เปิด 6 ประเด็นถาม-ตอบข้อกฎหมาย, ฟาร์มไก่ ส.ส. ปารีณา รุกป่า หรือ สปก.
“วิษณุ” ระบุ การตีความของกฤษฎีกา ปรับใช้ได้กับการครอบครองที่ดิน สปก. ผิดกฎหมายทั่วประเทศ
รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย นายวิษณุ เครืองาม ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องที่กรมป่าไม้ทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ถามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในกรณีฟาร์มไก่ของส.ส. ปารีณา ไกรคุปต์ ที่เป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า อยู่ในที่ดินรัฐประเภทใดกันแน่ และใครควรจะเป็นผู้ดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งในเบื้องต้นพบว่า อยู่ในป่าฝั่งซ้ายของแม่น้ำภาชี จังหวัดราชบุรี ที่กรมป่าไม้ส่งมอบให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)ไปปฎิรูปแจกจ่ายให้เกษตรกรผู้ยากไร้เข้าทำประโยชน์นั้น
นายวิษณุ ได้สรุปข้อพิจารณาและความเห็นของ สคก. ในประเด็นสำคัญที่ชี้ว่า พื้นที่ทับซ้อนทางกฎหมายลักษณะดังกล่าวมีสถานะทางกฎหมายอย่างไรว่า เกณฑ์ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาใช้ ประกอบกับที่เคยมีคำพิพากษาของศาลฎีกา เมื่อปี 2558 คือ ที่ดินที่เป็นป่าไม้ที่ส่งมอบมาเพื่อปฏิรูปฯ จะเปลี่ยนไปเป็นที่ดินของส.ป.ก. ก็ต่อเมื่อ:
1.มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตพื้นที่
2.คณะรัฐมนตรีจะต้องมีมติว่า ที่ดินแปลงนั้นเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปฯ
3.ส.ป.ก. จะต้องมีการออกแผนงานปฏิรูปสำหรับที่ดินแปลงนั้น
4. ได้มีงบประมาณสำหรับการเข้าไปดำเนินการปฏิรูป
ซึ่งนายวิษณุกล่าวว่า ถ้าครบทั้ง 4 ข้อดังกล่าว ที่ดินแปลงนั้นก็จะตกเป็นที่ดินของ ส.ป.ก. และพ้นสภาพจากการเป็นป่าสงวนทันที แต่ถ้ายังไม่ครบใน 4 ข้อดังกล่าวก็จะยังเป็นพื้นที่ป่าสงวน
“สมมติว่า มีที่ดินทั้งหมด 682 ไร่ เฉพาะแปลงที่ได้ดำเนินการครบตามคุณสมบัติ 4 ข้อ นี้เท่านั้น แปลงอื่นที่ยังไม่ได้ดำเนินการครบ แม้จะคลุมเครือหรือเข้าข่าย ก็ยังไม่เป็นการเพิกถอนพื้นที่ป่าสงวน หลักสำคัญมีอยู่แค่นี้ ดังนั้น กรมป่าไม้จึงต้องนำกลับไปพิจารณาว่า ที่ดินของแต่ละบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าข่ายอยู่แค่ไหน ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ตอบ เพราะเขาไม่ใช่ผู้วินิจฉัยคดี” นายวิษณุกล่าว โดยยกตัวอย่างถึงขนาดพื้นที่ฟาร์มไก่ของ ส.ส. ปารีณาที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในเวลานี้
โดยข้อกล่าวหาการบุกรุกที่รัฐของ ส.ส.ปารีณา เกิดขึ้นเมื่อมีการตรวจสอบในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พบว่า ฟาร์มไก่เกือบ 700 ไร่นี้ ตั้งอยู่ในเขตปฎิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ป่าฝั่งซ้ายของแม่น้ำภาชีที่กรมป่าไม้ส่งมอบให้ทาง ส.ป.ก.เอามาปฏิรูปฯ แต่กลับมีประเด็นข้อกฎหมายที่คุลมเครือไม่ชัดเจนถึงสถานะที่แท้จริงของที่ดินว่า ยังเป็นป่าหรือเป็นที่ดิน ส.ป.ก. โดยสมบูรณ์แล้ว ซึ่งจะส่งผลต่อการดำเนินคดีตามกฎหมายต่อ ส.ส. ปารีณา แตกต่างกันไป โดยกฎหมายป่าไม้จะมีความเข้มข้นกว่าพร้อมโทษจำคุก นำมาซึ่งการส่งตีความข้อกฎหมายดังกล่าว (สคก.ตีความว่า ยังเป็นป่าสงวนแห่งชาติอยู่/ อ่าน: 6 ประเด็น ถาม-ตอบ ข้างล่าง)
