โหวตตั้งกมธ. “ฝ่ายค้าน” ล่มสภาฯ รัฐพลาดเกม-พ่ายเสียง?

 โหวตตั้งกมธ. “ฝ่ายค้าน” ล่มสภาฯ รัฐพลาดเกม-พ่ายเสียง?

สภาฯล่ม 2 วันติดต่อกัน ส่งสัญญาณ พรรคร่วมรัฐบาล อยู่ในอาการง่อนแง่น สะท้อนภาพ ส.ส. ไม่หนุน “รัฐบาลเรือเหล็ก” เสียทุกเรื่อง ทำเอา “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม ออกอาการไม่แฮปปี้

วาระร้อนญัตติของตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศและคำสั่งของ คสช. และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 ที่เสนอโดย ปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่

โดยในสัปดาห์ก่อนมีดีลลับจาก แกนนำพรรคเพื่อไทยขอให้ ปิยบุตร-อนาคตใหม่ถอนวาระดังกล่าว เพื่อหลีกทางให้เร่งพิจารณาวาระขอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ได้พิจารณาเร็วยิ่งขึ้น แต่ ปิยบุตร-อนาคตใหม่ ไม่ยอมถอนวาระ

ในที่สุด จึงมีการอภิปรายวาระตั้ง กมธ.ศึกษาคำสั่ง คสช. ลากมาจนถึงขั้นตอนโหวตยกแรก ผลปรากฏว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้ง กมธ.ชุดดังกล่าว 236 เสียง ไม่เห็นชอบ 231 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง

ทว่า “บิ๊กรัฐบาล” ส่งสัญญาณผ่านมายัง “วิรัช รัตนเศรษฐ” ประธานกรรมการในคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) ไฟต์บังคับห้ามตั้ง กมธ.ศึกษาคำสั่ง คสช.โดยเด็ดขาด เพราะลำพัง กมธ.ชุดอื่น ก็เล่นงาน “คสช.-บิ๊กเหล่าทัพ” จนอ่วมแล้ว

เมื่อโหวตแพ้ “วิรัช” จำเป็นต้องรับหน้าเสื่อพลิกเกมให้โหวตใหม่ โดยอาศัยของบังคับการประชุมข้อที่ 85 หากผลคะแนนโหวตห่างกันไม่เกิน 25 เสียง เปิดโอกาสให้นับคะแนนใหม่ได้ “วิรัช” เดินเกมหารือ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร หลังบัลลังก์ประธานสภา

เกลี้ยกล่อมให้ “ชวน” ยอมนับคะแนนใหม่ แม้ช่วงแรก “ชวน” จะพยายามให้ “วิรัช” ยอมให้ตั้ง กมธ.ศึกษาคำสั่งคสช. เพราะเห็นว่าแค่ตั้ง กมธ. คงไม่มีอำนาจอะไรมากนัก แต่ “วิรัช” ผู้มีคดีทุจริตโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอล ซึ่ง ป.ป.ช.ส่งสำนวนให้อัยการฟ้องร้องดำเนินคดี ยังยืนยันขอนับคะแนนใหม่

ชวนซึ่งเคร่งครัดระเบียบการประชุม หากมีช่องให้ดำเนินการได้ก็จะยึดตามระเบียบ จึงยอมถอยให้นับองค์ประชุมใหม่ ซึ่งเข้าทาง ขั้วฝ่ายค้านที่รอป่วนให้เกิดกระแสเสี้ยมให้ ขั้วรัฐบาลแตกร้าวกันเอง

เพราะชำแหละเสียงโหวต 236 ต่อ 231 งดออกเสียง 2 ปรากฏว่า มี ส.ส.33 คน ไม่ได้ร่วมโหวต ประกอบด้วย พรรคร่วมรัฐบาล 18 คน ได้แก่ พลังประชารัฐ 8 คน ประชาธิปัตย์ 6 คน ภูมิใจไทย 3 คนชาติไทยพัฒนา 1 คน ขณะที่เป็นฝ่ายค้าน 15 คน ได้แก่ เพื่อไทย 10 คน อนาคตใหม่ 2 คน เศรษฐกิจใหม่ 1 คน เสรีรวมไทย 1 คน ประชาชาติ 1 คน

