งบ ปปช.ปราบโกง 957 ล้าน จ่อตั้งอนุฯ รุกต้านทุจริต
ป.ป.ช.เผยงบบูรณาการปราบโกงปี 2563 รวม 957 ล้าน จัดสรร 25 หน่วยงาน พร้อมตั้งอนุกรรมการ สปท.เดินหน้าป้องกันทุจริตให้เป็นรูปธรรม-สร้างสังคมไม่ทนต่อการทุจริต คาดเป้าคะแนน CPI ปี 2564 แตะ 50 คะแนน เป็นไปได้ “ชยุต”จ่อหลุดเก้าอี้ ส.ว. หลังศาลฎีกาสั่งคุก5ปี
วานนี้ (26ก.ย.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) จัดโครงการประชุมสัมมนาคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (สปท.) โดย พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวเปิดและบรรยายพิเศษ เรื่อง “นโยบายการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ประจำปีงบประมาณ 2563” ตอนหนึ่งว่า การตั้งอนุกรรมการ สปท.จะทำให้การป้องกันการทุจริตเป็นรูปธรรมมากขึ้น และจะเป็นการขับเคลื่อนงานด้านการป้องกันการทุจริตอย่างแท้จริง
โดยที่ผ่านมา ป.ป.ช.ถูกมองว่าทำงานด้านการปราบปรามการทุจริต แต่สิ่งสำคัญที่จะแก้ปัญหาการทุจริตได้คือการป้องกันการทุจริต การสร้างสังคมไม่ทนต่อการทุจริต ซึ่งตามยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560 - 2564) มีเป้าหมายที่จะให้การทุจริตลดลง ประเทศไทยมีความโปร่งใสมากขึ้น
ซึ่งจะเน้นความร่วมมือและการบูรณาการของทุกภาคส่วน และมีเป้าหมายที่จะให้ค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทยได้คะแนนมากกว่า 50 คะแนน ภายในปี 2564 ซึ่งการจะทำให้ค่าคะแนน CPI ถึง 50 คะแนนนั้น ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก แต่ก็เป็นความฝันที่ยังเป็นไปได้
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวอีกว่า ปัจจุบันค่าคะแนน CPI ของประเทศไทยอยู่ที่ 36 คะแนน ซึ่งสะท้อนว่าประเทศไทยกำลังป่วยจากเชื้อโรคทุจริต การจะลดการทุจริตได้ต้นทางสายหลักคือการทำให้คนไทยรับรู้เกี่ยวกับผลเสียจากเชื้อโรคทุจริต และแยกแยกผลประโยชน์ส่วนรวมและผลประโยชน์ส่วนตัวออกจากกันได้โดยอัตโนมัติ สร้างสังคมที่รับรู้เรื่องการทุจริตในทุกระดับ
ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีการออกมาเปิดโปงการทุจริตมากยิ่งขึ้น อย่างกรณีโกงเงินคนพิการ กรณีอาหารกลางวันเด็ก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยกำลังเริ่มไม่ทนต่อการทุจริตแล้ว อย่างไรก็ตามสำหรับงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ของแผนบูรณาการการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้รับการจัดสรรงบประมาณรวมวงเงิน 957 ล้านบาท โดยมีหน่วยงานที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณทั้งสิ้น 25 หน่วยงาน ซึ่งยังถือว่าเป็นงบประมาณที่น้อยเมื่อเทียบกับตัวเลขความเสียหายที่เกิดจากการทุจริตในแต่ละปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ของแผนบูรณาการการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมวงเงิน 957 ล้านบาท มีการแบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 แนวทาง คือแนวทางที่ 1 ปลูกฝังวิธีคิด ปลุกจิตสำนึกให้มีวัฒนธรรมและพฤติกรรมซื่อสัตย์สุจริต งบประมาณ 491 ล้านบาท
แนวทางที่ 2 ป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ 296 ล้านบาท และแนวทางที่ 3 ปราบปรามการทุจริต 169 ล้านบาท โดยมีหน่วยงานที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณทั้งสิ้น 25 หน่วยงาน ซึ่งหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในแผนบูรณาการการต่อต้านการทุจริตสูงสุดคือ สำนักงาน ป.ป.ช. จำนวน 433 ล้านบาท รองลงมาคือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) จำนวน 146 ล้านบาท สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) จำนวน 49 ล้านบาท สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย จำนวน 49 ล้านบาท เป็นต้น
นอกจากนี้จากกรณีศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินของกรุงเทพมหานครยกฟ้อง นายพิจิตต รัตตกุล หรือ ดร.โจ อดีตผู้ว่าฯ กทม.และให้จำคุก นายสมคาด สืบตระกูล อดีตเลขานุการผู้ว่าฯเป็นเวลา 5ปี นั้น ทำให้ นายสมคาด ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อ มาเป็นนายชยุต สืบตระกูล ต้องหลุดจากตำแหน่งส.ว.
ทั้งนี้ นายชยุต หรือนายสมคาด ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นส.ว.ซึ่งมีรายชื่ออยู่ในลำดับที่36 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ ม.111 ว่าสมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาสิ้นสุดลงเมื่อ (6) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แม้จะมีการรอการลงโทษ เว้นแต่เป็นการรอการลงโทษในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
ด้าน นายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา(ส.ว.) คนที่2 กล่าวว่า ถือว่านายชยุติ สิ้นสภาพการเป็นส.ว.ทันทีตามรัฐธรรมนูญมาตรา82 เนื่องจากถูกจำคุก จากคำพิพากษาในศาลฎีกาที่ไม่สามารถอุทธรณ์ใดๆได้อีกเเล้ว
โดยขั้นตอนต่อไปก็จะต้องเลื่อนลำดับส.ว.ที่อยู่ในบัญชีสำรองขึ้นมาเป็นเเทน ซึ่งคาดว่าคือ นายจัตุรงค์ เสริมสุข ซึ่งเป็นบัญชีจากสายวิชาชีพ เนื่องจากนายชยุต มาตากตัวแทนสายวิชาชีพ แต่จะต้องทีการตรวจสอบคุณสมบัติก่อนว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่