'ไฟใต้' ที่ไม่จินตนาการ

'ไฟใต้' ที่ไม่จินตนาการ

เหตุฆ่าหมู่ 15 ศพคาป้อม ชรบ.ใน ต.ลำพะยา จ.ยะลา ทำให้ข่าวสารจากชายแดนใต้ฟุ้งตลบ ข้อมูลหลายอย่างปรากฏออกมาอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ แต่คำถามย้อนกลับก็คือ ข้อมูลเหล่านี้มีน้ำหนักความจริงแค่ไหน?

1.ข่าวผู้ก่อเหตุเป็นนักรบรุ่นใหม่” ที่เพิ่งผ่านการฝึก และอิมพอร์ตมาจากอินโดฯ ข่าวนี้ “กูรู” การันตีว่าไม่จริง เพราะหลักฐาน วัตถุพยานรอยเลือด และดีเอ็นเอที่พบในบริเวณที่เกิดเหตุ ชี้ไปยัง นักรบหน้าเดิม” ที่เคยก่อเหตุรุนแรงขนาดใหญ่มาแล้วหลายครั้ง

เช่นเดียวกับอาวุธปืนที่ใช้โจมตี ตรวจพิสูจน์แล้วก็เป็นปืนชุดเดียวกับที่เคยก่อเหตุในหลายพื้นที่ หลายคดีก่อนหน้า (กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงใช้ระบบ “ปืนเวียน”)

2.ข่าวบีอาร์เอ็นขยายข่ายงานด้วยการเพิ่มกำลังอีกกว่า 10,000 คน ข่าวนี้ก็ได้รับการยืนยันจากนายทหารในกองทัพภาคที่ 4 ว่าเกินจริงไปมากเช่นกัน

สอดรับกับความเห็นของ พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะนายทหารที่ศึกษาโครงสร้างบีอาร์เอ็นทะลุปรุโปร่งมากที่สุดคนหนึ่ง ที่ขยายความว่า บีอาร์เอ็นดูจะอ่อนกำลังลงด้วยซ้ำ เพราะข้อมูลล่าสุดที่ได้รับมาจากคนในขบวนการก็คือ กองกำลังอาร์เคเคปัจจุบันราวๆ ครึ่งหนึ่งขาดการติดต่อ มีเพียง 30% เท่านั้นที่พร้อมทำงาน ส่วนอีก 20% ไม่พร้อมปฏิบัติการ แต่ยังให้การสนับสนุน เพราะบางคนเพิ่งแต่งงาน หรือมีลูกอ่อน

157373853149

3.ข่าวบีอาร์เอ็นออกแถลงการณ์ยอมรับว่าเป็นผู้ลงมือโจมตีป้อม ชรบ.ที่ลำพะยา งานนี้คนในพื้นที่บอกว่า เพจบีอาร์เอ็นที่เผยแพร่แถลงการณ์เป็น"เพจไอโอ"แต่ไม่รู้ฝ่ายไหนไอโอ

ขณะที่ พล.อ.สำเร็จ หัวเราะในลำคอ และบอกว่า “ก็ฟังๆ ไป แต่อย่าไปเชื่อ” เหตุผลก็คือ บีอาร์เอ็นเป็นองค์กรลับ และมีลักษณะอนุรักษ์นิยม นโยบายชัดเจน ไม่สื่อสารผ่านสื่อทางการ และไม่พูดคุยกับรัฐบาลไทย ฉะนั้นการสื่อสารต่อสาธารณะแต่ละครั้ง จึงสรุปยากว่าเป็นของจริงหรือไม่จริง และเป็นท่าทีในนามองค์กรหรือ เฉพาะกลุ่ม

บทสรุปอย่างเป็นทางการของตำรวจภูธรภาค 9 ในฐานะเจ้าของคดี คือคนร้ายที่ปฏิบัติการที่ลำพะยา ประกอบกำลังจาก 2 กลุ่ม คือ "ทีมปัตตานี" นำโดย "พี่น้องตระกูลหลำโสะ" เคลื่อนไหวในพื้นที่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี และรอยต่อ 4 อำเภอของสงขลา จับมือกับ “ทีมยะลานำโดย นายฮูไบดีละห์ รอมือลีคุมพื้นที่ อ.ยะหา กาบัง และบันนังสตา โดยมี “กลุ่มหน้าขาวหรือที่เรียกว่า เปอร์มูดอ ที่ผ่านการอบรม และยังไม่มีประวัติในคดีความมั่นคง เป็นทีมอำนวยความสะดวก

กล่าวเฉพาะ “กลุ่มหน้าขาว” ข้อมูลจริงก็คือ ยังมีการลักลอบอบรม “เปอร์มูดอ” จนกลายเป็น “แนวร่วมหน้าขาว” อยู่ในบางพื้นที่ ก่อนจะพัฒนาไปสู่การฝึกเป็นอาร์เคเค ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ก็เพิ่งมีการฝึกชุดใหม่ราวๆ 60 คน หรือ 10 ชุด (อาร์เคเค มีชุดละ 6 คน) เพื่อทดแทนชุดที่สูญเสียจากการปะทะหรือถูกจับ