นอกจากนี้ ยังมีที่ดินป่าไม้ข้างเคียงอีกกว่า 40 ไร่ ที่กรมป่าไม้ตรวจสอบและพบว่าเป็นการบุกรุกป่า จึงดำเนินคดีแยกอีกหนึ่งคดีไปแล้ว
นายวิษณุกล่าวอีกว่า คำถามใหญ่ที่กรมป่าไม้ต้องการถาม สคก.มากที่สุดน่าจะเป็นเรื่องที่ว่า กรมป่าไม้หรือ ส.ป.ก. ที่จะเป็นผู้ที่มีอำนาจเข้าไปดำเนินคดี ซึ่งนายวิษณุกล่าวว่า คำตอบในข้อนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบแล้วว่า เป็นอำนาจของทั้งสองฝ่าย เพียงแต่ ส.ป.ก.ไม่มีอำนาจจับเพราะไม่ได้เป็นเจ้าพนักงาน กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจในการจับ ดังนั้น จึงจับใครไม่ได้ แต่กรมป่าไม้มีอำนาจจับได้ โดยเฉพาะถ้าที่ดินนั้นเป็นที่ดินป่าไม้
อย่างไรก็ตาม ก็ต้องไปดูว่าแต่ละคนได้ครอบครองที่ดินมาตั้งแต่เมื่อไหร่ และ ส.ป.ก.เข้าดำเนินการในที่ดินดังกล่าวในขั้นขนาดไหนแล้ว นายวิษณุระบุ
นายวิษณุยังกล่าวอีกว่า การตั้งคำถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นคำถามที่ใช้กับในหลายๆกรณี ไม่ใช่เฉพาะกรณีที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้เท่านั้น เพราะฉะนั้น คำตอบบางอย่างใช้กับกรณีที่เป็นข่าวอยู่ในปัจจุบันได้ แต่กรมป่าไม้มีการถามไปประมาณ 5-6 ข้อ บางข้ออาจจะไปใช้กับกรณีอื่นๆด้วย เรื่องนี้ต้องให้กรมป่าไม้เป็นผู้พิจารณาเพราะเป็นองค์กรที่เป็นผู้สงสัย
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากกรมป่าไม้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งจะต้องรื้อทั้งประเทศหรือไม่และอาจจะก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้น นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องนี้กรมป่าไม้จะต้องเป็นผู้พิจารณาว่าจะทำอย่างไร
นายวิษณุ ยังได้กล่าวถึงการเข้าไปตรวจสอบที่ดินอีกครั้งของเจ้าหน้าที่ในวันนี้ว่า เนื่องจากคราวที่แล้ว ส.ส. ปารีณาได้ทำหนังสือแจ้งว่า ได้ส่งมอบพื้นที่ดินคืน แต่มีเงื่อนไขว่า “ถ้าหากมีการจัดที่ดินให้กับเกษตรกร ก็ขอให้ดิฉันก่อนนะคะ” ทาง ส.ป.ก. ก็บอกว่าตั้งเงื่อนไขเช่นนี้ไม่ได้ ก็ถือว่ายังไม่ได้ส่งมอบคืน และพอแจ้งกลับไป น.ส.ปารีณาก็ทำหนังสือแจ้งกลับมาว่า “ขอส่งมอบให้โดยไม่มีเงื่อนไข” ก็เท่ากับว่าเป็นการส่งมอบแล้ว ส่วนจะเป็นการส่งมอบจริงหรือไม่จริงทาง ส.ป.ก.ก็ต้องเข้าไปในพื้นที่เพื่อดูว่ามีอะไรตรงไหนอย่างไร และทำอะไร แต่ปรากฏว่า เข้าไปแล้วเจ้าตัวไม่ยอมมาชี้เขต เจ้าหน้าที่จึงเข้าไม่ได้และไม่กล้าเข้า จึงนัดใหม่ในวันเดียวกันนี้
“อย่างไรก็ตาม เจ้าของที่ดินจะต้องมาชี้เขต ถ้าไม่มาชี้หรือไม่มาบอกก็เท่ากับว่าคุณยังไม่ได้คืนที่ดิน” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า ส.ส.ปารีณา สามารถมอบตัวแทนไปได้ แต่ถ้าไม่ไปชี้เขตและไม่ได้มอบหมายใคร ก็มีความผิดในฐานะไม่ให้ความร่วมมือในเรื่องดังกล่าว มีความผิดตามพระราชบัญญัติ ส.ป.ก.มาตรา 47 และประมวลกฏหมายที่ดินมาตรา 9 เป็นความผิดฐานไม่ให้ความร่วมมือ ขัดขวางโดยการนำชี้หลักเขต แต่ไม่ใช่เรื่องการบุกรุก เพราะกฎหมาย ส.ป.ก. ไม่มีโทษอาญา มีโทษฐานเดียว คือการขัดขวางเจ้าพนักงานตามมาตรา 47
