เพื่อไทย เดือด! 'นวัธ-ยุทธพงศ์' วางมวยกันเอง
2 ส.ส.เพื่อไทยวางมวยกลางห้องหัวหน้าพรรค "ยุทธพงศ์ " เรียกตำรวจรับตัวไปแจ้งความ ส.ส.ขอนแก่นพาลูกน้องทำร้ายร่างกาย
เมื่อวันที่ 10 ก.ย.62 ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงบ่ายวันนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 2 นายจากส.น.มักกะสัน ได้เดินทางเข้ามาที่ทำการพรรคเพื่อไทย ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ เพื่ออำนวยความปลอดภัยแก่ ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร หลังมีรายงานว่าได้มีเหตุทะเลาะวิวาทกันกลางห้องทำงานระดับผู้ใหญ่ของพรรคกับ ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย นวัธ เตาะเจริญสุข ซึ่งหากย้อนไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทั้งคู่มีปัญหา กระทบกระทั่งกันในการอภิปรายที่สภาผู้แทนราษฏร
จากนั้นระหว่างที่เจ้าหน้ากำลังพาตัวนายยุทธพงษ์ ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ ผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยนายยุทธพงศ์ บอกว่าขณะที่กำลังพูดคุยกับหัวหน้าพรรค สมพงษ์อมรวิวัฒน์ และรองหัวหน้าพรรคประเสริฐ จันทรรวงทอง นายเกรียง กัลป์ตินันท์ และ นายชูศักดิ์ ศิรินิล ขณะนั้นนายนวัธ ได้เดินเข้ามาพร้อมกับชายแปลกหน้า จำนวน2 คน ทำการล็อกตัว และทำร้ายร่างกายด้วยการตบเข้าที่ศรีษะ จากนั้นทางหัวหน้าพรรคก็ได้เข้ามาห้ามปราม ทำให้ส่วนตัวไม่กล้าออกจากห้องไปไหนเนื่องจากกังวลในความปลอดภัย จึงได้ติดต่อไปยังตำรวจเพื่อให้ส่งเจ้าหน้าที่มารับตัวไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ
นายยุทธพงศ์ยืนยันว่าส่วนตัวไม่เคยมีเรื่องบาดหมางระหว่างกันมาก่อน เพียงแต่เรื่องที่เกิดขึ้นมาจากการอภิปรายในสภาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องนี้ไม่มองว่าจะกระทบต่อภาพลักษณ์ของพรรคแต่เป็นเรื่องของความปลอดภัยของตัวเอง
ทั้งนี้ นายยุทธพงศ์ บอกอีกว่าวันพรุ่งนี้ จะเดินทางไปพบผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติพลตำรวจเอกจักรทิพย์ ชัยจินดา เพื่อพูดคุยและขอกำลังเจ้าหน้าที่มาคอยดูแลความปลอดภัยหลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น
ที่มาศึกวางมวย นวัธ-ยุทธพงศ์
ทั้งนี้ ย้อนไปเมื่อการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 5 ก.ย.ที่ผ่านมาระหว่างการพิจารณารายงานเรื่อง การขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้า (บีทีเอส) ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญที่มี ‘วีระกร คำประกอบ’ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน ได้พิจารณาเสร็จแล้ว ปรากฏว่าได้เกิดการอภิรายตอบโต้กันอย่างดุเดือด ภายหลังนายนวัธ เตาะเจริญสุข’ ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย กล่าวหาว่ามีกมธ.วิสามัญฯบางรายมีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องดังกล่าว
