โพลชี้ประชาชนห่วง 'วิ่งไล่ลุง' ทำเศรษฐกิจตกต่ำลงไปอีก

โพลชี้ประชาชนห่วง 'วิ่งไล่ลุง' ทำเศรษฐกิจตกต่ำลงไปอีก

"ซูเปอร์โพล" ชี้ประชาชนมอง ส.ส.ทำงานไม่คุ้มเงินภาษี ห่วง "วิ่งไล่ลุง" ทำเศรษฐกิจตกต่ำลงไปอีก

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ข้อกังวลของประชาชน กับ วิ่งไล่ลุง กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ผ่าน “เสียงประชาชนในโลกโซเชียล” (Social Media Voice) ด้วยระบบ Net Super Poll จำนวน 9,825 ตัวอย่าง และ “เสียงประชาชนในสังคมดั้งเดิม” (Traditional Voice) จำนวน 1,162ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 22 พฤศจิกายน – 7 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา

เมื่อถามความเห็นของประชาชนต่อความคุ้มค่าเงินภาษีประชาชนกับการทำงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.9 ระบุ ไม่คุ้มค่าเลย ในขณะที่ร้อยละ 22.1 ระบุ คุ้มค่าแล้ว

อย่างไรก็ตาม ที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อถามถึงข้อกังวลจะเกิดเหตุขัดแย้งรุนแรงบานปลายของคนในชาติเกิดจลาจลเหมือนบางประเทศ เศรษฐกิจตกต่ำลงไปอีก จากกลุ่มเคลื่อนไหว วิ่งไล่ลุง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.8 กังวล เพราะ มีทั้งฝ่ายหนุนฝ่ายต้าน จะเผชิญหน้ากัน เศรษฐกิจกำลังแย่จะแย่ลงไปอีก ไม่ดีเลยแบบนี้ มีแต่แพ้ สุดท้ายประชาชนนั่นแหละคือผู้แพ้ บ้านเมืองจะวุ่นวาย ประเทศชาติเดินต่อไปไม่ได้ หยุดชะงักไปหมด เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 37.2 ไม่กังวล เพราะ ไม่ยุ่งเกี่ยว ไม่คิดว่าจะมีใครซ้ำเติมประเทศอีก รัฐบาลน่าจะควบคุมได้อยู่ และคิดว่าไม่น่าจะมีอะไร เป็นต้น

นายนพดล กล่าวด้วยว่า ผลการสำรวจ “เสียงประชาชนในโลกโซเชียล” (Social Media Voice) ผ่านระบบ Net Super Poll พบว่า กลุ่มเคลื่อนไหว วิ่งไล่ลุงกำลังเข้าถึงคนในโลกโซเชียลทั้งหมด 3,309,588 คน หรือ สามล้านกว่าคน แต่มีคนที่สนใจพูดถึง กลุ่มเคลื่อนไหว วิ่งไล่ลุงในโลกโซเชียลจำนวน 28,956 คน หรือ เกือบสามหมื่นคน อย่างไรก็ตาม เสียงตอบรับเชิงลบมีอยู่ร้อยละ 56.7 ในขณะที่เสียงตอบรับเชิงบวกมีร้อยละ 43.3

“นอกจากนี้ สิ่งที่ค้นพบในเครือข่ายกลุ่มเคลื่อนไหว “วิ่งไล่ลุง” คือ กลุ่ม “เดินเชียร์ลุงตู่” มีการนัดหมายรวมตัวกันต้นปีหน้า ที่กรุงเทพ และมีชื่อพรรคการเมือง ชื่อนักการเมือง ชื่อนักเคลื่อนไหวทางการเมือง จึงน่าเป็นห่วงเพราะนักการเมืองที่ดีเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยต้องเป็นแกนนำในการลดความขัดแย้งของคนในชาติ หรือนำเอาความขัดแย้งไปแก้ไขกันในระบบสภาฯ ไม่ใช่เป็นต้นตอแห่งความขัดแย้งเสียเอง และยังค้นพบด้วยว่ามีการใช้ถ้อยคำเชิงจิตวิทยาที่อาจจะทำให้เกิดการคล้อยตามเป็นพฤติกรรมหมู่ (Collective Behavior) ออกมาเผชิญหน้ากันได้ระหว่างฝ่ายต้านและฝ่ายสนับสนุนในสัดส่วนพอ ๆ กัน ดังนั้น ถ้าไม่มีวิธีบริหารอารมณ์สาธารณชนที่ดี หรือไม่เร่งทำอะไรบางอย่างเพื่อตัดไฟแต่ต้นลมอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเมืองและความไม่ปกติสุขของประชาชนได้” ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าว 

157577925086