“ณัฏฐพล”กางตำรารับศึก เลือกตั้งท้องถิ่น-แก้รธน.-ซักฟอก
พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) คือพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล สานฝันต่อยอดอำนาจให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม อยู่ในอำนาจต่อไป
“ณัฎฐพล ทีปสุวรรณ” รมว.ศึกษาธิการ รองหัวหน้าพรรคพปชร. แสดงความเห็นเกี่ยวกับจังหวะทางการเมืองของพรรคพปชร. ภายหลังถูกค่อนขอดว่า 3 เดือนแรกของ “รัฐบาลลุงตู่2” บรรดาพรรคร่วมรัฐบาลทำงานเข้าตา ส่วนพรรคพปชร.ทำงานถอยหลัง
“ณัฎฐพล” มองว่า ภาพรวมว่าการทำงานทุกอย่างของรัฐบาลขยับตามตารางภารกิจ ผลงานของรัฐมนตรีที่พรรคไปดูแลในกระทรวงที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายก็ขยับตามตารางเวลารวมทั้งภารกิจเร่งด่วน ภารกิจของผมที่กระทรวงศึกษาธิการก็เร่งทำหน้าที่และได้รับความร่วมมือจากบุคลากรในกระทรวง
อย่างการปฏิรูปการศึกษาต้องอาศัยทุกฝ่ายดำเนินการเพราะเป็นวาระแห่งชาติ มันต้องอาศัยการปรับความคิดและร่วมมือกัน แม้จะเห็นผลช้า แต่หากมั่นคงและยืนระยะยาว ส่วนตัวพอใจแบบนี้นะแม้จะโดนสังคมมองว่าเป็นรมต.โลกลืมเพราะอย่าลืมว่า ผลกำไรทางการศึกษาคือเยาวชนและประเทศในวันข้างหน้า
ขณะที่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เข้ามาทำหน้าที่ประธานยุทธศาสตร์พรรคพปชร. ก็สามารถทำให้พรรคมีความเป็นเอกภาพมากยิ่งขึ้น
“พล.อ.ประวิตรมาวางแนวทางการบริหารจัดการภายในพรรคเพื่อความเป็นเอกภาพยิ่งขึ้น ตอนนี้เดินหน้าด้วยดีและมีความชัดเจนเพราะพลเอกประวิตรอยากให้พรรคเดินหน้าด้วยความมั่นคงและสังคมตอบรับ ตอนนี้ลงตัวในหลายด้านแล้ว และยังพบว่าคนการเมืองหลายภาคส่วนสนใจมาร่วมงานกับเราทิศทางแบบนี้แสดงว่าพรรคได้รับการยอมรับจากคนการเมืองมากขึ้นและเป็นนิมิตที่ดี”
สำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้ง ผู้ว่าฯกทม. นายกอบจ. “ณัฎฐพล” ยืนยันว่า พรรคพปชร.มีความพร้อม
“สนามกทม.ยอมรับว่าเป็นสนามใหญ่ พรรคให้ความสำคัญ พรรคมีส.ส.กทม. 12 คน พรรคมีส.ส.อันดับหนึ่งในพื้นที่นี้แสดงว่าชาวกทม.ยอมรับพรรคในสนามเลือกตั้ง แต่ต้องทำงานต่อ เพราะกทม.คือเมืองหลวงที่ต้องเชื่อมโยงการทำงานกับรัฐบาลหลายด้าน และมีหลายบริบทที่ต้องพิจารณา”
ดังนั้นแม้บางคนจะทยอยเปิดตัวลงสมัครไปแล้ว แต่พรรคได้เชิญบุคคลที่มีความเหมาะสมมาหารือและพิจารณา เพราะเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งนี้เชื่อมโยงกับเลือกตั้งส.ก.ด้วย ตรงนี้ต้องทำงานกันเป็นทีมที่รู้ปัญหาภาพรวมของกทม.
