'ทางรอด-ทางเลือก' อนาคตใหม่

'ทางรอด-ทางเลือก' อนาคตใหม่

พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 15 มี.ค.2561 มีอายุ 1 ปี 9 เดือน สร้างเซอร์ไพรส์ทางการเมืองด้วยการลงสนามเลือกตั้งครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562 แต่กวาด ส.ส. เข้าสภาฯ ถึง 80 ที่นั่ง

กระแส อนค.ฟีเวอร์ สร้างแรงสั่นสะเทือนทางการเมือง ขนาดพรรคเพื่อไทย (พท.) ยังต้องยอมหลีกทาง ส่งชื่อ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรค อนค. เข้าชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีสู้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้จะพ่ายแพ้อย่างขาดลอย แต่เป็นหมากที่เพิ่มความนิยมให้ “ธนาธร” ได้ไม่น้อย

5 เดือน ในสภาผู้แทนราษฎรของ อนค. ที่มี ปิยะบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรค นำทีมลูกพรรคสีส้ม เดินตามอุดมการณ์ของตัวเอง พลิกโฉมสภาฯไทย เลือกเล่นเกมเสี่ยง แหกธรรมเนียมปฏิบัติจนถูกทำนายว่าอนาคตของ อนค.หนีไม่พ้นการถูกยุบพรรค

ปมยุบพรรคมาจากกรณีที่ “ธนาธร” อนุมัติให้ อนค.กู้ยืมเงินมาใช้ในกิจการพรรค วงเงินกว่า 191 ล้านบาท ซึ่งไม่ได้มีระบุไว้ใน พ.ร.บ.พรรคการเมือง มาตรา 62 ว่าสามารถกระทำได้หรือไม่ ทำให้ อนค.ตีความว่า สามารถกู้เงินมาดำเนินการกิจการพรรคได้

ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีความเห็นว่า การที่ “ธนาธร” อนุมัติเงินให้ อนค.กู้ยืม ขัดต่อ พ.ร.บ.พรรคการเมือง เพราะพรรคการเมืองไม่สามารถกระทำการที่นอกเหนือจากที่ พ.ร.บ.พรรค

การเมือง กำหนดเอาไว้ได้ จึงส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค อนค.ทันที

หลังจากนี้ ต้องรอขั้นตอนของศาลรัฐธรรมนูญ จะเรียก กกต.-อนค. ไปให้ปากคำในชั้นศาล เพื่อสอบสวนพยานและหลักฐานของทั้งสองฝ่ายในช่วงใด และพยานหลักฐานของฝ่ายใดจะหนักแน่นมากกว่ากัน

หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดไม่ยุบพรรค อนค.ก็เพียงแค่พ้นบ่วงกรรมไปเพียงแค่ 1 คดี แต่ยังมีอีกหลายคดีที่จ่อคอหอยอยู่ โดยเฉพาะคดีหุ้นสื่อที่ กกต.นำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปวินิจฉัยต่อ หากพบว่า ธนาธร รู้ว่าขาดคุณสมบัติ แต่ยังรับรองให้สมาชิกพรรคลงสมัครรับการเลือกตั้ง ก็เข้าข่ายยุบพรรคอีกคดี

นอกจากนี้ ยังมีคำร้องของ บุญถาวร ปัญญาสิทธิ์ และ สุรวัชร สังขฤกษ์ ที่ยื่นให้ กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรค อนค.กรณีมีพฤติการณ์เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หลังใช้วาทกรรมสานต่อภารกิจคณะราษฎร 2475

ดังนั้นหาก พรรคอนค. รอดพ้นจากคดีเงินกู้ 191 ล้านบาท ก็ยังมีหลายคดีให้ลุ้นต่อ และหากศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดให้ยุบพรรค อนค. จะทำให้กรรมการบริหารพรรค 10 คน(ใน 15 คน) พ้นสภาพความเป็น ส.ส.และถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5-20 ปีทันที ส่วน ส.ส.พรรคอนค. ต้องหาพรรคการเมืองสังกัดภายใน 60 วัน

แม้ “ธนาธร-ปิยะบุตร” จะเตรียมทางหนีทีไล่ให้ลูกพรรคย้ายสังกัดพรรคการเมืองที่จัดเตรียมเอาไว้ แต่ยังติดปัญหาอยู่ที่ หากไปยึดหัวหาดพรรคการเมืองที่มีอยู่ในลิสต์ของ กกต.แต่ไม่ใช่พรรคการเมืองที่มี ส.ส.อยู่ในสภาจะสามารถกระทำได้หรือไม่ ซึ่งสุดท้ายแล้ว คงหนีไม่พ้นที่จะต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความอีก

ทางเลือกของ “ธนาธร-ปิยะบุตร” จึงถูกขีดให้แคบลง เมื่อพรรคอะไหล่-พรรคสำรอง สุ่มเสี่ยงที่จะถูกยื่นตีความ ทางเลือกจึงมีเพียงพรรคร่วมฝ่ายค้านที่บรรดา ส.ส.พรรค อนค. จะเลือกไปร่วมหัวจมท้ายด้วย แต่จะมีพรรคไหนจริงใจกับ “ธนาธร-ปิยะบุตร”