ทั้งนี้ สคก.ได้ส่งความเห็นกลับมายังกรมป่าไม้วานนี้ และมีการสรุปเอกสารนำเสนอผู้บริหารกรมใน 6 ประเด็นดังกล่าว โดยกรมป่าไม้ไ้ด้ท้าวความถึงเรื่องนี้ว่า:
“กรมป่าไม้ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ ทส ๑๖๐๙.๒/๒๕๔๖๐ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๒ ถึงสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๓๖ อนุมัติให้ดําเนินการปฏิรูปที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่ได้จําแนกไว้เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมกับการเกษตร (Zone A) และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๓๖ ให้กรมป่าไม้มอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและป่าไม้ถาวรที่เสื่อมสภาพแล้วและที่มีราษฎรเข้าถือครองทํากินอยู่ให้สํานักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) นําไปปฏิรูปที่ดิน
ต่อมา คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๓๗ อนุมัติให้ดําเนินการปฏิรูปที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ในเขตเศรษฐกิจเสื่อมโทรม (Zone E) ตามลําดับ
หลังจากนั้น การปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงาน ของ ส.ป.ก. กับกรมป่าไม้ เกิดมีความเห็นเป็นหลายฝ่ายในแนวทางปฏิบัติ และได้มีการหารือสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาหลายครั้ง และปัจจุบันได้มีคําพิพากษาของศาลในคดีที่เกี่ยวข้องกับพระราชกฤษฎีกา กําหนดเขตปฏิรูปที่ดินออกมาเป็นจํานวนมาก แต่ก็ไม่สอดคล้องกับคําวินิจฉัยที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เคยวางไว้เป็นบรรทัดฐานเพื่อให้ส่วนราชการถือปฏิบัติ
“กรมป่าไม้พิจารณาแล้ว ขอเรียนว่าเพื่อให้เกิดความชัดเจนในประเด็นต่าง ๆ ในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ กฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ และกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จึงขอหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อให้ได้ข้อยุติในประเด็นข้อกฎหมาย”
โดย 6 ประเด็นถาม-ตอบ สรุปได้ดังนี้
ประเด็นที่ 1
คําถาม: ตามความเห็น สคก. เรื่องเสร็จที่ 203/2536 ได้ให้ความเห็นว่า ผู้ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย “เฉพาะนั้นๆ” ให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐ มิใช่ผู้บุกรุกและไม่ต้องขออนุญาตแผ้วถางป่าตามมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ
คำว่า “ผู้ได้รับอนุญาตตามกฎหมายเฉพาะนั้นๆ” หมายถึง การได้รับใบอนุญาตหรือได้รับเอกสารอย่างหนึ่งอย่างใดตามกฎหมายนั้นๆ จากทางราชการประเภทใด
ความเห็นของ สคก. : “ผู้ได้รับอนุญาตตามกฎหมายเฉพาะนั้นๆ” หมายถึงการได้รับใบอนุญาตหรือได้รับเอกสารอย่างหนึ่งอย่างใดและจากทางราชการประเภทใดนั้น ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติและรายละเอียดที่กฎหมายในเรื่องนั้นกำหนดไว้ กรณีนี้ จึงเป็นปัญหาที่จะต้องพิจารณาจากบทบัญญัติของกฎหมายแต่ละฉบับเป็นรายกรณี (เห็นว่าน่าจะต้องพิจารณาระเบียบกฎหมายของ สปก.)
