กรรมาธิการพาณิชย์​ฯ​ เสนอถ่ายทอดสดดีเบต​ 3​ สารเคมี​

กรรมาธิการพาณิชย์​ฯ​ เสนอถ่ายทอดสดดีเบต​ 3​ สารเคมี​

กรรมธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญาเสนอ​ ให้เลื่อนการแบนสารเคมีออกไปก่อน  และให้จัดเวทีสาธารณะถ่ายทอดสดดีเบตข้อมูลทั้งสองฝ่าย พิสูจน์ความจริงว่าสารเคมีดังกล่าวเป็นอันตรายและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่จนได้ข้อยุติร่วมกัน

ช่วงเช้า​ ที่กระทรวง​อุตสาหกรรม​ นายอันวาร์ สาและ​ ประธานกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา​ รัฐสภา​ ยื่นหนังสือ​ เรียกร้องให้เลื่อนการแบน​ 3​ สารเคมีเกษตร​ ต่อนายสุริยะ​ จึงรุ่งเรือง​กิจ​ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุต​สาหกรรม​ ในฐานะประธาน​คณะกรรมการ​วัตถุ​อันตราย​

นายอันวาร์​ บอกว่า​ การที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย ปรับการควบคุมวัตถุอันตราย พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นชนิดที่ 4 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พศ 2562 ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดความรุนแรงทางสังคมขึ้นมาทันทีโดยฟากฝั่งเกษตรกรทั่วประเทศได้ออกมาร้องขอความเป็นธรรมจากรัฐบาล ในเรื่องการหยุดแบน 3 สาร อย่างต่อเนื่อง จนเมื่อ
วันที่ 26 พฤศจิกายน พศ. 2562 ได้เกิดม็อบตัวแทนเกษตรกรเดินขบวนเพื่อยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาให้ยับยั้ง ทบทวน ชะลอ และยุติการแบน 3 สาร เนื่องจากเกษตรกรนั้นได้รับความเดือดร้อนจากการครอบครอง และถูกงดการใช้ 3 สารดังกล่าว

ทางคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา ได้เห็นถึงประเด็นปัญหาของการแบน 3 สารนี้มาตลอด และได้ทำการพิจารณา ตรวจสอบเรื่องนี้ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับต้นทุนทางการเกษตร ที่เกษตรกรทั้งประเทศ เผชิญกับปัญหาดังกล่าวมาก่อนหน้านี้ ซึ่งทางคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา ได้ให้ความช่วยเหลือ พิจารณาเรื่องนี้อย่างละเอียด รอบคอบ ถี่ถ้วน และครบทุกด้านอย่างเป็นธรรม

และพบความจริงว่าการแบน 3 สารเคมีเกษตรดังกล่าว ขาดมาตรการที่ดีก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประเทศในหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตรกร, ภาคการค้าขายของชุมชน, ภาคการค้าภายในประเทศ และส่งออก รวมถึงนำเข้า, ภาคผู้บริโภค, ภาค
อุตสาหกรรมเกษตร, ภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากผลิตผลเกษตร รวมถึงที่สำคัญคือ ความสัมพันธ์ทางการค้าระดับประเทศ และข้อตกลงทางการค้าโลก ที่ประเทศไทยอาจจะละเมิดกติกาสากล ซึ่งทางคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประเมินมูลค่าไว้ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านล้านบาท

และจุดสำคัญของการดำเนินการแบน 3 สารดังกล่าว โดยขาดมาตรการรองรับที่ดี ทางคณะกรรมาธิการฯ พบว่าอาจไม่สอดคล้องกับ รัฐธรรมนูญปี พศ. 2560 มาตรา 73 ที่ว่า รัฐพึงจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่ช่วยให้เกษตรกรประกอบเกษตรกรรมได้อย่งมีประสิทธิภาพ ได้ผลผลิตที่มีปริมาณและคุณภาพสูงมีควมปลอดภัยโดยใช้ต้นทุนต่ำ และสามารถแข่งขันในตลาดได้ และพึงช่วยเหลือเกษตรกรผู้ยากไร้ให้มีทำกินโดยการปฏิรูปที่ดินหรือวิธีอื่นใด

ในฐานะประธานกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญาได้เสนอแนะทางออก เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมดังนี้ คือ​ ภาครัฐควรจัดเวทีสาธารณะถ่ายทอดสดเพื่อให้มีการนำข้อมูลของฝ่ายที่ต้องการแบน 3 สารเคมีเกษตรกับฝ่ายที่ต้องการให้แบน 3 สารเคมีเกษตร มาเผยแพร่ เพื่อพิสูจน์ความจริงให้เห็นว่า สารเคมีเกษตรดังกล่าวนั้น มีความปลอดภัย ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรืออาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในด้านใดบ้าง โดยใช้หลักการทำงานแบบวิจัยและหลักฐานเชิงวิทยาศาสตร์ อย่างถูกต้องและถูกวิธีการ และเมื่อเกิดขัดแย้งทางสังคมเช่นนี้ ทางรัฐบาลควรดำเนินการอย่างเร่งด่วน และเป็นธรรมต่อแก่ทั้ง 2ฝ่าย เพื่อพิสูจน์ความจริงเพื่อคลี่คลายความสงสัยของสังคม