'ผบ.ทร.' หารือ 'ศร.ชล.' กำชับให้ระวังการใช้งบฯ จัดซื้อ- จัดจ้าง
"ผบ.ทร." หารือ "ศร.ชล." กำชับให้ระวังการใช้งบฯ จัดซื้อ-จัดจ้าง หลังเหลือเวลาแค่ 8 เดือนในการใช้จ่าย ย้ำทุกหน่วยอย่าบกพร่องแก้ปัญหาประมงผิด กม.จนได้ใบเหลืองซ้ำอีก
เมื่อวันที่ 15 ม.ค.63 ที่หอประชุมกองทัพเรือ พล.ร.อ. ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.)ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศร.ชล) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ครั้งที่ 1 ประจำปีงบประมาณ 2563 เพื่อให้คณะกรรมการฯ ได้รับทราบสถานการณ์ทางทะเล ความก้าวหน้าในการจัดทำร่างอนุบัญญัติแผนประจำปีราชการประจำปีงบประมาณ 2563 และพิจารณาการจัดทำงบประมาณและแผนปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ 2564
ตลอดจนพิจารณาร่างอนุบัญญัติที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของคณะกรรมการบริหารศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ประกอบพิจารณาพระราชบัญญัติการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ.2562 ตามที่คณะอนุกรรมการจัดทำ อนุบัญญัติฯนำเสนอ เพื่อเป็นการขับเคลื่อนกลไกของศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลให้มีความพร้อมในการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางทะเลภายใต้พระราชบัญญัติการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล 2562 ตลอดจนอำนวยการและประสานงาน ในการจัดการกับภัยคุกคามและปัญหาความมั่นคงทางทะเล ตามโครงสร้างใหม่ของศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล โดยมีหลายหน่วยงานเข้าร่วม เช่น กรมประมง กรมเจ้าท่า ตำรวจน้ำ เป็นต้น
ทั้งนี้ พล.ร.อ.ลือชัย กล่าวภายหลังการประชุมว่า เป็นการประชุมครั้งแรกในปีงบประมาณนี้ เพื่อรับทราบผลการทำงานในรอบปีที่ผ่านมา และรับทราบสถานการณ์ทางทะเลที่ผ่านมาและแนวโน้มในอนาคต และขณะนี้ ศร.ชล.มีงบประมาณเป็นของตนเองแล้ว แม้จะไม่มากนัก เพราะฉะนั้นการใช้จ่ายต้องระมัดระวัง เพราะเข้าสู่ตามกระบวนการตามกฎหมายอย่างสมบูรณ์หลังพระราชบัญญัติการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลมีผลบังคับใช้ ไม่ใช่ของศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.)อีกต่อไป ดังนั้นต้องระมัดระวังในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง อีกทั้งหากหน่วยงานใดใช้งบประมาณไม่ทันสิ้นปีเงินก็จะตกน้ำไปได้ เพราะเหลือเวลาใช้แค่ 8 เดือนเท่านั้นหลังจากงบประมาณคลอดออกมา
นอกจากนั้น ที่ประชุมได้รับทราบว่าร่างกฎหมาย 9 ฉบับจะต้องพิจารณาเพื่อเสนอครม.ไม่เกินเดือนมี.ค.นี้ วันนี้ผ่านไปได้แค่ 3 ข้อบังคับ แต่อีก 5 ระเบียบยังไม่ผ่าน เพราะมีบางเรื่องต้องเติมเต็ม และตกผลึกก่อนจะเห็นชอบ รวมทั้งได้แจ้งกรอบงบประมาณในปี 2564 ว่าเป็นอย่างไร และให้หน่วยงานไปทบทวนว่าจะเสนออะไร ตรงไหนต้องแก้ไข แล้วค่อยเสนอมาซึ่งยังอยู่ในกรอบเวลาที่กำหนด
เมื่อถามว่า จะบูรณาการหลายหน่วยงานที่มาร่วมกันทำงานกับ ศร.ชล.อย่างไรให้ไปสู่เป้าหมายเดียวกัน พล.ร.อ.ลือชัย กล่าวว่า ได้ย้ำว่าแม้จะเป็นชื่อเดิม แต่อำนาจใหม่ จากเดิมเป็นแค่ศูนย์ประสานงานมาเป็นศูนย์อำนวยการแล้ว แม้หน่วยงานต่างๆ จะปฏิบัติหน้าที่ของตนเองอยู่แล้ว แต่ส่วนใดที่เกี่ยวกับการบูรณาการก็จะเป็นอำนาจหน้าที่ของ ศร.ชล. ปีนี้จะเข้มข้นขึ้นเพราะหน่วยงานต่างๆ จะส่งบุคลากรมาประจำ ทำให้ง่ายต่อการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
ส่วนการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมายหรือไอยูยูนั้น ได้ย้ำว่า ศปมผ.สลายไปแล้ว และแปรสภาพเป็นส่วนหนึ่งของ ศร.ชล. เพราะ ศร.ชล.มีหน้าที่กว้างกว่าในการรักษาผลประโยชน์ทางทะเลกว้างใหญ่มหาศาล 24 ล้านล้านบาทต่อปี เพราะฉะนั้นกิ่งหนึ่งของ ไอยูยู เป็นแค่ส่วนหนึ่งของการปฏิบัติงานของ ศร.ชล.เท่านั้น อย่างไรก็ดีได้ย้ำเตือนว่าอย่าเกิดข้อบกพร่องให้เกิดใบเหลืองขึ้นอีก