ศาลเพิ่มคอร์ทมาแชล 1,180 นาย ปี 63 เข้มความปลอดภัย
“เลขาศาลยุติธรรม” ประชุมมาตรการปลอดภัย พร้อมยกมาตรฐานเทียบเท่าสนามบิน เตรียมติด CCTV ในห้องพิจารณา 2,112 ห้องทุกศาลทั่วประเทศภายใน ม.ค.- มี.ค.63
เมื่อวันที่ 19 พ.ย.62 ที่ห้องประชุมสำนักงานศาลยุติธรรม ชั้น 12 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เวลา 13.00 น. นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เป็นประธานการประชุมผ่านสตรีมมิ่ง (Streaming การนำเสนอข้อมูลภาพ-เสียง ระบบออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ต) กับ ผอ.ประจำศาล และสำนักงานประจำศาลทั่วประเทศ โดยมี นายปุณณพัฒน์ มหาลี้ตระกูล ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจําสํานักประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานคณะกรรมการวางระบบรักษาความปลอดภัย สำนักงานศาลยุติธรรม , นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เข้าร่วมประชุมด้วย
นายสราวุธ กล่าวในที่ประชุมว่า ตั้งแต่เหตุการณ์ที่ศาลจังหวัดยะลาจนถึงศาลจังหวัดจันทบุรี ตนได้ส่งเจ้าพนักงานตำรวจศาล หรือคอร์ทมาแชล (Court Marshal) ลงตรวจในพื้นที่พร้อมให้ทำรายงานส่ง โดยได้นำรายงานดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) และที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม (ก.ศ.) แล้ว และในวันจันทร์ที่ 25 พ.ย.นี้ จะรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ด้วย
สำหรับเรื่องมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัย ก็ได้กำชับ พร้อมออกมาตรการ หนังสือเวียนไปยังศาลทั่วประเทศเกี่ยวกับมาตรการรักษาความปลอดภัย 30 กว่าข้อเพื่อที่จะใช้เป็นแนวทางทำงานร่วมกันระหว่างกรมราชทัณฑ์-ตำรวจ โดยจะอัพเดตมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมผู้ต้องหา/จำเลย ซึ่งกรุงเทพฯ ทั้ง 16 ศาลจะมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ดูแลทั้งหมด สำหรับศาลต่างจังหวัดจะมีตำรวจในพื้นที่สังกัด สตช. ควบคุมผู้ต้องหา/จำเลยที่มาศาล ที่ผ่านมาบางครั้งมาตรการอาจจะหย่อนยานหรือเกิดปัญหาขัดข้องเราจึงต้องมีการประสานงานและเข้มงวดมากขึ้น ส่วน รปภ.ที่มาจากองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกฯ (อผศ.) จะต้องมีการกำชับให้มีความกระตือรือร้นมากขึ้นโดยวันเสาร์ที่ 30 พ.ย.นี้ ได้เชิญ พล.ต.อ.สุเทพ เดชรักษา อดีตรอง ผบ.ตร. ซึ่งเป็นกรรมการ ก.ศ. มาให้การอบรมบทบาทหน้าที่การรักษาความปลอดภัยอาคารสถานที่ รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยมาช่วยอบรมเรื่องการตรวจค้นวัตถุอันตราย ที่จะใช้มาตรฐานเดียวกับสนามบินด้วย
นายสราวุธ กล่าวด้วยว่า ก่อนการประชุมนี้ ตนได้เรียกประชุมคอร์ทมาแชล ถึงบทบาท ตาม พ.ร.บ.เจ้าพนักงานตำรวจศาลฯ ซึ่งมาตรา 5 (1) บัญญัติให้มีหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อย และรักษาความปลอดภัยบุคคล-ทรัพย์สินในบริเวณศาล ซึ่งถือเป็นภารกิจที่สำคัญและเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการก่อนเรื่องอื่น โดยหลังจากที่เกิดเหตุหลายครั้งตนให้แต่ละศาลไปสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลความปลอดภัย ทั้งเรื่องอุปกรณ์/สถานที่/บุคคล/ระบบในการบริหารจัดการ เพื่อจะประมวลสถานการณ์เครื่องมืออุปกรณ์ และปัญหาเชิงกายภาพว่าจะต้องแก้ไขอะไรบ้าง ซึ่งในส่วนของอัตรากำลังคอร์ทมาแชล ขณะนี้ ก.ศ. มีมติอนุมัติให้มีประจำทุกศาลทั่วประเทศแล้วกำหนดกรอบอัตรากำลัง 1,180 คน ซึ่งเพิ่มจากจำนวนเดิมตั้งไว้ 309 นาย โดยให้ดำเนินการภายในปีงบประมาณ ปี 2563 ทั้งนี้ช่วงแรก ตนจะดำเนินการเพิ่มอัตรากำลังคอร์ทมาแชล ให้ได้ 100 อัตราก่อนภายในวันที่ 1 เม.ย.63 โดยเรื่องงบประมาณ สำนักงานศาลฯ จะขอแปรญัตติที่เคยของบประมาณไว้สำหรับตำรวจศาล 309 อัตราแล้วไม่ได้รับการจัดสรร ซึ่งสำนักงานศาลฯ จะของบประมาณจากรัฐบาล 540 ล้านบาท ภายในพรุ่งนี้ (20 พ.ย.)
