ภ.4 ยันไม่ประกาศเคอร์ฟิว เหตุถล่ม ชรบ.
โฆษกกองทัพภาค 4 ยืนยันยังไม่ประกาศใช้เคอร์ฟิวส์ ย้ำใช้กฎหมายพิเศษบางมาตรา
เวลา 09.30 น. (8 พ.ย. 62) ที่ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า ตามที่มีการนำเสนอข่าวผ่านสื่อต่างๆว่า กองทัพภาคที่ 4 ได้ประกาศเคอร์ฟิวส์ทั่วพื้นที่เพื่อตามล่ากลุ่มโจร BRN ที่ก่อเหตุสะเทือนขวัญสังหารหมู่ประชาชน 15 ศพ เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมานั้น ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้สั่งการให้บูรณาการกำลังเข้าบังคับใช้กฏหมายขั้นเด็ดขาดกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ขณะนี้อยู่ระหว่างเข้ากดดันและติดตามจับกุมในพื้นที่ต้องสงสัยในหมู่บ้านให้การสนับสนุน พื้นที่ป่าภูเขานางจันทร์ ช่วงรอยต่อ จ.สงขลา และบ้านเครือญาติ
โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 6 พ.ย. เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวบุคคลต้องสงสัยได้ 1 รายเป็นราษฎรพื้นที่ ต.ปากล่อ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับจุดที่คนร้ายก่อเหตุวางระเบิด โปรยตะปูเรือใบและเผายางรถยนต์เพื่อสกัดกั้นการเข้าช่วยเหลือ พร้อมยึดของกลางได้หลายรายการ ขณะที่หลบหนีไปซ่อนตัวที่ อ.ธารโต จ.ยะลา อยู่ระหว่างการซักถามเพื่อขยายเครือข่ายก่อเหตุที่หน่วยซักถาม หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี
อ่านข่าว-คุมเข้ม! เส้นทางร่วมงานศพ 9 ชรบ.
พ.อ.ปราโมทย์ ยืนยันว่า จะใช้มาตรการทางกฏหมายภายใต้อำนาจที่มีอยู่ด้วยความระมัดระวัง เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนต่อสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพี่น้องประชาชน ทั้งนี้ ปัจจุบันการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ภายใต้อำนาจทางกฏหมายที่มีอยู่ไม่ได้ถูกจำกัดโดยบุคคล หรือกลุ่มบุคคลจึงไม่มีเหตุผลและความจำเป็นอันใดที่จะต้องประกาศใช้เคอร์ฟิวส์ในพื้นที่ตามที่เป็นข่าว
อย่างไรก็ตามก็ต้องขอความร่วมมือกับพี่น้องประชาชนให้ช่วยกันตรวจสอบ และแจ้งเบาะแสกลุ่มคนร้ายให้เจ้าหน้าที่ทราบเพื่อเข้าดำเนินการตามกฏหมายต่อไป สำหรับบุคลคลที่คอยให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนหรือให้ที่พักพิง มีความผิดตามกฏหมายในอัตราเดียวกับฐานความผิดของผู้ก่อเหตุรุนแรง
โฆษก กอ.รมน. 4 ส่วนหน้า กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการในการรักษาความปลอดภัย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ปรับแผนให้รัดกุมมากยิ่งขึ้นด้วยการจัดเจ้าหน้าที่ทหารเข้าเสริมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน และชุมชนให้รัดกุมมากขึ้น ทั้งนี้ ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) เป็นเพียงประชาชนจิตอาสา ที่เสียสละและอุทิศตน เข้ามาช่วยกันดูแลความปลอดภัยชุมชนของตนเอง ไม่ใช่เป็นกองกำลังติดอาวุธฝ่ายพลเรือนดังที่องค์กรแนวร่วมและกลุ่มเปอร์มาส นำมาบิดเบือนเพื่อสร้างความชอบธรรมในการก่อเหตุของกลุ่มขบวนการBRN ดังที่ปรากฏให้เห็นในช่วงที่ผ่านมา