ย้อนเกล็ดไฟใต้ในระยะ 2-3 ปีหลัง “ทีมยะลา” เงียบไปเยอะ เช่นเดียวกับ “ทีมนราธิวาส” แต่กลุ่มที่ปฏิบัติการถี่กว่า และร้ายแรงยิ่งกว่า รวมถึงใช้ไอเดียใหม่ๆ ในการโจมตีคือ “ทีมปัตตานี”

คดีดังๆ ที่เชื่อมโยงทีมปัตตานี ก็เช่น คาร์บอมบ์หน้า “บิ๊กซี ปัตตานี” เมื่อ 9 พ.ค.60 คดีปล้นรถกระบะ 6 คันจากเต็นท์รถ “วังโต้ คาร์เซ็นเตอร์” ใน อ.นาทวี จ.สงขลา นำไปทำคาร์บอมบ์ เมื่อ 17 ส.ค.ปีเดียวกัน

ส่วนในปี 62 ก่อเหตุถี่ยิบยิ่งกว่า เช่น คดีโจมตีจุดตรวจ ชคต.บ้านกอแลปิเละ ต.ปะกาฮารัง อ.เมือง จ.ปัตตานี มีผู้เสียชีวิต 4 ราย เมื่อ 23 ก.ค. (หลังเกิดกรณีอับดุลเลาะ อีซอมูซอ หมดสติในค่ายทหารเพียง 3 วัน) คดีปล้นร้านทองใน อ.นาทวี เมื่อ 24 ส.ค. คดีซุ่มยิง อส.ชุดคุ้มครองตำบลนาประดู่ อ.โคกโพธิ์ จ

.ปัตตานี เมื่อ 16 ก.ย. และล่าสุดก็คือเหตุโจมตีป้อม ชรบ.ที่ลำพะยา เมื่อ 5 พ.ย.

คำถามคือ คนกลุ่มเดิมๆ นี้ หลบหนีเจ้าหน้าที่หลังก่อเหตุรุนแรงสะเทือนประเทศไปได้อย่างไร

พล.อ.สำเร็จ อธิบายว่า กลุ่มคนเหล่านี้มีพื้นที่หลบภัยบนภูเขา ยกตัวอย่าง “เขานางจันทร์” ใกล้กับจุดเกิดเหตุที่ลำพะยา เป็นรอยต่อของ อ.เมือง อ.ยะหา จ.ยะลา กับ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี และ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา เป็นพื้นที่ข่ายงานของบีอาร์เอ็นและพูโลเก่า แต่เทือกเขาแถบนี้เจ้าหน้าที่ไม่ค่อยขึ้นไปปฏิบัติการเหมือนกับแถบนราธิวาส เช่น เขาตะเว ทำให้คนร้ายอาจใช้เป็นแหล่งกบดาน โดยมีแนวร่วมคอยส่งเสบียงอาหาร

ขณะที่ข้อมูลจากนายทหารระดับสูงที่เกาะติดพื้นที่ บอกว่า คนเหล่านี้มีหมู่บ้านที่เรียกว่า ซัพพอร์ต ไซต์” (support site)ใช้สำหรับหลบซ่อนกบดานเป็นการเฉพาะ เช่น ใน อ.นาทวี และ สะบ้าย้อย จ.สงขลา ซึ่งหมู่บ้านเหล่านี้เป็นแนวร่วม แต่เจ้าหน้าที่อาจยังเข้าไม่ถึง 100%

สอดรับกับ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ ที่เปิดเผยเองเลยว่า ผู้ก่อความไม่สงบตัวหลักๆ หลบอยู่ตามบ้านซึ่งดัดแปลงเป็น “ที่หลบภัย” ไปพร้อมกัน เช่น มีห้องลับในบ้าน มีชั้นใต้ดิน มีที่หลบใต้ซิงค์ล้างจาน 

กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า คัดกรองหมู่บ้านต้องสงสัยที่เป็นแหล่งเคลื่อนไหวกบดานของผู้ก่อความไม่สงบได้ 118 หมู่บ้าน มีการจัด “ชุดปฏิบัติการจรยุทธ์เข้าไปปฏิบัติการ แต่ยังไม่ทันจะเห็นหน้าเห็นหลัง ก็มาเกิดเหตุที่ลำพะยาเสียก่อน โดยหมู่บ้านที่ตกเป็นเป้าหมายอยู่นอกบัญชี 118 หมู่บ้าน!

นี่คือโจทย์ใหญ่ของฝ่ายความมั่นคงที่จะต้องสกัดจับ “กลุ่มหน้าเดิม-แกนนำตัวเอ้” ทั้งหลายให้ได้ โดยใช้เครื่องมือทั้งหมดที่มีอยู่

เช่นเดียวกับโศกนาฏกรรมที่ป้อม ชรบ. ถึงเวลาแล้วที่ต้องนำความจริงมาพูดกันว่า ช่องโหว่ช่องว่างที่นำไปสู่การถูกโจมตี เกิดจากอะไรกันแน่ โดยไม่ควรปิดบังข้อมูล หรือเกรงใจกัน เพราะนี่คือเดิมพันด้วยชีวิตคน!