12คนไทยเอี่ยวขบวนการ ค้า“ปริญญานอก”ปลอม

12คนไทยเอี่ยวขบวนการ   ค้า“ปริญญานอก”ปลอม

กมธ.ปราบโกงสภาฯ ลุยตรวจสอบขบวนการค้าปริญญาต่างประเทศปลอม “สมชัย”ให้ข้อมูลพบ 12 คนไทยร่วมขบวนการรับจ้าง อุปโลกน์สำนักงาน-บุคลากร ก่อนส่งให้ มหาวิทยาลัยปลอมในสหรัฐ ออกใบปริญญาให้ แนะ“ธรรมนัส”แจ้งความหากตกเป็นเหยื่อขบวนการ แต่หากรู้เห็นถือว่าแจ้งเท็จ

จากกรณีที่มีการตรวจสอบวุฒิการศึกษาปริญญาเอก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเจ้าตัวเคยนำหลักฐานประกาศนียบัตรปริญญาเอกและทรานสคริปต์ ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เอฟซีอี สหรัฐอเมริกา ล่าสุดวานนี้ คณะกรรมาธิการ(กมธ.)การป้องกันและปราบปรามทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นประธาน กมธ.ได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าพิจารณา และได้มีการเชิญผู้เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูล 

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ แถลงภายหลังการประชุมว่า นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกกต.ในฐานะที่ปรึกษาของอนุกมธ.ฯ​ให้ข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่า ร.อ.ธรรมนัส คือตัวการของการได้มาซึ่งวุฒิการศึกษาปลอม และไม่ผ่านการรับรองตามมาตรฐานของกระทรวงศึกษาธิการของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจเป็นขบวนการค้าวุฒิการศึกษาปลอม

อย่างไรก็ตามกมธ.ฯ เตรียมทำหนังสือถึงกระทรวงศึกษาธิการของประเทศไทย ให้ทำเรื่องไปยังกระทรวงศึกษาของประเทศสหรัฐอเมริกา และ สาธารณรัฐวานูอาตู เพื่อขอข้อมูลต่อประเด็นหลักสูตรในระดับปริญญาเอกที่ ร.อ.ธรรมนัส อ้างว่าจบการศึกษา

“หากสอบไป ร.อ.ธรรมนัส มีความผิดแน่นอนและต้องรับผิดชอบ ดังนั้นขอให้ลาออกเพื่อให้เรื่องนี้ยุติ ส่วนการพิจารณาของกมธ.ฯ เตรียมเชิญ ร.อ.ธรรมนัส มาชี้แจงรายละเอียดแน่นอน แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถกำหนดช่วงเวลาได้ เพราะต้องรอเอกสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการแปลภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยก่อน ผมขอให้ ร.อ.ธรรมนัส ลาออกเพื่อยุติสอบ” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าว

ชี้ ธรรมนัสตกเป็นเหยื่อของขบวนการ

ขณะที่ นายสมชัย กล่าวว่า ตนเชื่อว่า ร.อ.ธรรมนัส คือเหยื่อของขบวนการค้าวุฒิการศึกษาปลอม ดังนั้นขอให้แจ้งความดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง ตนให้ข้อมูลกับกมธ.ฯ คือ กระบวนการค้าวุฒิการศึกษาปลอมที่พบว่าทำเป็นเครือข่าย เชื่อมโยงหลายประเทศ และมีส่วนที่ทำในประเทศไทย ที่พบว่ามีนักวิชาการที่ได้รับปริญญาปลอมร่วมเปิดหน่วยงาน จำนวน 12 คน และมีนักวิชาการที่เคยโดนไล่ออกจากราชการ เพราะลอกวิทยานิพนธ์ร่วมขบวนการด้วย

ส่วนกรณีที่ ร.อ.ธรรมนัส เคยนำเอกสาร อาทิ ใบปริญญาบัตร และทรานสคริปต์ ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย มาแสดงต่อสื่อมวลชนนั้น เป็นเพียงเอกสารเทียบเท่าซึ่งไม่ใช่ใบปริญญาบัตรและทรานสคริปต์ แคลิฟอร์เนียยูนิเวอร์ซิตี้ที่เคยกล่าวถึงเป็นเพียงบริษัทเอกชนที่ตั้งขึ้นเพื่อกระบวนการค้าวุฒิการศึกษาปลอม แม้จะถูกรับรองโดยกระทรวงศึกษาธิการประเทศสหรัฐอเมริกา แต่เป็นเพียงระดับอนุบาลเท่านั้น

