แนะ 'รบ.' เข้มมาตรการคุมรายจ่าย เลิกมาตรการลดหย่อนภาษี-ลดจำนวนขรก.
กมธ.ศึกษาร่างกม.งบฯ63 แนะ “รบ.” เข้มมาตรการคุมรายจ่าย เลิกมาตรการลดหย่อนภาษี-ลดจำนวนขรก. เร่งใช้งบลงทุนเพื่ออนาคต
ขณะที่การปรับโครงสร้างทางรายได้ของรัฐบาล ได้เสนอ 3 แนวทาง คือ ยกเลิกการลดหย่อนภาษีที่ไม่มีความจำเป็น, สร้างแนวทางเพิ่มสัดส่วนรายได้ของท้องถิ่นในระยะยาวต่อรายได้รัฐบาล เพื่อให้ท้องถิ่นเข้มแข็งและปรับโครงสร้างภาษีอากรให้ครอบคลุมฐานภาษีที่ครบถ้วน ทั้ง รายได้ ฐานการบริโภค ฐานทรัพย์สิน ที่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
ข้อเสนอแนะต่อแนวทางการบริหารจัดการงบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพ อาทิ เร่งรัดรายจ่ายด้านการลงทุน เช่น ส่งเสริมเร่งรัดโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน, พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับอนาคต นอกจากกนั้นรัฐบาลต้องมีมาตรการควบคุมสัดส่วนรายจ่ายไม่ให้เพิ่มขึ้น อาทิ คุมอัตรากำลังของข้าราชการ, ปรับลด หรือจำกัดการขยายตัวของบุคลากรภาครัฐอย่างเคร่งครัด และทบทวนโครงการจัดอบรมที่ซ้ำซ้อน, เร่งรัดกระบวนการตั้ง ควบรวม หรือยุบเลิกเงินทุนหมุนเวียนที่มีภารกิจซ้ำซ้อน
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า กมธ.ฯ ยังมีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจ อาทิ กระทรวงกลาโหม ให้เน้นการประชาสัมพันธ์การทำงานของหน่วยงาน, เน้นงานวิจัย และพัฒนาด้านอาวุธ แทนการนำเข้าจากต่างประเทศ, กระทรวงการต่าางประเทศ หากพบกรณีที่ที่ใช้ต่างประเทศเป็นฐานโจมตีประเทศไทย ผ่านสื่อต่างๆ ควรมีมาตรการป้องกันเชิงลึกในการประสานงานกับประเทศที่ถูกใช้เป็นฐานการโจมตี ให้รับทราบข้อเท็จจริง รวมถึงติดตามประเด็นที่โจมตีเพื่อชี้แจงอย่างทันท่วงที
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประเด็นการห้ามใช้สารเคมีอันตราย 3 สาร คือ พาราควอต, คอร์ไพรีฟอส และ ไกลโฟเซต ต้องใช้งบประมาณสูง กรมวิชาการการเกษตรควรมีข้อแนะนำการใช้และให้ใช้สารเคมีดังกล่าวจนหมดก่อนประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม เพราะสารเคมีดังกล่าวหากใช้ถูกต้องจะไม่เป็นอันตราย หรือกรณีไม่ต้องการให้ใช้สารเคมีดังกล่าวภายในประเทศ ควรเปิดโอกาสให้ส่งออกไปยังประเทศที่ไม่มีข้อห้ามการใช้ จนหมด ก่อนออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อประหยัดงบประมาณ หากออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมโดยไม่แจ้งทราบล่วงหน้าอย่างเหมาะสม จะทำให้เกษตรกรได้รับความเสียหาย ฐานเป็นผู้ถือครองวัตถุที่ผิดกฎหมาย ขณะที่งบประมาณของกรมส่งเสริมการเกษตรซึ่งถูกปรับลด ต้องใช้งบเพื่อการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติเพื่อสร้างนวัตกรรมและพัฒนาให้เป็นเกษตรอัจฉริยะ
หน่วยงานของศาล เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ควรอธิบายคำวินิจฉัยคดีสำคัญให้ประชาขนทราบ เพื่อป้องกันการให้ข่าวที่บิดเบือน หรือ ให้ข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วน จนสร้างความเข้าใจผิดและสร้างความสับสนใจสังคม.