“ผู้ว่าฯกทม.ต้องมีทีมงาน (รองผู้ว่าฯกทม.และส.ก.) ตรงนี้ต้องพิจารณาคนที่เหมาะสมกับห้าสิบเขตจริงๆหากไม่พร้อมเปิดตัวออกไปจะโดนตำหนิ ส่วนตัวนั้น อยากให้พรรคส่งคนและทีมงานลงแข่งขัน เพราะเชื่อมั่นและหวังว่าชาวกทม.จะพิจารณาและตอบรับ”
ขณะเดียวกันการเลือกตั้งนายกอบจ. ยืนยันว่าพรรคจะส่งแน่นอน โดยพิจารณาบุคคลที่ท้องถิ่นยอมรับทั้งอดีตนักการเมืองและคนรุ่นใหม่ที่พร้อมสานต่อนโยบายและสร้างฐานเสียงใหม่ๆของพรรคในจังหวัดนั้นๆ พรรคจะหนุนคนที่พร้อมขับเคลื่อนท้องถิ่นทั่วประเทศ เพราะตอนนี้รัฐบาลประกาศแล้วว่า
“เราต้องพัฒนาบ้านเมืองให้เข้ากับยุคไทยแลนด์4.0 ตรงนี้ท้องถิ่นมีความสำคัญที่จะทำงานร่วมกับแนวทางรัฐบาลหลายด้าน ระบบไอทีและออนไลน์มีความสำคัญในการพัฒนาบ้านเมืองแทบทุกระดับ คนที่อาสาทำงานท้องถิ่นร่วมกับพรรคต้องตอบคำถามเหล่านี้ได้ว่าจะทำอย่างไร”
สำหรับกระแสข่าวว่าไปจับมือพรรคประชาธิปัตย์ว่า หากพรรคใดส่งอีกพรรคหนึ่งจะหลีกทางให้ เพราะฐานเสียงของสองพรรคใกล้เคียงกัน เพราะหากส่งทั้งสองพรรคคะแนนจะตัดกันเองและแพ้ขั้วตรงข้าม “ณัฎฐพล” ไม่ขอตอบ
“เราไม่เคยคุยในเรื่องนี้ ตอนนี้พรรคเปิดโอกาสให้ทุกคนที่สนใจแนวทางทำงานของพรรคแสดงตัว และวิสัยทัศน์ในการทำงานเข้ามา รวมทั้งรับฟังความเห็นของชาวกทม.และสมาชิกพรรคว่าอยากพัฒนากทม.ในแนวทางใดและใครเหมาะสมเป็นตัวแทนพรรคลงแข่งขัน เพราะเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคให้เกียรติคนกทม.”
“เนื่องจากจะต้องไปทำงานให้คนกทม. 4 ปี พรรคต้องรับฟังและเลือกบุคคลที่ชาวกทม.ต้องการให้มาทำงานตรงนี้ ไม่อยากให้เกิดกระแสการหาเสียงแล้วสร้างปัญหาให้ชาวกทม. คนที่พรรคเลือกลงสมัครนั้นต้องทำงานได้ ไม่ใช่มีแค่ภาพลักษณ์ดีอย่างเดียว การส่งผู้สมัครลงรับการเลือกตั้งควรรอมติกรรมการบริหารพรรค เพราะตอนนี้กำลังพิจารณาผู้สมัครและทีมงานทั้งระบบในขั้นต้น”
ส่วนประเด็นทางการเมือง ซึ่งพรรคฝ่ายค้านเตรียมเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ภายหลังเปิดประชุมสภา “ณัฎฐพล” มองว่า เรื่องนี้จะมีการตั้งกมธ.วิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของสภาผู้แทนราษฎรอยู่แล้ว ควรรอบทสรุปนั้นจากกมธ.วิสามัญดีกว่าว่าจะเอาอย่างไร
“ส่วนตัวมองว่าวันนี้บ้านเมืองควรเร่งทำงานแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเป็นภารกิจแรก เพราะปัญหานี้เกิดขึ้นทั้งโลกและไทยได้รับผลกระทบ และเสียงสะท้อนว่ารัฐธรรมนูญคือต้นเหตุหนึ่งของปัญหาเศรษฐกิจ และหากจะหลุดจากปัญหาได้ต้องแก้รัฐธรรมนูญนั้น ตรงนี้เป็นมุมมองของนักการเมืองบางคนมากกว่า”
“ผมยังไม่ได้ยินประชาชนส่วนใหญ่บอกว่าเศรษฐกิจมีปัญหาเพราะรัฐธรรมนูญ มีแต่เสียงสะท้อนว่ารัฐบาลควรเร่งทำงาน อย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติมาแล้ว หากจะแก้ไขมันมีหลายขั้นตอนและต้องประชามติอีกครั้ง ส่วนตัวไม่ได้ขัดขวางหากสังคมส่วนใหญ่เห็นชอบว่าควรแก้ไข”
นอกจากนี้ พรรคฝ่ายค้าน จะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจครม. ภาวะเสียงปริ่มน้ำ ซึ่งอาจจะทำให้หลายคนกังวล แต่สำหรับ “ณัฎฐพล” กลับมองเป็นจุดแข็งที่พรรคร่วมรัฐบาลต้องร่วมมือ และอย่าหนีการประชุมรัฐสภา
“ผลมันเห็นแล้วในการลงมติร่างกฎหมายงบประมาณวาระแรก แม้เสียงปริ่มน้ำแต่มีความพร้อมและมั่นคง มั่นใจว่าพรรคร่วมรัฐบาลมีวินัยและเข้าใจแนวทางการทำงาน ผมไม่กังวลเรื่องรัฐบาลจะเสียงแตกนะ เพราะเชื่อว่าไม่เกิดขึ้น”