ป.ป.ส. เตือนผู้ติดยาเสพติดรีบบำบัดรักษาก่อนเกิดอาการทางจิต ย้ำญาติหรือปกครองควรดูแลใกล้ชิด เพื่อป้องกันการก่อเหตุรุนแรง
ตามที่ปรากฏข่าวมีผู้เสพยาเสพติดก่ออาชญากรรม และเหตุรุนแรงต่างๆ ทั้งต่อชีวิต ร่างกาย เพศ และทรัพย์สิน ทั้งที่ควบคุมพฤติกรรมตนเองได้และไม่ได้ และบางรายถึงขั้นมีอาการคลุ้มคลั่งนั้น
จากการติดตามสถานการณ์ของศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส. จึงได้รวบรวมข้อมูลตลอดปีงบประมาณ 2562 ปรากฏข่าวว่ามีผู้ก่อเหตุต่างๆ ที่ระบุว่ามาจากฤทธิ์ของยาเสพติดรวม 278 ครั้ง โดยเป็นการก่อเหตุเกี่ยวกับทรัพย์มากที่สุด รองลงมาคือ ร่างกาย ชีวิต เพศ และอื่นๆ ตามลำดับ ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ส. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่ามีร้อยละ 41 ที่การก่อเหตุมาจากฤทธิ์ของยาเสพติด จากจำนวนดังกล่าวบางครั้งก็ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น
ต่อเรื่องนี้ นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส) กล่าวว่า “ไม่ว่าผู้ก่อเหตุอันมาจากฤทธิ์ของยาเสพติดจะมีจำนวนเท่าใดและเหตุที่ก่อนั้นจะมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใดก็ตาม ย่อมส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตอย่างปกติสุขของประชาชน
สำนักงาน ป.ป.ส. ตระหนักในเรื่องดังกล่าวและมีความห่วงใยพี่น้องประชาชน จึงได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 15 หน่วยงาน จัดทำบันทึกข้อตกลงเพื่อการป้องกัน เฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหาผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตอันเนื่องมาจากการใช้ยาเสพติด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดกลไกในการป้องกันเฝ้าระวัง ตลอดจนการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่เกิดจากการใช้ยาเสพติดไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสังคมชุมชน
อย่างไรก็ตาม ทางราชการไม่สามารถดำเนินการได้ตามลำพัง จำเป็นที่บุคคลในครอบครัวและชุมชนต้องช่วยกันป้องกันและเฝ้าระวัง หากพบผู้ใช้หรือผู้เสพยาเสพติดเป็นบุคคลใกล้ชิด หรือเป็นคนในครอบครัว ขอให้รีบพาเข้าบำบัดรักษาตัวที่โรงพยาบาลของรัฐได้ทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่มีประวัติ และไม่มีความผิด เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นกลับเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพในสังคม ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่กำหนดการแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เน้นย้ำให้ดำเนินการตามนโยบาย “ผู้เสพคือผู้ป่วย” เกิดผลในทางปฏิบัติเพื่อคืนคนดีสู่สังคม
ทั้งนี้ หากพบผู้มีอาการทางจิตจากยาเสพติดและมีแนวโน้มจะก่อความรุนแรง สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 191 หรือ 1669 หรือ 1386 ตลอด 24 ชั่วโมง”