แนะหากถูกหลอกต้องแจ้งความ

นายสมชัย กล่าวต่อว่า และที่ ร.อ.ธรรมนัส เคยระบุว่าได้ทำวิทยานิพนธ์ และตีพิมพ์ผ่านวารสารนั้น จากการตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นเพียงการตีพิมพ์ในวารสารที่ทำขึ้นปลอม นอกจากนี้ ร.อ.ธรรมนัส อย่างไรก็ตามกรณีของ ร.อ.ธรรมนัส หากไม่ทราบว่าถูกหลอกลวง ร.อ.ธรรมนัส คือผู้เสียหายที่ควรแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่หาก ร.อ.ธรรมนัส ทราบและไม่ดำเนินการใดๆ จะถือว่าเป็นการให้ข้อมูลเท็จ

ทั้งนี้นอกจาก ร.อ.ธรรมนัส ยังมีกรณีวุฒิปริญญาของของนายคฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังไทยรักไทยด้วย ซึ่งจะต้องตรวจสอบต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับการตรวจสอบของกมธ.ฯ ต่อกรณีวุฒิการศึกษาของร.อ.ธรรมนัส กมธ.ฯ ตั้งให้ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย เป็นประธานอนุกมธ.ฯ​ทั้งนี้ด้วยภารงานของกมธ.ที่มีมากขึ้น ที่ประชุมจึงมีแนวคิดที่อยากให้มี อนุกมธ.ฯจิตอาสาเพื่อร่วมเป็นคณะทำงานโดยไม่มีค่าตอบแทนใดๆให้ เนื่องจากงบประมาณที่จัดสรรให้กมธ.ฯ เดือนละ 1.2 แสนบาทนั้น ได้จัดสรรเป็นค่าตอบแทนให้กับคณะทำงานของกมธ.ฯครบจำนวนแล้ว

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกันนี้ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ได้ไลฟ์สดผ่านทางเฟซบุ๊ค เรื่องธุรกิจค้าปริญญาต่างประเทศ ระบุว่า ในสหรัฐ อเมริกา รูปแบบของธุรกิจดังกล่าวมี 5 ประเภทดังนี้ 1.มหาวิทยาลัยปลอม จะมี 2 รูปแบบ 1.มหาวิทยาลัยไร้ตัวตน ไม่มีอาจารย์ ไม่มีนักศึกษา และไม่มีสถานที่เรียน 2.ตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นมาแต่ไร้มาตรฐาน ไม่ได้สนใจการเรียนการสอน แต่ทำรายงานส่ง โดยมหาวิทยาปลอมมักจะเปิดสอนออนไลน์

“มหาวิทยาลัยปลอมจะใช้เวลาเรียนน้อยมา อาจจะใช้เวลาแค่ 6 เดือน สามารถจบหลักสูตรได้ นอกจากนี้มีวิธีใช้ประสบการณ์เปรียบเทียบหน่วยกิตได้ เช่น เป็นนักการเมือง นักธุรกิจ เมื่อเทียบหน่วยกิตก็สามารถเรียนจบได้เร็ว โดยมหาวิทยาลัยปลอมมักจะใช้สถานที่ที่หายาก มีความซับซ้อน อาจจะอยู่ในประเทศที่ไม่มีใครรู้จัก โดยในสหรัฐอเมริกามีมหาวิทยาลัยปลอมอยู่หลาย 100 แห่ง”

2.วารสารนักล่า สร้างชื่อขึ้นมาให้คล้ายคลึงกับงานวารสารที่มีชื่อเสียง แต่ไม่ได้ตีพิมพ์จริง และหากต้องการตีพิมพ์ก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีก อย่างไรก็ตามจะไม่มีการขาย ตีพิมพ์เสร็จก็จะส่งผู้จ้าง และหากต้องการลงออนไลน์จะมีค่าลงอยู่ที่ 200-300 ดอลลาร์ โดยจะหาเว็บไซต์ลงให้ ซึ่งจะไม่ได้รับการยอมรับในทางวิชาการ