นายนวัธ กล่าวตอนหนึ่งว่า “ท่านประธานทราบไหมครับ ผมเดินออกไปหน้าสภา เดินออกไปทานข้าว คุยกับเพื่อนฝูงต่างพรรคหลายๆพรรค คุยไปคุยมาเขาลือกันทั้งสภาแล้วครับ เขาบอกว่าคณะกรรมาธิการบางท่าน มีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องการต่อสัมปทานครั้งนี้ เขาพูดกันอย่างนั้นครับท่านประธาน ผมยังไม่ได้กล่าวหานะครับเป็นแค่ข่าวลือ”
การอภิปรายของส.ส.ขอนแก่นดังกล่าว ส่งผลให้นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯคนที่ 2 ในฐานะประธานที่ทำหน้าที่ควบคุมการประชุมต้องสั่งให้นายนวัธถอนคำพูด
“เพื่อความสงบเรียบร้อยของสภา อย่าไปเอาข่าวลือที่ไม่มีข้อเท็จจริงที่ยังไม่ได้พิสูจน์ สภาแห่งนี้เป็นสภาที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ควรเอาข่าวลือที่ยังไม่มีการพิสูจน์มากล่าวในสภา ท่านนวัธก็เป็นผู้อาวุโสแล้วก็ควรเป็นแบบอย่างด้วย ข้อความใดที่ส่งผลกระทบต่อบุคคลก็ไม่อยากให้กล่าวโดยไม่มีข้อเท็จจริง” รองประธานสภาฯคนที่ 2 กล่าว
ต่อมา นายนวัธ ขอถอนคำว่าข่าวลือ แต่ขอใช้คำว่า “เขาคุยกันในสภา” แทน
จากนั้น นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม ในฐานะกมธ.วิสามัญฯ ตอบโต้ว่า "การพาดพิงกรรมาธิการแบบนี้คณะกรรมาธิการเกิดความเสียหาย ผมกราบเรียนท่านประธานไปยังท่านนวัธเลยครับ ถ้าท่านมีหลักฐาน ผมท้าเลยให้ไปดำเนินคดีและเอาไปติดคุกเลย ท่านอย่าปล่อยไว้”
“เพราะท่านบอกว่ามีคนมาคุยกับท่าน แสดงว่ามันต้องมีตัวตน ผมท้าครับ อย่าปล่อยไว้ครับ ในกรรมาธิการชุดนี้รับรองได้ว่าไม่มีใครคดโกง และไม่มีใครไปพัวพันกับคดีฆ่าคนตายด้วยครับ” นายยุทธพงศ์ กล่าวตอบโต้
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมสภาฯมีมติเสียงข้างมากเห็นด้วยกับข้อสังเกตในรายงานของคณะกมธ.วิสามัญฯ 412 ต่อ 25 คะแนน โดยมีส.ส.งดออกเสียง 20 คน ซึ่งตามขั้นตอนหลังจากนี้จะเป็นหน้าที่ของประธานสภาฯในการส่งรายงานพร้อมกับข้อสังเกตุของคณะกมธ.วิสามัญฯไปยังรัฐบาลต่อไป
ทั้งนี้ ในรายงานของคณะกมธ.วิสามัญฯฉบับที่มีการเสนอสภาฯนั้นประกอบด้วย 2 เรื่อง ได้แก่ 1.การขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนศรีรัชและอุดรรัถยาและ 2.การขยายสัญญาสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสีเขียวของบีทีเอส (สายหลักช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน และสัญญาสัมปทานโครงการส่วนต่อขยายช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน)
สำหรับผลการพิจารณาเรื่องการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วน มีกรรมาธิการ (กมธ.) จำนวน 39 คน เสียงส่วนใหญ่ 21 คนเห็นด้วยกับการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วน โดยมีกมธ.ไม่เห็นด้วย 12 คน งดออกเสียงและขอสงวนความเห็น 5 คน
โดยกมธ.ฝ่ายที่เห็นด้วยมีความคิดเห็นว่า ควรให้มีการขยายสัมปทานให้ 15 ปีแรก เนื่องจากเอกชนมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการซ่อมบำรุงมากกว่ารัฐ และได้ต่อรองกับเอกชนมาต่อเนื่องแล้ว ซึ่งแต่ละครั้งมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการต่อสัญญาที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐ
ขอบคุณคลิปจากยูทูป BRIGHT TV