ตัวเลือกที่มีความเป็นได้มากที่สุดคือ "พรรคเพื่อไทย" แต่ ส.ส.พรรค อนค.จะถูกผลักให้ไปอยู่ภายใต้ร่มเงาของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ทันที ทำให้ยากต่อการเคลื่อนไหว และ“ธนาธร-ปิยะบุตร” ก็ยากที่จะควบคุมทิศทางของพรรคเพื่อไทยได้

ลำพังพรรคเพื่อไทยที่มีหลายก๊ก-หลายก๊วน ก็สู้รบกันเอง จนไม่สามารถบริหารพรรคให้เดินไปในทิศทางเดียวกันได้ จึงยากที่ ส.ส.พรรค อนค.จะพาเหรดกันเดินเข้าสังกัดพรรคเพื่อไทย

ขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน อาทิ พรรคประชาชาติ (ปช.) , พรรคเพื่อชาติ (พช.) น่าจะมีความเป็นไปได้มากกว่า เพราะมี ส.ส.ไม่มาก สามารถควบคุมให้เดินไปในทิศทางเดียวกันได้ โอกาส ส.ส.แตกแถว แม้จะมีอยู่บ้างแต่ก็น้อยกว่าที่จะไปอยู่รวมกันที่พรรคเพื่อไทย

ส่วนพรรคเสรีรวมไทยที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย นั่งกุมบังเหียนอยู่ บรรดา ส.ส.ฝ่ายค้าน รู้ดีว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ยากที่จะควบคุม เพราะมีความเป็นตัวเองสูง หากลูกพรรคไม่ซ้ายหัน-ขวาหันตาม ก็มีโอกาสโดนเฉดหัว

นอกจากนี้ ยังต้องจับตา ส.ส.พรรคอนค. ที่จะไปร่วมงานกับพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งมีไม่น้อยเช่นกัน แม้จะไม่ตรงดิ่งไปที่พรรคพลังประชารัฐ แต่ให้จับตาพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา ที่อาจจะถูกนำมาฝากเลี้ยงเอาไว้ โดยทั้งภูมิใจไทยและชาติไทยพัฒนายินดีต้อนรับ ส.ส.ไร้สังกัด เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับตัวเองในการอยู่ร่วมชายคากับพรรคพลังประชารัฐอยู่แล้ว

 

  • ปมเสี่ยง “รุ่นเก่า-รุ่นใหม่” ขัดแย้ง

ทวี สุรฤทธิกุลอาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) มองว่า ผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ เป็นคนรุ่นใหม่ กลุ่มใหญ่ในสังคมไทยที่มีพรรคอนาคตใหม่เป็นพื้นที่หลัก การยุบพรรคที่จะเกิดขึ้น จะส่งผลต่อกลุ่มคนเหล่านี้รู้สึกเคว้งคว้าง ถูกตัดขาดจากทางการเมือง กลายเป็นผลเสียต่อการเมืองไทยโดยภาพรวม ด้วยความที่ผู้สนับสนุนพรรคนี้ เป็นอนาคตของประเทศ ในขณะที่คนรุ่นเก่าค่อยๆ ถอยห่างออกไปจากทางการเมือง แต่เมื่อตัวแทนถูกกีดกัน จะส่งผลการขาดช่วงของคนเหล่านี้

แม้พรรคอนาคตใหม่จะถูกยุบ แต่พื้นที่ทางการเมืองก็คงไม่หมดสิ้นไป คนของพรรคยังสามารถจัดตั้งขึ้นมาใหม่ หรือจากข่าวที่ปรากฏถึงการจดจัดตั้งพรรคการเมืองสำรองไว้แล้ว ก็เชื่อว่าสมาชิกพรรคจะสามารถกลับมารวมตัวกันได้อีก อาจไม่เท่ากับจำนวนเดิมหลังการเลือกตั้ง แต่อย่างน้อย 40-50 คน ที่จะมารับช่วงการทำงานทางการเมือง เพื่อเป็นแกนให้กับคนรุ่นใหม่

ส่วนอีกภาพที่อาจเกิดขึ้นคือ การแข่งขันทางการเมือง ที่แน่นอนว่าการยุบพรรคส่งผลให้พรรคอนาคตใหม่มีพลังลดถอยลง ซึ่งจะส่งผลต่องานสภาฯ ที่จะอ่อนแอ การตรวจสอบ ควบคุมการทำงานของรัฐบาลที่เป็นอีกหน้าที่สำคัญ นอกเหนือไปจากการเป็นตัวแทนของประชาชนในการร่วมกันตรากฎหมาย และนั่นจะส่งผลต่อพลังการทุจริตที่จะมีความเข้มแข็งมากขึ้น เกิดการคอร์รัปชันในอำนาจ หลังต้องขาดคนตรวจสอบรัฐบาล แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะเปิดใจกว้างเพียงใด

“หลังพรรคอนาคตใหม่ ที่ต้องสูญเสียพื้นที่ทางการเมืองในสภาฯ แต่การเคลื่อนไหวนอกสภาฯ ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ที่จะมีความเข้มข้น ดุเดือด และรุนแรงมากจนอาจกลายเป็น Cyber War ที่มีการปลุกกระแสความเกลียดชังที่มีต่อรัฐบาลให้ขยายออกไป หรืออาจกลายเป็นสงครามทางอุดมการณ์ระหว่าง Generation เกิดเป็นความแตกแยกทางสังคมออกเป็น 2 ส่วน เช่นที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศนิวซีแลนด์ จากความขุ่นเคืองของคนรุ่นเก่าที่มีต่อคนรุ่นใหม่”