ข้อมูลอีกด้าน... คดีความมั่นคงชายแดนใต้
เหตุการณ์ยิงตัวเองในบริเวณศาลาของ นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดยะลา กลายเป็นประเด็นร้อนแรงที่สุดในสังคม ทั้งในและนอกโซเชียลมีเดีย
ด้านหนึ่งมีกระแสยกย่องนายคณากร เป็นวีรบุรุษที่ผดุงความยุติธรรม โดยเฉพาะความเป็นธรรมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น จากนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ที่เดินทางไปเยี่ยมอาการนายคณากรที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา และต่อมา นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งอ้างว่าได้รับเรื่องร้องเรียนจากนายคณากรมาก่อนหน้าจะยิงตัวเอง ก็ให้สัมภาษณ์สื่อในประเด็นนี้ด้วย
ทั้งยังมีการสร้างกระแสให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงรื้อคดีความมั่นคงทั้งหมดที่เกิดขึ้นที่ปลายด้ามขวาน ตั้งแต่ไฟใต้ปะทุรุนแรงตั้งแต่ปี 2547 เลยทีเดียว
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง เริ่มมีการเปิดข้อมูลเชิงตรวจสอบเกี่ยวกับพฤติกรรมของนายคณากร ในฐานะผู้พิพากษา ว่าเคยมีการแสดงความเห็นในโซเชียลมีเดีย เชิงสนับสนุนพรรคการเมืองพรรคหนึ่งอย่างเปิดเผย ซึ่งน่าจะขัดกับจรรยาบรรณของผู้พิพากษา
นอกจากนั้น ยังมีการตั้งข้อสังเกตอีกหลายประเด็น เกี่ยวกับการไลฟ์สดในชุดครุยผู้พิพากษาบนบัลลังก์ในห้องพิจารณาคดี ตลอดจนเหตุการณ์การยิงตัวเอง แต่ไม่เสียชีวิต และเอกสารแถลงการณ์ที่ถูกเผยแพร่และขยายผลอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงคดีที่นายคณากรอ้างว่าถูกแทรกแซงด้วย
ประเด็นที่มีการตั้งข้อสังเกตกัน มีหลายแง่มุม จึงสรุปมาให้สังคมได้พิจารณากันอย่างรอบด้าน
- จนถึงขณะนี้มีการยืนยันจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้หลายแหล่ง รวมทั้งญาติของจำเลยที่เข้าฟังคำพิพากษาแล้วว่า คดีที่นายคณากรขึ้นนั่งบัลลังก์ที่ศาลจังหวัดยะลาก่อนยิงตัวเอง เป็นคดีคนร้ายบุกยิงประชาชนที่บ้านหลังหนึ่ง ในอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 คน เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มิถุนายนปีที่แล้ว
หลังเกิดเหตุ กระทั่งมีการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย ออกหมายจับผู้ต้องหา และจับกุมผู้ต้องหาเพื่อดำเนินคดี มีการให้ข่าวและแถลงข่าวจากผู้เกี่ยวข้องในคดี ทั้งตำรวจ ทหาร ว่าเป็นคดีที่มีมูลเหตุจูงใจเรื่องยาเสพติด ไม่ใช่คดีความมั่นคง
สอดคล้องกับข้อหาที่ฟ้องจำเลยทั้ง 5 คน ไม่มีข้อหา “ก่อการร้าย” ซึ่งถ้าเป็นคดีความมั่นคงจะฟ้องข้อหานี้ด้วย ส่วนข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร ไม่ได้หมายความว่า ต้องเป็นคดีความมั่นคงเสมอไป อย่างขบวนการค้ายาเสพติด ก็ถือเป็นอั้งยี่ได้เหมือนกัน หรือคดีแก๊งปาร์ตี้บางบัวทองที่เป็นข่าวครึกโครมก่อนหน้านี้ ก็โดนข้อหาซ่องโจร
- กระบวนการพิจารณาคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และคดีอาญาในศาลชั้นต้นทั่วไปจะมีองค์คณะผู้พิพากษา 3 คน ร่วมกันพิจารณาและจัดทำคำพิพากษา ฉะนั้นหากคดีที่นายคณากรอ้างว่าถูกแทรกแซง ปรากฏว่ามีการแทรกแซงจากผู้บังคับบัญชาหรือผู้พิพากษาที่มีอำนาจหน้าที่เหนือตนจริง เหตุใดคดีจึงยังยกฟ้องตามที่นายคณากรอ้างในแถลงการณ์
คำพิพากษายกฟ้องย่อมแสดงว่า ผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะอีก 1 หรือ 2 คน เห็นด้วยกับนายคณากร ซึ่งชี้ให้เห็นว่านายคณากรไม่ได้ต่อสู้เรื่องนี้อย่างโดดเดี่ยว
- เอกสารแถลงการณ์ของนายคณากร เป็นเอกสารที่ใช้ตัวพิมพ์ และใช้ฟอร์มเอกสารของศาล มีตราครุฑอยู่ด้านบนทุกหน้า ทำให้สังคมบางส่วนเข้าใจผิดว่า เป็นเอกสารคำพิพากษาแต่จริงๆ แล้วไม่ใช่คำพิพากษา เป็นเพียงเอกสารแถลงการณ์ความเห็นส่วนตัวของนายคณากร และในเอกสารหน้าสุดท้ายก็ลงชื่อนายคณากร เพียงคนเดียว
- เนื้อหาบางส่วนในเอกสารแถลงการณ์ เช่น การเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้แก้ไขกฎหมาย ไม่ให้มีการตรวจสำนวนโดยผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ก่อนอ่านคำพิพากษาในศาลล่างนั้น จริงๆ แล้วเรื่องนี้เป็นระบบการตรวจสอบของศาล เพื่อให้กระบวนพิจารณาและการจัดทำคำพิพากษามีความถูกต้องเป็นธรรมมากที่สุดคล้ายๆ ให้มีผู้พิพากษาอาวุโสเป็นพี่เลี้ยง โดยผู้พิพากษาอาวุโส หรือผู้บังคับบัญชา ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาได้ ทำได้เพียงทำความเห็นแย้งกับองค์คณะเท่านั้น
สำหรับภาพรวมของการพิจารณาคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีกระแสข่าวว่าไม่มีความเป็นธรรม และมีกระแสเรียกร้องให้รื้อคดีใหม่ทั้งหมด ตลอด 15 ปีที่ผ่านมานั้น จริงๆ แล้วคดีที่นายคณากรอ้างว่าหลักฐานไม่ถึง และพิพากษายกฟ้องนั้น ไม่ใช่คดีแรกใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่สถิติคดีความมั่นคงในพื้นที่ชี้ชัดว่า ในช่วงต้นๆ ของไฟใต้ คดีที่ถูกนำขึ้นสู่ศาล มีการยกฟ้องมากถึงเกือบ 80% สะท้อนว่าศาลให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา หรือจำเลย หากหลักฐานไม่ถึงจริงๆ ก็จะไม่พิพากษาลงโทษ ข้อมูลปี 2557 ศาลชั้นต้นยกฟ้องกว่า 80% และข้อมูลปี 2558 ศาลพิพากษาลงโทษ 38.75% ยกฟ้อง 61.25% นี่คือตัวอย่าง
แต่เมื่อคดียกฟ้องมาก ก็มีคำถามเรื่องการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานของตำรวจ และการพิจารณาสั่งคดีของอัยการ จนมีการยกเครื่องใหม่ เน้นการใช้นิติวิทยาศาสตร์ และอัยการได้ตั้ง “สำนักงานอัยการพิเศษ” ขึ้นมาพิจารณาคดีความมั่นคงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการเฉพาะ
มีการกลั่นกรองหลักฐานดีขึ้น ทำให้คดีที่ “หลักฐานไม่ถึง” จะสั่งไม่ฟ้องตั้งแต่ชั้นอัยการ เพื่อไม่ให้ผู้ต้องหาต้องติดคุกยาวระหว่างรอคำพิพากษา แต่คดีที่หลักฐานชัดเจนจริงๆ ก็จะฟ้องไป
สุดท้ายในปีหลังๆ สถิติคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงมีคดีที่ศาลลงโทษสูงขึ้นเรื่อยๆ สูงกว่า 50-60% เพราะสำนวนมีความรัดกุมมากกว่าเดิม
ทั้งหมดนี้คือข้อมูลอีกด้านหนึ่งของคดีความมั่นคงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รวบรวมมาเพื่อให้สังคมช่วยกันพิจารณา