ที่สำคัญมี 6 ส.ส.ปชป. โหวตสวนพรรคร่วมรัฐบาล ยกมือให้ตั้ง กมธ.ศึกษาคำสั่งคสช. ประกอบด้วย สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง อันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี เทพไท เสนพงษ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช กันตวรรณ ตันเถียร ส.ส.พังงา ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ส.ส.ตาก และพนิต วิกิตเศรษฐ์ บัญชีรายชื่อ

ซึ่งทั้ง 5 คน เป็นกลุ่มที่สนิทสนมกับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่ “สาทิตย์” จำเป็นต้องยกมือหนุนให้ตั้ง กมธ. เพราะเป็นหนึ่งในคนที่เสนอญัตติดังกล่าว

มีรายงานว่า ก่อนลงมติโหวต “วิรัช” ปิดห้องหารือกับ “แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล” ทุกพรรค ซึ่งตกลงกันว่าจะโหวตไม่ให้ตั้ง กมธ.ศึกษาคำสั่งคสช. โดยพรรค ปชป.แจ้งว่าจะมี 6 ส.ส.ปชป. โหวตให้ตั้ง กมธ.ชุดดังกล่าว ซึ่งวิปรัฐบาลรับรู้ความเคลื่อนไหว ตกลงกันได้เคลียร์กันลงตัว นับยอดแล้วไม่น่าจะมีปัญหา

 

แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อ 18 ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้เข้าร่วมโหวต ส่งผลให้พลิกแพ้โหวตแบบไม่คาดคิด พลันจะดีล งูเห่าสีส้ม-สีแดงก็ไม่ทันการณ์ จึงต้องพลิกเกมให้โหวตใหม่ บรรดา แกนนำฝ่ายค้านรู้ทันหากโหวตใหม่มีหวังพลิกกลับมาแพ้ จึงต้องยื้อล้มการประชุม

ช่วงค่ำวันที่ 27 พ.ย. มีดีลกันอีกรอบ โดย “แกนนำเพื่อไทย” ส่งสัญญาณผ่าน “วิรัช” ว่าในการประชุมช่วงเช้าวันที่ 28 พ.ย. จะอยู่ร่วมนับองค์ประชุมให้ เพื่อให้การโหวตตั้งหรือไม่ตั้ง กมธ.ศึกษาคำสั่งคสช. ผ่านพ้นไปเสียที เพราะการตั้งกมธ.ดังกล่าวไม่ใช่ เกมหลัก-เป้าหลัก ของพลพรรคเพื่อไทย

ทว่าดีลกลับล่มในช่วงเช้าวันที่ 28 พ.ย. เพราะ “แกนนำเพื่อไทย” หวังขอเรียกราคาเล่นเกมเสี้ยมอีกสักยก ไม่อยู่นับองค์ประชุมให้ ทำให้สภาล่มครั้งที่ 2 ภายใน 2 วัน ปั่นภาพลักษณ์เชิงลบให้ “ขั้วรัฐบาล” เพราะถือว่าไม่สามารถควบคุมองค์ประชุมได้เอง

อย่างไรก็ตามการประชุมสภาวันที่ 4 ธ.ค. พรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องอยู่นับองค์ประชุม เพื่อให้โหวตตั้งหรือไม่ตั้ง กมธ.ศึกษาคำสั่งคสช. เพื่อให้จบเรื่องสิ้นราว และมติโหวตคงไม่มีพลิกเหมือนครั้งก่อน โอกาสที่จะตั้ง กมธ.ศึกษาคำสั่งคสช. มีน้อยมาก

อย่างน้อยหาก “แกนนำพปชร.” ไม่มั่นใจว่า พรรคปชป.จะมาไม้ไหน จะเทคะแนนหมดหน้าตัก หรือ 6 ส.ส.ปชป. ยืนยันโหวตสวน รอบนี้ก็ตีตั๋วซื้อ “งูเห่าสีส้ม-สีแดง” เอามายกมือให้อุ่นใจเอาไว้ก่อนได้ แล้วค่อยเชือด พรรคร่วมรัฐบาล เอาทีหลัง

กลเกมในสภาเข้มข้นขึ้นทุกวัน เสียงปริ่มน้ำทำให้ ขั้วรัฐบาลพลาดเกม-พ่ายเสียง มากยิ่งขึ้น หากคุมเสียงไม่ได้ โอกาสที่สภาจะล่มซ้ำซากมีสูง เพราะ ขั้วฝ่ายค้านจ้องเล่นเกมเสี้ยม เพื่อให้ป่วนจนยากต่อการบริหารงาน...