*ประเด็นที่ 2
คําถาม: การดำเนินการของ สปก. ในขั้นตอนใด ที่จะมีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในเขตปฏิรูปที่ดินตามมาตรา 26(4) แห่ง พรบ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ และผลของคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15189/2558 จะตรงกับขั้นตอนใด
ความเห็นของ สคก. : การเพิกถอนจากการเป็นป่าสงวนแห่งชาติ จะมีผลเฉพาะแปลงที่ดินในส่วนของป่าสงวนแห่งชาติที่ สปก.ได้เข้าดำเนินการปฏิรูปที่ดินที่แน่นอนแล้วเท่านั้น มิใช่เพิกถอนพื้นที่ทั้งหมดของป่าสงวนแห่งชาติตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติมอบให้ สปก. เข้าดำเนินการ หรือพื้นที่ทั้งหมดในส่วนของป่าสงวนแห่งชาติที่ สปก. ยังไม่ได้เข้าดำเนินการปฏิรูปที่ดินด้วยแต่อย่างใด
(ทั้งนี้ สคก. ได้อธิบายในรายละเอียดในเอกสารที่ส่งให้กรมป่าไม้ว่า การเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในเขตปฏิรูปที่ดินตามมาตรา ๒๖ (๔) แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ จะเกิดขึ้นเมื่อใด และคําพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๑๘๙/๒๕๕๘ จะมีผลของกฎหมายอย่างใดนั้น
มีความเห็นว่า พระราชกฤษฎีกากําหนดเขตปฏิรูปที่ดิน “เป็นเพียงการกําหนดขอบเขตของที่ดินที่จะทําการปฏิรูปที่ดิน” เท่านั้น ไม่ได้มีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในทันที แต่พระราชกฤษฎีกากําหนดเขตปฏิรูปที่ดินดังกล่าว จะมีผลเป็นการเพิกถอนเขตป่าสงวนแห่งชาติตามมาตรา ๒๖๒ (๔) แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๒ ก็ต่อเมื่อ คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ดําเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติส่วนใดแล้ว “และ” ส.ป.ก. จะนําที่ดินแปลงใด ในส่วนนั้นไปดําเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมด้วย
ซึ่งความว่า “... เมื่อ ส.ป.ก. จะนําที่ดินแปลงใด ในส่วนนั้นไปดําเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม” ดังกล่าว มีความหมายว่า เมื่อ ส.ป.ก. มีความพร้อมที่จะนําที่ดินแปลงใดในส่วนของป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินตามพระราชกฤษฎีกากําหนดเขตปฏิรูปที่ดินไปดําเนินการปฏิรูปที่ดินที่แน่นอนแล้ว ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กําหนดไว้ในพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ “และ” ส.ป.ก. มีแผนงาน พร้อมทั้งงบประมาณเพียงพอ ที่จะดําเนินการได้ทันที
ทั้งน้ี การเพิกถอนจากการเป็นป่าสงวนแห่งชาติ จะมีผลเฉพาะแปลงที่ดินในส่วนของป่าสงวนแห่งชาติที่ ส.ป.ก. ได้เข้าดําเนินการปฏิรูปที่ดินที่แน่นอนแล้วเท่านั้น มิใช่เพิกถอนพื้นที่ทั้งหมด ของป่าสงวนแห่งชาติตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติมอบให้ ส.ป.ก. เข้าดําเนินการ หรือพื้นที่ทั้งหมดในส่วน ของป่าสงวนแห่งชาติที่ ส.ป.ก. ยังไม่ได้เข้าดําเนินการปฏิรูปที่ดินด้วยแต่อย่างใด ซึ่งเป็นไปตามแนวทางที่คณะกรรมการกฤษฎีกาและสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นไว้ในเรื่องเสร็จที่ ๒๑๔/๒๕๓๘๓ เรื่องเสรจ็ ที่ ๓๐๗/๒๕๔๙๔ และเรื่องเสร็จที่ ๑๐๗๐/๒๕๕๔๕
คำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 15189/2558 ยังคงเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติอยู่เช่นเดิม จนกว่าจะได้มีการส่งมอบพื้นที่ให้แก่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อดำเนินการจัดสรรที่ดินให้แก่ผู้ได้รับอนุญาตตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป จึงมุ่งหมายให้ สปก. เข้าไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในพื้นที่ป่านั้น และจัดสรรให้ผู้ได้รับอนุญาตก่อน จึงจะถือเป็นการเพิกถอนสภาพป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อเป็นการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและที่ดินของรัฐ กรณีจึงเป็นแนวทางเดียวกันกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 7)
*(เห็นว่าสถานะที่ดินบริเวณที่เกิดเหตุยังคงเป็นป่าสงวนแห่งชาติอยู่)
ประเด็นที่ 3
