เรียกถก คกก.กองทุนฟื้นฟูฯ แก้หนี้ช่วยเกษตรกร อนุมัติงบฯ 2.3 พันล้าน

เรียกถก คกก.กองทุนฟื้นฟูฯ แก้หนี้ช่วยเกษตรกร อนุมัติงบฯ 2.3 พันล้าน

รองโฆษก รบ. เผย "จุรินทร์" เรียกถกเรียกถก คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูเกษตรกร ลุยแก้หนี้ช่วยเกษตรกร รักษาที่ดินทำกินและบ้าน อนุมัติงบฯ กองทุน 2.3 พันล้านบาท

เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 63 ณ ทำเนียบรัฐบาล นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการแก้ปัญหาหนี้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฯ เพื่อรักษาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย มีโอกาสได้พักฟื้น ฟื้นฟูในการประกอบอาชีพ โดยอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ของกองทุนฟื้นฟูฯ จำนวน 2.3 พันล้านบาท คิดเป็นงบฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จำนวน 518 ล้านบาท และเป็นงบเพื่อการจัดการหนี้ของเกษตรกรที่เป็นหนี้จากการทำเกษตรกรรม จำนวน 1.3 พันล้านบาท เป้าหมาย 2,700 ราย


ที่ประชุมยังพิจารณาเห็นชอบร่างระเบียบคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดการทรัพย์สินหลักประกันของเกษตรกรที่ได้มีการจำหน่ายจ่ายโอนเพื่อการชำระหนี้ เพื่อแก้ปัญหาของกองทุนฯ คือ 1) ไม่สามารถซื้อทรัพย์ที่หลุดจำนองหากถูกขายก่อนที่เกษตรกรจะขึ้นทะเบียนแก้หนี้กับกองทุนฟื้นฟู และ 2) ซื้อได้เฉพาะการขายทอดตลาดผ่านสำนักงานบังคับคดี ซึ่งระเบียบใหม่จะให้อำนาจคณะกรรมการจัดการหนี้เกษตรกรเจรจาซื้อทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันหนี้ของเกษตรกรที่ถูกขายเพื่อการชำระหนี้โดยเจ้าหนี้ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงิน หรือบุคคล ทรัพย์สินที่ซื้อคืนนี้จะตกเป็นของกองทุนฟื้นฟูฯ


นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า นายจุรินทร์ ได้สั่งการให้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรไปทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกรสมาชิกกองทุนฯ ร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงบประมาณ สมาคมธนาคาร ซึ่งแนวทางที่เสนอมาจากการหารือสามฝ่าย (เกษตรกรลูกหนี้ สมาคมธนาคาร คณะกรรมการจัดการหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ) คือ ให้กองทุนฯชำระหนี้แทนเกษตรกร (สมาชิกกองทุนฯ) โดยชำระเงินต้นร้อยละ 50 ส่วนเงินต้นอีกร้อยละ 50 และดอกเบี้ยพร้อมส่วนสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับสถาบันเจ้าหนี้ (ถ้ามี) สถาบันเจ้าหนี้จะได้รับการชดเชยจากรัฐบาล ในขณะที่เกษตรกรต้องทำแผนฟื้นฟูและทยอยจ่ายคืนกองทุนฯ เมื่อได้ข้อสรุปในการประชุมครั้งหน้า 24 ก.พ. นายจุรินทร์ จะนำเสนอต่อค.ร.ม.เพื่อพิจารณา จำนวนเกษตรกรที่อยู่ในกลุ่มรอการปรับโครงสร้างหนี้เร่งด่วน 4.6 หมื่นคน มูลหนี้ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท