เคลียร์งบค้างท่อ ความคุ้มค่า-จำเป็น
ใกล้สิ้นปีงบประมาณ 2562 ในวันที่ 30 ก.ย.นี้ บรรดาหน่วยงานภาครัฐต่างเร่งรัดติดตามผลการดำเนินงานและการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2562 เพื่อเคลียร์ "งบค้างท่อ" ที่เหลืออยู่ให้แล้วเสร็จก่อนเริ่มต้นปีงบประมาณ 2563 ในวันที่ 1 ต.ค.ที่จะถึงนี้
ไม่เว้นแม้แต่สภาผู้แทนราษฎร ที่หลังจากมีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการสามัญ (กมธ.) ทั้ง 35 คณะไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ล่าสุดแว่วมาว่าขณะนี้ กมธ.ทั้ง 35 คณะ ต่างเร่งพิจารณาการใช้จ่ายงบค้างท่อที่เหลืออยู่ของ กมธ. รวม 87.5 ล้านบาท แบ่งเป็นคณะละ 2.5 ล้านบาท ล่าสุด แต่ละคณะเตรียมแจกจ่ายเงินให้ ส.ส.ที่เป็นกรรมาธิการคนละ 1 แสนบาท เพื่อนำไปดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนเดือน ก.ย.
เท่ากับว่านับจากนี้มีเวลาอีกราว 2 สัปดาห์ที่ กมธ.ทั้ง 35 คณะจะต้องเร่งใช้งบก้อนนี้ เพราะไม่เช่นนั้นงบส่วนที่เหลือจะต้องนำส่งเงินคืนคลังเพื่อนำไปใช้ในส่วนอื่นต่อไป
คำถามคือ เงินจำนวนมากขนาดนี้แต่มีเวลาดำเนินโครงการต่างๆ การเพียงแค่ 2 สัปดาห์จะทันหรือไม่? แล้วความคุ้มค่ากับงบจำนวนนี้จะมีมากน้อยเพียงใด?
ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่สังคมจะต้องจับตา เพราะในอดีตก็เคยมีข่าวคราวให้เห็นแล้วว่าเมื่อสิ้นปีงบประมาณทีไร หลายหน่วยงานก็มักจะใช้งบที่เหลืออยู่ไปหมายกำหนดการศึกษาดูงานในต่างประเทศ จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา
มาครั้งนี้ กมธ.เองจึงควรศึกษา ถอดบทเรียนในอดีตเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาและข้อถกเถียงในประเด็นที่ว่า “คุ้มค่า” หรือ “ไม่คุ้มค่า”, “มีประโยชน์” หรือ “ไม่มีประโยชน์”
ประเด็นนี้มีเสียงจากคนใน กมธ.ชุดหนึ่งลอยลมมาว่า เหตุที่ต้องเร่งเคลียร์งบค้างท่อดังกล่าวในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้าย มีผลมาจากการตั้ง กมธ.ทั้ง 35 คณะที่ล่าช้า ไม่ใช่การเร่งผลาญงบตามที่มีการตั้งข้อสงสัย รวมถึงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในขณะนี้
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การเร่งเคลียร์งบค้างท่อของ กมธ.ทั้ง 35 คณะในครั้งนี้ ย่อมเป็นที่จับตาของสังคมและคาดหวังไปที่การใช้งบว่าจะเป็นไปอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์ต่อประชาชน มากกว่าการเร่งใช้งบให้หมดไปเท่านั้น!!