คําถาม: กรณีที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ส่งมอบแปลงพื้นที่ที่มีราษฎรยึดถือครอบครองทำประโยชน์อยู่แล้ว เพื่อให้ราษฎรได้เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดินตาม พรบ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ ต่อมาได้มี พรฎ. กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินในเขตป่าสงวนฯแปลงใดแล้วนั้น จะมีผลให้ราษฎรที่อยู่ในป่าสงวนฯ อยู่เดิมก่อนที่ จะมี พรฎ. กำหนดเขตปฏิรูปที่ดิน ได้รับการผ่อนผันการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการป่าไม้หรือไม่ อย่างไร
ความเห็นของ สคก. : การจะบังคับใช้หรือผ่อนผันการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ในพื้นที่ดังกล่าวได้หรือไม่ ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินประกอบด้วย หากที่ดินยังไม่ได้มีผลเป็นการเพิกถอนที่ดินนั้นจากการเป็นป่าสงวนแห่งชาติ และอยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติดังกล่าว หากมีการทำไม้หวงห้าม และเก็บหาของป่าหวงห้ามในที่ดินดังกล่าว จะอยู่ใต้บังคับของพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ ด้วย แม้จะเป็นกรณีที่ พรฎ. กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติมีผลเป็นการเพิกถอนที่ดินแปลงใดในส่วนนั้นจากการเป็นป่าสงวนแห่งชาติแล้ว
ดังนั้น ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจึงยังคงอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายเฉพาะอื่นๆด้วย เท่าที่ไม่ขัดต่อวัตถุประสงค์ของการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
*(เห็นว่า หากเป็นการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรกรรม ไม่น่าจะต้องถูกบังคับตามกฎหมายการป่าไม้)
ประเด็นที่ 4
คําถาม: ตามมาตรา 26 วรรคสอง แห่ง พรบ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ เมื่อพบการกระทำความผิดฐานบุกรุกพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดินตาม พรฎ.กกหนดเขตปฏิรูปที่ดิน พนักงานเจ้าหน้าที่ของ สปก. ตาม พรบ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ จะมีหน้าที่และอำนาจในการจับกุมปราบปราม ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ พนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้และกฎหมายอื่นในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่มี พรฎ. กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้หรือไม่/และระหว่าง สปก. ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบดูแลพื้นที่ดังกล่าวกับกรมป่าไม้ หน่วยงานใด จะเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินคดีในความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้
ความเห็นของ สคก. : เป็นหน้าที่และอำนาจของ สปก. ในการดูแลรักษาที่ดินดังกล่าวและป้องกันการกระทำใดๆ ที่เป็นผลร้ายต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าว การที่มีผู้บุกรุกเข้าไปยึดถือ ครอบครอง หรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดอันเป็นอันตรายแก่ทรัพยากรในที่ดินซึ่ง สปก. ได้มาตามกฎหมายย่อมกระทบสิทธิของ สปก. ใน การนำที่ดินไปปฏิรูปที่ดินตามที่กำหนดไว้ใน พรบ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ
สปก. จึงเป็นผู้ได้รับความเสียหาย จากการกระทำดังกล่าว และมีสิทธิที่จะกล่าวโทษผู้กระทำความผิดเพื่อให้มีการดำเนินการตามกฎหมายได้
กรมป่าไม้ ยังคงมีหน้าที่และอำนาจในการดูแลรักษาที่ดินที่เป็นป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ หากเป็นกรณีที่ที่ดินนั้นยังคงมีสถานะเป็นป่าสงวนแห่งชาติ เนื่องจาก ส.ป.ก. ยังไม่ได้นำที่ดินป่าสงวนแห่งชาตินั้น ไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามที่กฎหมายกำหนด (เห็นว่าทั้งสองหน่วยงานสามารถดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้)
ประเด็นที่ 5
