“ศึกใน”แรงกว่าฝ่ายค้าน ลุ้นปรับ ครม.หลังซักฟอก
จากกรณี 7 พรรคฝ่ายค้านเตรียมเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล “บิ๊กตู่ 2/1” เป็นครั้งแรก หลังปล่อยให้บริหารราชการมาได้ราวๆ ครึ่งปี โดยล็อควันที่ 18-20 ธ.ค.62 เอาไว้ เพื่อไม่ให้ใกล้วาระส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่มากจนเกินไป เพราะอาจไม่ได้รับความสนใจจากปชช.
จากการตรวจสอบล่าสุดของ “กรุงเทพธุรกิจ” พบว่า ฝ่ายค้านยังคงล็อคเป้าอภิปรายไปที่ “นายกฯลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พ่วงด้วยรัฐมนตรีคนอื่นๆ อีกอย่างน้อยๆ 3 คน
จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีใครทราบว่า ฝ่ายค้านจะอภิปรายใครบ้าง ยกเว้นที่แน่ๆ แล้วคือ นายกฯลุงตู่ ซึ่งต้องบอกว่ายังไงก็โดน เพราะถือว่าเป็น “กล่องดวงใจ” ของรัฐบาลชุดนี้
ในทางเปิด สังคมจะทราบตัวบุุคคลที่จะถูกอภิปราย ก็ต่อเมื่อฝ่ายค้านยื่นญัตตินี้ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ชื่อญัตติเป็นทางการว่า “ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ” ส่วนจะไม่ไว้วางใจใครบ้าง ก็ต้องเขียนมาในญัตติ พร้อมข้อกล่าวหาเบื้องต้น
เรื่องข้อกล่าวหานี้ ก็แล้วแต่จะบรรยายกัน แต่ละยุคแต่ละสมัยไม่เหมือนกัน สมัยหนึ่งพรรคการเมืองที่เชี่ยวชาญงานฝ่ายค้านมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เขียนบรรยายข้อกล่าวหานายกรัฐมนตรีในยุุคนั้นในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถึงขนาดคนถูกอภิปรายเปรยว่า “ผมไม่มีอะไรดีเลยหรือ”
ส่วนวันและเวลาอภิปราย ก็ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายค้านว่าพร้อมยื่นญัตติเมื่อใด และประธานสภาจะบรรจุวาระตอนไหน
สุทิน คลังแสง ประธานวิปฝายค้าน บอกกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า สัปดาห์หน้าจะมีความชัดเจนเรื่องการยื่นอภิปรายรัฐมนตรี ว่าเป็นใครบ้าง เพราะขณะนี้ยังอยู่ระหว่างหารือกัน ยืนยันว่าจะมุ่งเน้นไปที่ประเด็นเศรษฐกิจเป็นหลัก เพราะส่งผลกระทบต่อประเทศชาติและประชาชน โดยหลังจากเคาะรายชื่อแล้ว ก็จะลงมือเขียนญัตติ และยื่นต่อประธานสภา คาดว่าไม่เกินปลายเดือนพฤศจิกายน
ส่วนเรื่องวันอภิปรายนั้น พรรคฝ่ายค้านยังหวังไว้ให้เป็นไปตามที่กำหนด คือ 18-20 ธันวาคม เพื่อไม่ให้ใกล้ปีใหม่เกินไป และขอใช้เวลา 3 วัน แต่ก็ต้องขึ้นกับประธานสภาผู้แทนราษฎรด้วยว่าจะพิจารณาบรรจุวาระให้ในวันใด
จริงๆ แล้วตามแผนของฝ่ายค้าน จะมีการโหมโรงปูพรมถล่มรัฐบาลตลอดเดือนพฤศจิกายน ผ่านญัตติด่วน 3 เรื่อง คือ ญัตติศึกษาผลกระทบการใช้มาตรา 44 ของ คสช. ญัตติศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และญัตติรับทราบรายงานการปฏิรูปประเทศ ซึ่งจะต้องรายงานต่อสภาทุก ๆ 3 เดือน
จนถึงขณะนี้ กำลังจะผ่านครึ่งแรกของเดือนพฤศจิกายนแล้ว แต่ญัตติสำคัญที่ว่า จะปูพรมถล่มรัฐบาลยังไม่ได้พิจารณา โดยเฉพาะผลกระทบการใช้มาตรา 44 และญัตติศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะโดนเกมยื้อของรัฐบาล การประชุมสภาตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีแต่เรื่องการรับรองรายงานขององค์กรอิสระต่างๆ และการรับทราบรายงานการปฏิรูประเทศเท่านั้น จึงยังไม่สามารถสร้างกระแสอะไรได้มากมาย
สำหรับรายชื่อรัฐมนตรีที่จะถูกยื่นอภิปราย และข้อกล่าวหาของแต่ละคนนั้น เบื้องต้นยังเป็นไปตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปบ้างแล้ว คือ
- พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกฯ ข้อหาการบริหารเศรษฐกิจที่ล้มเหลว และปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตคอร์รัปชัน
- สมคิด จาตุศรีพิทักษ์รองนายกฯ ข้อหาการบริหารงานเศรษฐกิจผิดพลาด ล้มเหลว ทำให้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ กระทบกับประชาชนทั่วไป ทั้งรากหญ้าและคนชั้นกลาง
- พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดารมว.มหาดไทย ข้อหาความไม่โปร่งใสเกี่ยวกับงบบริหารงบท้องถิ่น และการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้า ซึ่งสวนทางกับผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้าบีทีเอส สภาผู้แทนราษฎร