3.ธุรกิจประเมินวิทยฐานะ ซึ่งบางแห่งทำอย่างมีมาตรฐาน ตามความเป็นจริง แต่มีการตั้งบริษัทขึ้นมาทำการประเมินวิทยฐานะปลอม จากปริญญาปลอมจะประเมินให้จริงก็ได้ โดยจะตั้งชื่อคล้ายมหาวิทยาลัยชื่อดัง เพื่อให้มีความน่าเชื่อถือ ค่าประเมินอยู่ที่ 200-300 ดอลลาร์

4.ปริญญาบัตรปลอม ถือว่าเลวร้ายสุด เพราะไม่มีการเรียนการสอน หากอยากได้ปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัย ก็สามารถเข้าไปซื้อได้เลย ราคาอยู่ที่ 100-200 ดอลลาร์ โดยรูปแบบของปริญญาบัตรจะเหมือนของจริงมาก มีปก แสตมป์ หรือทุกอย่างที่เหมือนจริง ซึ่งจะโฆษณาตรงๆว่าเป็นของปลอม ขึ้นอยู่กับลูกค้าจะเอาหรือไม่ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ แต่บริษัทเอกชนหลายหน่วยงานไม่ได้สนใจจะตรวจสอบ

อุปโลกน์ตั้งสำนักงาน-บุคลากร

5.ขบวนการค้าปริญญาต่างประเทศในไทย จะมี 5 ขั้นตอน (1) ตั้งสำนักงานอุปโลกน์ และอุปโลกน์บุคลากร (2) เข้าหานักการเมือง นักธุรกิจ ผู้บริหารระดับสูงในราชการ (3)ขายหลักสูตรออนไลน์ พร้อมระบบการช่วยเหลือในการเรียน ทำรายงาน ทำวิจัย โดยลอกจากงานวิจัยต่างประเทศ ก่อนส่งบทความตีพิมพ์ในต่างประเทศ

(4) ส่งปริญญาที่ไม่ได้มาตรฐานไปประเมินในหน่วยงานประเมินที่ไม่ได้มาตรฐาน เพื่อฟอกขาวปริญญาบัตร โดยอ้างว่าได้รับการรับรองจากสหรัฐ อเมริกา แล้ว (5) ผู้เรียนสามารถใช้คำนำหน้าทางวิชาการได้ เพื่อหาประโยชน์ทางการค้า หรือทางการเมือง

กมธ.ปราบโกงชี้ถูกคุมขัง8ด.

นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ และอนุกมธ.ฯ เพื่อตรวจสอบกรณี ร.อ.ธรรมนัส กรณีคดีค้ายาเสพติด ซึ่งศาลประเทศออสเตรเลียเคยมีคำพิพากษาว่า กมธ.ฯ เตรียมสรุปรายละเอียดและประเด็น ก่อนทำหนังสือให้กระทรวงการต่างประเทศ และสถานทูตประเทศออสเตรเลียประจำประเทศไทย เพื่อขอรายละเอียดเกี่ยวกับคำพิพากษาในคดีดังกล่าว 

ทั้งนี้มีข้อมูลที่ได้รับการยืนยันจากบุคคลซึ่งเคยเป็นผู้สื่อข่าวสัญชาติไทยและอยู่ร่วมในเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับร.อ.ธรรมนัส ช่วงปี 2531 ที่ทำให้ ร.อ.ธรรมนัสต้องถูกควบคุมตัว 8 เดือน ตามกฎหมายของประเทศออสเตรเลียว่าสอดส่องเพื่อนบ้าน และมีแนวโน้มจะถูกเนรเทศ แต่ร.อ.ธรรมนัส หายตัวไปก่อน เพราะได้วางเช็คเงินสดไว้ อย่างไรก็ตามข้อมูลดังกล่าว เป็นสิ่งที่เชื่อถือได้ แต่เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงต้องขอรายละเอียดจากหน่วยงานราชการของประเทศออสเตรเลียอีกครั้ง

นายธีรัจชัย กล่าวว่า กรณีคดีที่เกิดขึ้นปี 2531 ถือเป็นข้อมูลใหม่ และเป็นคนละชิ้นกับ เอกสารคำพิพากษาจากศาลออสเตรเลียที่ออกมาเมื่อปี 2538 ซึ่งต้นเรื่องเกิดขึ้น ปี 2536 โดยการชี้แจงของร.อ.ธรรมนัสที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น เป็นการรวมคดีทั้ง 2 ปีนั้นมาชี้แจงรวมกัน