'สุริยะ' คลอด 7 มาตรการ เยียวยาโรงงานน้ำท่วม
"สุริยะ" คลอด 7 มาตรการ เยียวยาผู้ประกอบการประสบอุทกภัยทุกกลุ่ม ทุกมิติ เน้นทำทันที ซ่อม- สร้าง–ฟื้นฟู ผู้ประกอบการทุกพื้นที่หลังน้ำลด พร้อมส่งทีมเฉพาะกิจเข้าซ่อมแซมเครื่องจักรโรงงาน พร้อมช่วยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ลดดอกเบี้ย
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หลังจากที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากอิทธิพลพายุโซนร้อน "โพดุล" ตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน ได้ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินสไลด์ในหลายพื้นที่ โดยมีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบด้านภาคอุตสาหกรรมประมาณ 10 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดร้อยเอ็ด ขอนแก่น มุกดาหาร นครพนม ยโสธร อุบลราชธานี อำนาจเจริญ พิจิตรอุตรดิตถ์ และพิษณุโลก จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อเข้าช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กลุ่มวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยทันทีหลังน้ำลด
ทั้งนี้ เบื้องต้นได้รับรายงานว่า มีผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมรับผลกระทบจากอุทกภัย จำนวน 36 ราย เช่น โรงสีข้าว โรงงานไม้แปรรูป โรงงานผลิตน้ำดื่ม รวมทั้งมีลูกหนี้สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน เพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรม ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มหัตถกรรมจักรสานต่างๆ ที่อยู่ในเขตอุทกภัยมีผู้ประสบภัยประมาณ 387 ราย รวมผู้ประสบภัย 423 ประเมินมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นประมาณ 133 ล้านบาท
"โรงงานที่เป็นสถานประกอบการ รวมทั้งพื้นที่ขุมเหมืองแร่ ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยไม่มากนัก เนื่องจากพื้นที่ประสบภัยส่วนใหญ่ เป็นเขตพื้นที่ลุ่มต่ำ เป็นพื้นที่ทำการเกษตร และที่อยู่อาศัยของประชาชน ขณะที่โรงงานส่วนใหญ่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ดอน และมีการถมดินเสริมให้อยู่สูงกว่าระดับน้ำ ตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ของประเทศไทย ทำให้โรงงานต่างๆ มีมาตรการป้องกันน้ำท่วมอยู่แล้ว"
นายสุริยะ กล่าวว่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมพร้อมเข้าช่วยเหลือผู้ประกอบการทุกกลุ่มทันทีหลังสถานการณ์น้ำลด โดยกำหนดมาตรการช่วยเหลือและฟื้นฟูสถานประกอบการอุตสาหกรรมและวิสาหกิจชุมชน เพื่อเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน รวม 7 มาตรการ ครอบคลุมตั้งแต่การช่วยเหลือซ่อมแซม ปรับปรุง เครื่องจักร อุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงส่งผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำ เพื่อให้ผู้ประกอบการดำเนินการอย่างถูกวิธี และมาตรการในด้านแหล่งเงินทุนการช่วยเหลือ เพื่อให้ครบทุกมิติ ประกอบด้วย
1.มาตรการที่ 1 ช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) พักชำระหนี้ และเติมเงินทุนฟื้นฟูธุรกิจ เตรียมสินเชื่อไว้ 2 ประเภท คือ 1.สินเชื่อฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูกิจการ ดอกเบี้ยพิเศษ 0.415% และ2.สินเชื่อ Smart SME ดอกเบี้ยพิเศษ 0.55% ผู้ประสบภัยสามารถติดต่อได้ที่ ธพว.
นอกจากนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ยังมีสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน เพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรม เพื่อให้ผู้ประกอบการ และวิสาหกิจชุมชน ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ โดยคณะกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนฯ ได้อนุมัติวงเงินเบื้องต้นไว้ประมาณ 20 ล้านบาท ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยจาก 4% เหลือ 1 % ต่อปี เป็นเวลา 1 ปี โดยลูกค้าใหม่ที่อยู่ในพื้นที่อุทกภัย สามารถขอสินเชื่อได้รายละไม่เกิน 500,000 บาท ตามความจำเป็นของกิจการ ขณะที่ลูกหนี้รายเดิมสามารถขอสินเชื่อได้ไม่เกินวงเงินที่ได้รับอนุมัติตามสัญญาเดิม แต่ไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย มีระยะเวลาพักชำระหนี้หรือปลอดหนี้เป็นเวลา 4 เดือน
“ล่าสุดมีผู้ประกอบการที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ประมาณ 387 ราย มาขอสินเชื่อแล้ว 19.4 ล้านบาท จึงได้ให้แต่ละพื้นที่เร่งรวบรวมคำขอสินเชื่อเข้ามา เพื่อให้คณะกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนฯ ซึ่งมีอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นประธาน พิจารณาอนุมัติเพิ่มวงเงินช่วยเหลือ จากกรอบวงเงินสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนฯ ที่เหลือประมาณ 216 ล้านบาท”
มาตรการที่ 2 Big Cleaning เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ และผู้ประกอบการรายใหญ่ (Big Brother) รวมทั้งหน่วยงานเครือข่าย เพื่อทำความสะอาดสถานประกอบการ โรงงาน อาคาร บ้านเรือน ทางสาธารณะ และพื้นที่ชุมชน ให้พื้นที่กลับมาอยู่ในสภาพปกติ และสามารถกลับมาประกอบการได้โดยเร็ว
มาตรการที่ 3 ซ่อมแซม ปรับปรุง เร่งด่วน เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ และผู้ประกอบการรายใหญ่ ( Big Brother) รวมทั้งสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ให้ความช่วยเหลือในการซ่อมแซมอุปกรณ์ และเครื่องจักรเบื้องต้น เช่น การตรวจสอบระบบไฟฟ้า ระบบหล่อลื่น เพื่อให้อุปกรณ์และเครื่องจักรสามารถกลับมาใช้งานได้อย่างเร็วที่สุด รวมทั้งเตรียมความพร้อมเครื่องจักร อุปกรณ์ เช่น รถแบ็คโฮ รถแทรกเตอร์ รถบรรทุก ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน
มาตรการที่ 4 เป็นการฟื้นฟูวิสาหกิจแบบบูรณาการโดยจัดทีมนักวินิจฉัย และที่ปรึกษา เพื่อเข้าไปวางแผนการฟื้นฟูในสถานประกอบการ รวมทั้งประสานความร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ผ่านศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี หรือศูนย์ SME Support & Rescue Center เพื่อให้ความช่วยเหลือในด้านที่ผู้ประกอบการต้องการฟื้นฟูต่อไป
มาตรการที่ 5 กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปี และค่าธรรมเนียมจดทะเบียนเครื่องจักร ให้กับสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดย กรมโรงงานอุตสาหกรรม จะออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมยกเว้นค่าธรรมเนียมฯ ดังกล่าวต่อไป
มาตรการที่ 6 กรอ. และอุตสาหกรรมจังหวัด จะประสานร่วมกับบริษัทรถยนต์ชั้นนำ และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริการตรวจเช็คสภาพรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ พร้อมเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องให้กับผู้ประกอบการ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย
มาตรการที่ 7 เป็นมาตรการอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมจังหวัดในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย จะเข้าสำรวจ เยี่ยมเยือน ช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงงานเอสเอ็มอี ,วิสาหกิจชุมชน(โอทอป) เหมืองแร่ ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย
"มาตรการทั้งหมดนี้ ผมได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมพร้อมไว้ทั้งหมดแล้ว เมื่อสถานการณ์น้ำลด ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการทุกกลุ่ม และประชาชนในพื้นที่ ทุกอย่างจะต้องทำทันที เพื่อเร่งเยียวยาผู้ประกอบการที่ประสบภัยให้กลับมาดำเนินกิจการให้เร็วที่สุด และระหว่างนี้หากผู้ประกอบการร้องขอความช่วยเหลือก็ต้องเร่งเข้าไปช่วยเหลือด้วยเช่นกัน โดยผู้ประกอบการรายใดที่ได้รับผลกระทบสามารถแจ้งไปได้ที่อุตสาหกรรมจังหวัด หรือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรมในพื้นที่"