‘กล-เกม’แก้รัฐธรรมนูญ ขบเหลี่ยมเฉือนคม-ปมซ่อนเงื่อน

‘กล-เกม’แก้รัฐธรรมนูญ ขบเหลี่ยมเฉือนคม-ปมซ่อนเงื่อน

“ปี่กลอง”แก้รัฐธรรมนูญดังขึ้นอีก1ยก หลังจากที่สภาฯผู้แทนราษฎร มีมติท่วมท้น445เสียง เห็นชอบตั้ง “49อรหันต์” ในการทำหน้าที่แก้รัฐธรรมนูญฉบับ2560 โดยทั้ง49คนเวลา120วันในการดำเนินการให้แล้วเสร็จ

สำหรับประเด็นที่น่าจะมีการถกเถียงอย่างดุเดือด เพราะถือเป็นหัวใจสำคัญและเป็นที่มาของการตั้งกมธ.ในครั้งนี้ หนีไม่พ้นการ “สะเดาะห์กุญแจ” ดอกแรก นั่นคือ บทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งถูกออกแบบไว้ให้สามารถแก้ไขได้ยาก

แม้กระทั่ง “ปรมจารย์” อย่าง “มีชัย ฤชุพันธุ์” ในฐานะผู้คุมทีมร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ยังเอ่ยปากในทำนองว่า “ต่อให้ฉีกแล้วไปร่างใหม่70 เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องลอกจากรัฐธรรมนูญ 2560เพราะมันเป็นแพทเทิร์นของรัฐธรรมนูญไปเสียแล้ว”

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ทั้งพรรคร่วมรัฐบาลอย่าง “ประชาธิปัตย์” รวมถึงพรรคฝ่ายค้านอย่าง “พรรคเพื่อไทย” จะหยิบยกเรื่องนี้มาเป็นจุดขายเป็นอันดับแรก  ซึ่งสิ่งที่ทั้ง2พรรคเห็นค่อนข้างตรงกันนั่นคือการ“ปลดล็อก” ในมาตรา 256 ที่กำหนดกลไกแก้ไขที่ “ซับซ้อนซ่อนเงื่อน” 

ทั้งการใช้เสียงสนับสนุนจากส.ส.และส.ว. ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของทั้ง2สภา คือ375 เสียงจาก750เสียง และในจำนวนนี้ต้องใช้เสียงส.ว. ไม่น้อยกว่า1ใน3หรือ84เสียง 

นอกจากนี้ในขั้นตอน การให้ความเห็นชอบในวาระสาามจะต้องมีส.ส.จากพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน

ไม่เพียงแค่นั้น ในมาตราเดียวกัน ยังมีอีก1ด่าน “ซูเปอร์ล็อก” นั่นคือ ขั้นตอนก่อนนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ที่ให้สิทธิส.ส.หรือ ส.ว.หรือทั้งสองสภารวมกัน จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของแต่ละสภาหรือทั้งสองสภารวมกัน เข้าชื่อเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐหรือไม่ หรือเป็นเรื่องที่ต้องทำประชามติก่อนหรือไม่

ต้องไม่ลืมว่า เมื่อเสียงของส.ว.ถูกนำมาเป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ไข ขณะเดียวกันส.ว.ยังมาจากการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และเป็นบันไดสำคัญที่ทำให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก้าวเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 

หากต้องแก้กติกาที่อาจสุ่มเสี่ยงหรือมีผลโดยตรงต่อต่อเสถียรภาพของพล.อ.ประยุทธ์ ลองคิดกันเล่นๆว่า จะสามารถทำได้โดยง่ายหรือไม่? 

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงนำไปสูู่อีกหนึ่งประเด็นที่ถูกหยิบมาพูดถึงนั่นคือ “การล้างมรดกคสช.” ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการได้มาของส.ว.ทั้งในชุดเปลี่ยนผ่าน5ปีที่ให้มาจากการคัดสรรโดยคสช. และชุดจริงที่มาจากการสรรหาทั้ง250คน หมิหนำซ้ำ ส.ว.ทั้ง2ชุดยังมีอำนาจในการโหวตนายกฯอีกด้วย

ยังไม่รวมมรดกคสช.ชิ้นถัดมาคือ การรองรับอำนาจคสช.รวมถึงคำสั่งมาตรา44 ซึ่งถูกระบุไว้ในบทเฉพาะกาลมาตรา272และมาตรา279

ดังนั้นกลเกมของฝ่ายค้านโดยเฉพาะ“พรรคเพื่อไทย”และ“พรรคอนาคตใหม่” จึงต้องพุ่งไปที่การล้างมรดก รวมถึงตัด“เส้นเลือดใหญ่”ของคสช.ให้ได้ เพราะไม่เช่นนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้มีการแก้ไขมาตราอื่นๆ ก็จะทำได้ยากเช่นกัน

โดยเฉพาะการการแก้ไข “ระบบเลือกตั้ง” รวมถึงการรื้อสูตรคำนวณส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ใหม่ เพราะหากดูผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุด จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทย ถือเป็นพรรคที่ได้รับผลกระกระทบจากการคำนวณส.ส. ซึ่งผู้ออกแบบเรียกว่าเป็นระบบที่ “ทุกเสียงเสียงไม่ตกน้ำ” ไปแบบเต็มๆชนิด “ไร้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์” 

จนทำให้แกนนำพรรคตกงานกันยกแผง จึงไม่แปลกที่จะเห็นพรรคเพื่อไทยออกตัวในเรื่องนี้มากกว่าพรรคอื่นๆ ต่างจากบางพรรคที่ได้ส.ส.ไปชนิด “ส้มหล่น” อย่างไม่น่าเชื่อ 

เกมของเพื่อไทยในขณะนี้จึงอยู่ที่การให้รื้อระบบเลือกตั้งที่ใช้อยู่ให้ได้ ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นฝั่งเพื่อไทยที่ถูกตัดเส้นเลือดใหญ่เสียเอง...

ขณะที่ฟากฝั่งพลังประชารัฐ ในฐานะแกนนำรัฐบาลแม้จะบอกว่า รัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขได้ทุกเมื่อ  แต่หากยังจำกันได้ก่อนหน้านี้แกนนำพรรค อาทิ“สมศักดิ์ เทพสุทิน” ก็เคยยอมรับเองว่า“รัฐธรรมนูญดีไซน์มาเพื่อพวกเรา”

เช่นเดียวกับฟากฝั่งส.ว.ที่มีหลายคนออกมาพูดถึงเรื่องนี้ว่าากมีการแก้ไขประเด็นที่ไปริดลอนอำนาจส.ว.จะไม่ร่วมมือด้วยแน่นอน

อ่านเกม“พลังประชารัฐ”ตอนนี้ จึงดูเหมือนว่า ตกอยู่ในสภาวะเล่นตามน้ำเพื่อลดแรงเสียดทาน ทั้งจากพรรคร่วมอย่างประชาธิปัตย์ที่ยื่นเงื่อนไขนี้เมื่อครั้งร่วมรัฐบาล เพื่อรักษารักษาสัมพันธภาพที่ดีไว่ก่อน

ขณะเดียวกันยังถือเป็นการลดแรงเสียดทาน จากสังคมและพรรคการเมืองขั้วตรงข้ามที่อาจหยิบยกประเด็นนี้มาเป็นเป้าโจมตี เนื่องจากเมื่อครั้งที่มีการแถลงนโยบายรัฐบาลเรื่องดังกล่าวถูกบรรจุไว้ในนโยบายเร่งด่วนข้อที่ 11 

ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “สนับสนุนให้มีการศึกษา การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และดำเนินการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ”

ดังนั้น “กล-เกม” ของพลังประชารัฐและรัฐบาลหลังจากนี้จึงต้องจับตาไปที่ “ภารกิจ120วัน49อรหันต์” ที่น่าจะมีการปะ-ฉะ-ดะที่เข้มข้นพอสมควร

 โดยเฉพาะชื่อของ “พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค” ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งเพิ่งออกจากพรรคประชาธิปัตย์เพื่อมาเป็นหนึ่งในกุนซือของ “บิ๊กตู่” และยังเป็นเป็นเต็งหนึ่งที่ฝากฝั่งรัฐบาลส่งมาเพื่อนั่งตำแหน่งประธานกมธ. ว่าวันว่า“พีระพันธ์” ลาออกจากประชาธิปัตย์มาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ

ด้วยความเก๋าเกมทางการเมือง บวกกับลูกล่อลูกชนต่างๆพปชร.จึงมั่นใจว่าพีระพันธุ์น่าจะสามารถคุมเกมการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อยู่หมัด

ฟากฝั่งฝ่ายค้านก็ใช้ว่าจะไร้คนมีฝีมือเสียที่เดียว เพราะเท่าที่ดูหลายรายชื่อล้วนเป็นปรมจารย์ด้านกฎหมายและการเมือง ไม่ว่าจะเป็นชัยเกษม นิติสิริ, โภคิน พลกุล,ยงยุทธ ติยะไพรัช,ปิยบุตร แสงกนกกุล หรือ ชำนาญ จันทร์เรือง เป็นต้น งานนี้เรียกได้ว่าสู้กันมันหยดอย่างแน่นอน!

“ปี่กลอง” ยกนี้ยังถือว่าเป็นแค่ยกเริ่มต้น คงต้องจับตายกต่อไปในอีก120วันข้างหน้า ฟังซุ่มเสียงจากทางฝ่ายค้านล่าสุดหลายคนออกมาทวงถามความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับทางรัฐบาล พร้อมยอมรับว่าลำพังฝ่ายค้านซึ่งเป็นเสียงข้างน้อยในกมธ.คงทำอะไรไม่ได้มาก

“กล-เกม” แก้รัฐธรรมนูญหลังจากนี้คงต้องจับตาต่อไปยาวๆ เชื่อได้เลยว่ากว่าจะครบ120วันยังมี “เกมขบเหลี่ยมเฉือนคม-ปมซ่อนเงื่อน”จาก2ฝั่งออกมาให้เห็นอยู่เรื่อยๆแน่นอน!!