คําถาม: การส่งมอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายแม่นำ้ภาชีในเขตพื้นที่ป่าเพื่อเศรษฐกิจ (Zone E) ให้ ส.ป.ก. ไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๓๖ ตาม พรฎ.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินเมื่อปี ๒๕๒๑ นั้น มีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติได้หรือไม่ เพราะกฎกระทรวงกำหนดเขตป่าสงวนแห่งชาติออกมาภายหลัง เมื่อปี ๒๕๒๗ และก่อนที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๒๖ (๔) แห่ง พรบ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ ในปี ๒๕๓๒ นั้น กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจ ส.ป.ก. ที่จะดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้ สถานะของที่ดินยังคงเป็นป่าสงวนแห่งชาติอยู่ จนกว่าจะมีพรฎ. กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินปี ๒๕๕๔ และ ส.ป.ก. มีแผนงานและงบประมาณ
ความเห็นของ สคก. : มาตรา ๒๖ แห่ง พรบ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พรบ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๒ บัญญัติให้ พรฎ.กาหนดเขตปฏิรูปที่ดินมีผลเป็นการเพิกถอนสถานะที่ดินของรัฐประเภทต่างๆ ตามที่กฎหมายเฉพาะกำหนดไว้ เมื่อมีข้อเท็จจริงครบตามองค์ประกอบ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ก็เพื่อให้ ส.ป.ก. สามารถนำที่ดินของรัฐประเภทต่าง ๆ มาดำเนินการปฏิรูปที่ดินตามนโยบายของรัฐได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องย้อนกลับมาดำเนินกระบวนการเพิกถอนสถานะของที่ดินประเภทต่าง ๆ ตามที่กฎหมายเฉพาะบัญญัติไว้อีก
ทั้งนี้ ภายหลังจาก พรบ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๒ มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมาย คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๓๖ และ ๔ พฤษภาคม ๒๕๓๖ (ซึ่งต่อมาได้ถูกยกเลิกโดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๓๘) และมติเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๓๗ ซึ่งเป็นมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในป่าสงวนแห่งชาติ
ดังนั้น หากพิจารณาได้ว่า มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวข้างต้น เป็นการอนุมัติให้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติส่วนใดแล้ว และปรากฏข้อเท็จจริงว่าใน ช่วงเวลาที่ผ่านมานับแต่ พรฎ.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินมีผลใช้บังคับ และ ส.ป.ก. ได้รับมอบที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติจากกรมป่าไม้ตามมติคณะรัฐมนตรีแล้ว ส.ป.ก. ได้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ดังกล่าวครบถ้วนตามองค์ประกอบสองประการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๖ (๔) กล่าวคือ คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติส่วนใดแล้ว และ ส.ป.ก. จะนำที่ดินแปลงใดในส่วนนั้น ไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมด้วย ตามแนวทางที่ได้พิจารณาในประเด็นที่สองข้างต้นแล้ว พรฎ.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินที่ใช้บังคับก่อนมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๒๖ แห่ง พรบ.การปฏิรูป ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ โดย พรบ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๒ ก็จะมีผลเป็นการเพิกถอนที่ดินเฉพาะแปลงที่ได้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินนั้นจากการเป็นป่าสงวนแห่งชาติด้วย
ประเด็นที่ 6
คําถาม: เมื่อมี พรฎ.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินในพื้นที่ใดแล้วจะถือว่า พรฎ. ดังกล่าวมีสถานะเช่นเดียวกับเขตที่ได้จำแนกไว้เป็นประเภทเกษตรกรรมที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา ๕๔ แห่ง พรบ.ป่าไม้ฯ ได้หรือไม่ อย่างไร
ความเห็นของ สคก. : ยังไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้เขตปฏิรูปที่ดินตาม พรฎ. กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินเป็นเขตที่ได้จำแนกไว้เป็นประเภทเกษตรกรรมตามมาตรา ๕๔ แห่ง พรบ. ดังกล่าวแต่อย่างใด
กรณีนี้ จึงมิอาจถือได้ว่าเขตปฏิรูปที่ดินตาม พรฎ. กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินเป็น หรือมีสถานะเช่นเดียวกับเขตที่ได้จำแนกไว้เป็นประเภทเกษตรกรรมที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา ๕๔ แห่ง พรบ.ป่าไม้ฯ
(เห็นว่าควรให้รัฐมนตรีประกาศเขตจำแนกไว้เป็นประเภทเกษตรกรรมตามมาตรา 54)