และ 4. ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ข้อหาแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายทั้งส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจต่างๆ ในกระทรวงคมนาคม
ไล่ดูจากรายชื่อที่แย้มกันออกมา บวกกับข้อมูลที่ “กรุงเทพธุรกิจ” ตรวจสอบเพิ่มมาได้ มีแนวโน้มว่าฝ่ายจะมุ่งโจมตีปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำเป็นหลัก เพราะถือว่าโดนใจประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะรากหญ้า ที่สำคัญหากย้อนดูการอภิปรายในสภาช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจลำดับต้นๆ และสะใจเป็นพิเศษที่มีฝ่ายค้านอภิปรายแบบออกลีลาดุเดือด ก็คือ ปัญหาเศรษฐกิจ (อย่างเมื่อครั้ง ศรัณย์ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อไทย อภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา)
แต่ศึกซักฟอกหนนี้ ฝ่ายค้านจะเจาะลึกประเด็นเศรษฐกิจยิ่งกว่าเดิม คือไม่ใช่แค่กล่าวหาว่าเศรษฐกิจไม่ดี แต่จะทะลวงไปที่สาเหตุของปัญหา และการตัดสินใจทางนโยบายของรัฐบาลที่อาจมองได้ว่า “เอื้อกลุ่มทุน” กล่าวคือ กลุ่มทุนที่สนับสนุนรัฐบาลได้ประโยชน์ พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลบางพรรคก็ได้ประโยชน์ แต่คนที่เสียประโยชน์คือประชาชน โดยเฉพาะชนชั้นกลาง และรากหญ้าที่ต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำมาอย่างยาวนาน ตอกย้ำภาพความเหลื่อมล้ำให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นไปอีก
ต้องย้ำว่านี่เป็นข้อกล่าวหาของฝ่ายค้าน ส่วนจะตรงกับความจริงหรือไม่ต้องให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน
จากภาพใหญ่แบบนี้ ก็พอจะต่อจิ๊กซอว์ได้ว่า เป้าใหญ่ที่จะโดนอภิปรายแบ่งเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มแรก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ กับรองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
ซึ่งเป็นมาแล้ว 2 รัฐบาลต่อเนื่อง และมีบทบาทการตัดสินใจใน “เมกะโปรเจค” สำคัญของรัฐบาล โดยเฉพาะ “อีอีซี” ซึ่งก็มีกลุ่มทุนยักษ์บางรายได้ประโยชน์ บางรายเสียประโยชน์
ขณะที่่อีกกลุ่มหนึ่ง ได้แก่ พล.อ.อนุพงษ์ กับ ศักดิ์สยาม ซึ่งมีหน้างานและการตัดสินใจไปเกี่ยวพันกับกลุ่มทุนอีกบางกลุ่มด้วยเช่นกัน
ที่สำคัญก็คือ ศักดิ์สยาม เป็น “แฟคเตอร์ใหม่” ของรัฐบาล ไม่ได้อยู่ร่วมใน ครม.ยุค คสช.มาก่อน ฉะนั้นหน้างานของศักดิ์สยาม โดยเฉพาะการไปเปลี่ยนแปลงบอร์ดรัฐวิสาหกิจ หรือโยกย้ายข้าราชการ จึงอาจไปกระทบกับบุคคลที่เคยได้รับแต่งตั้งจากผู้มีอำนาจในรัฐบาลที่อยู่มาก่อนก็เป็นได้
ยังมีข้อสังเกตที่น่าสนใจอีก 2-3 ประเด็น ก็คือ 1. การยื่นอภิปรายหนนี้ ฝ่ายค้านจะเลือกยื่นอภิปรายนายกฯ ในฐานะ “รัฐมนตรีคนหนึ่ง” ไม่ใช่ในฐานะนายกฯที่เป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรี เพื่อให้เป็นการยื่นอภิปรายเป็นรายบุคคล ไม่ใช่ยื่นไม่ไว้วางใจ ครม.ทั้งคณะ เหตุผลก็เพื่อไม่ให้ ส.ส.รัฐบาลเกาะกลุ่มกันโหวตเพื่อให้รอดยกพวง (กรณียื่นซักฟอกทั้งคณะ ส.ส.รัฐบาลทั้งหมดก็ต้องช่วยกัน) พร้อมกันนั้นก็ยื่นอภิปรายรัฐมนตรีคนอื่นร่วมไปด้วย ซึ่งหากเสียงไม่ไว้วางใจไม่เท่ากัน ก็จะกลายเป็นแรงกระเพื่อมทางการเมือง
2.การยื่นซักฟอกของฝ่ายค้าน ตามโผที่ออกมา ไม่มีรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์เลยแม้แต่คนเดียว แต่กลับมีรัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทย เรื่องนี้สะท้อนกลยุทธ์ของฝ่ายค้านซึ่งอาจทราบมาว่า ภายในพรรคร่วมรัฐบาลอาจมีประเด็นระหองระแหง หรือมีรอยร้าวระหว่างพรรคร่วมฯด้วยกันอยู่
ถ้าหากการประเมินของฝ่ายค้านถูกต้องจริง การอภิปรายหนนี้ อาจส่งผลสะเทือนถึงปรับ ครม.ได้เลยทีเดียว โดยเฉพาะหาก “คะแนนโหวตไว้วางใจ” ที่มีต่อรัฐมนตรีบางคนต่ำกว่ารัฐมนตรีคนอื่น
ที่น่าสนใจเป็นพิเศษก็คือ สาเหตุที่ “คะแนนไว้วางใจ” ของรัฐมนตรีบางคนต่ำเป็นพิเศษ อาจไม่ใช่เพราะฝ่ายค้านอภิปราย แต่อาจเป็นผลจากความขัดแย้ง และโดน “เอาคืน” จากบางคนหรือบางพรรคการเมือง...ก็เป็นได้