ตัวแทนของประเทศอินโดนีเซียไม่ยอมและระบุว่าหากไม่รับข้อเสนอจะวอร์คเอาท์ออกจากที่ประชุม ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวขัดต่อกฎบัตรอาเซียน อย่างไรก็ตามกรณีที่เกิดขึ้นตัวแทนของประเทศเมียนมาร์พร้อมจะพูดคุยเพื่อแก้ปัญหา แต่เมื่อตัวแทนประเทศอินโดนีเซีย ไม่ยอมรับดังกล่าวทำให้ไม่สามารถร่วมเจรจากันได้ เฉพาะกรณีของการเมือง
“พฤติกรรมของตัวแทนประเทศอินโดนีเซียถือว่าไม่น่ารัก เพราะเอาเงื่อนไขของตัวเองเป็นที่ตั้ง และเอาเรื่องอื่นเป็นตัวประกัน ซึ่งไม่มีใครทำแบบนั้น ขณะที่ประเด็นซึ่งเตรียมเสนอต่อที่ประชุม อาทิ การต่อต้านก่อการร้ายข้ามชาติ, การต่อต้านการติดสินบนและการป้องกันการทุจริต ไม่สามารถพิจารณาและไม่เกิดเป็นประเด็นที่เป็นข้อตกลงร่วมกัน ทั้งนี้ผมพยายามอธิบายแล้วว่าประเด็นโรฮิงญาตามที่แถลงการณ์ของอินโดนีเซียนั้นเป็นที่ไม่ก้าวหน้า เพราะปัจจุบันการแก้ปัญหาโรงฮิงญานั้นก้าวหน้าไปไกลแล้ว โดยประเทศไทยส่งเงินช่วยเหลือต่อประเทศเมียนมาร์ เป็นเงินกว่า 4 ล้านเหรียญ” นายเกียรติ กล่าว
ขณะที่นายกิตติ วะสีนนท์ ประธานคณะกรรมาธิการว่าด้วยข้อแถลงการณ์ร่วมไอป้า กล่าวสรุปแถลงการณ์ร่วม ว่า คณะกรรมาธิการด้านต่างๆทั้ง 4 คณะ ได้มีข้อมติร่วมกันดังนี้ 1. คณะกรรมาธิการด้านสมาชิกรัฐสภาสตรีของสมัชชารัฐสภาอาเซียน มีความเห็นร่วมกันในการผลักดันเรื่องความเท่าเทียมกันและการลดช่องว่างในด้านความเหลื่อมล้ำทางเพศ 2.คณะกรรมาธิการด้านกิจการสมัชชารัฐสภาอาเซียน ได้พิจารณาลงลึกไปถึงโอกาสที่จะสนับสนุนให้ประเทศอาเซียนมีความก้าวหน้าในด้านประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และการเตรียมการรับมือในอนาคตที่เรียกว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 และช่วยเหลือเอกชนระดับเล็กและระดับย่อยเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงกับดิจิทัล 3.คณะกรรมาธิการด้านสังคม พิจารณาในเรื่องคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ความปลอดภัยบนท้องถนน เพื่อให้กฎระเบียบที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด รวมไปถึงแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็ก หรือสภาพภูมิอากาศที่อาเซียนเริ่มประสบปัญหาแล้ว เช่นเดียวกับ การเคลื่อนย้ายของแรงงานต่างชาติที่แต่ละประเทศเป็นผู้ทั้งผู้รับและส่งแรงงาน ที่สำคัญมีการตอบรับการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยยอมรับการพัฒนาแบบทางเลือกด้วยการน้อมนำแนวเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชา และ 4.คณะกรรมาธิการด้านกิจการสมัชชารัฐสภาอาเซียน มีการหารือกันถึงการปรับปรุงกลไกการทำงานของAIPAและASEN ร่วมกันเพื่อให้ต่างฝ่ายเกิดการทำงานแบบเกื้อกูลกัน โดยให้รัฐสภามีส่วนในการเสริมสร้างความเป็นประชาคมอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-เสนอ 'ชวน' ตั้งกก.สอบจริยธรรม 'สิระ'
-'ชวน' ชอบฉากหลังห้องจันทรา พอใจความพร้อม
-'ชวน' ยังไม่เคาะ ประชุมสภาฯ ซักฟอก 'บิ๊กตู่'
-'ชวน' มั่นใจรัฐบาลมาแจงอภิปราย ก่อนปิดสมัยประชุม