โดย เลขาสำนักงานศาลยุติธรรม ยังได้กล่าวกำชับเรื่องการเผยแพร่ภาพจากกล้องวงจรปิดด้วยซึ่งก่อนหน้านี้ที่ประชุม ก.ต.ให้ข้อสังเกตไว้ว่ามีการนำข้อมูลเหล่านั้นไปเผยแพร่ต่อสาธารณชนทำให้มีผลในการบังคับใช้กฎหมาย จึงขอให้มีการแจ้งไปยังหน่วยงานอื่นๆให้กำชับด้วยว่าการนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณชนต้องรับผิดชอบด้วย ทั้งนี้สำหรับเรื่องกล้องวงจรปิดนั้นเราจะติดตั้งกล้อง CCTV ในห้องพิจารณาทั้งสิ้นจำนวน 2,112 ห้อง ขณะนี้ได้เริ่มติดตั้งไปแล้วในศาลจังหวัดนนทบุรี , ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนนทบุรี, ศาลแขวงนนทบุรี โดยกำชับว่าต้องแล้วเสร็จภายในเดือน ม.ค.63 หรืออย่างช้าจะต้องไม่เกินเดือน มี.ค. 63 ส่วนกล้องวงจรปิดหน้าห้องพิจารณาก็ให้ตรวจสอบว่าใช้งานได้หรือไม่ หากกล้องมีปัญหาต้องรีบซ่อมแซมอย่างไรก็ดีหลังจากเกิดเหตุในศาลหลายจังหวัด ตนขอชมเชยศาลจังหวัดบึงกาฬ , ศาลจังหวัดอ่างทอง และ ศาลจังหวัดเกาะสมุยด้วยที่รายงานการตรวจค้นอาวุธอันตรายมา ซึ่งตอนนี้ตนได้ตั้ง LINE กลุ่มของการรักษาความปลอดภัยเพื่อยกระดับมาตรฐาน หากมีปัญหาข้อขัดข้องใดสามารถแจ้งมาที่ศูนย์รักษาความปลอดภัยสำนักงานศาลยุติธรรมได้ทันที
ด้าน นายปุณณพัฒน์ ประธานคณะกรรมการวางระบบรักษาความปลอดภัย สำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า การจัดสรรเจ้าพนักงานตำรวจศาล หรือคอร์ทมาแชลเพิ่มเติมเราไม่ได้รับจากตำรวจหรือทหารเพียงอย่างเดียว แต่มีการให้ยื่นแบบโยกย้ายเพิ่มเติมโดยให้ข้าราชการศาลยุติธรรมที่มาดำรงตำแหน่งยื่นเข้ามาได้ แต่ต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในระเบียบ ถ้าหากได้ย้ายมาก็จะมีการฝึกอบรมแบบเข้มข้นและได้ไปปฏิบัติหน้าที่ทุกศาลทั่วประเทศ
ขณะที่ นายสุริยัณห์ โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงหลักการรายงานข้อมูลให้มาถึงส่วนกลางอย่างรวดเร็วว่า ปกตินอกจากการรายงานผ่านโปรแกรมภายในสำนักงานศาลยุติธรรม หรือการพิมพ์รายงานสถานการณ์ที่ทำเป็นรูปแบบ หากเป็นกรณีเร่งด่วนหรือฉุกเฉิน ขอให้ลดขั้นตอน โดยให้รีบรายงานมายังตนโดยตรงทันที ทั้งทาง LINE หรือโทรศัพท์ แล้วหลังจากนั้นจึงรายงานเป็นรูปแบบตามมาอีกครั้ง ซึ่งเราต้องเน้นความรวดเร็วเนื่องจากต้องบริหารความเสี่ยงที่เกิดขึ้น รวมถึงทราบปัญหาและหาทาแก้ไขได้อย่างทันท่วงที