'ปธ.ฎีกา' ตอบรับเสียงสะท้อนผู้พิพากษา เล็งติดวงจรปิดบ้านพักระวังภัย
ผุดโครงการนำร่องติดงจรปิดบ้านพักผู้พิพากษาพื้นที่เสี่ยง ประกาศให้ผู้พิพากษามั่นใจใครขู่ศาลไม่ได้ - ฝั่ง สนง.ศาลยุติธรรม เร่งจัด Court marshal อีกร่วม 300 ขยายความปลอดภัยถึงศาลภาค
เมื่อวันที่ 10 มี.ค.63 นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ได้เปิดเผย ภายหลังลงพื้นที่ตรวจราชการศาลภาค 8 (ภาคใต้) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงกรณีที่ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมพื้นที่ภาค 8 มีข้อเสนอเกี่ยวกับมาตรการรักษาความปลอดภัยในการติดกล้องวงจรปิดหรือสัญญาณกันขโมยบ้านพักข้าราชการตุลาการ ป้องกันเหตุความเสี่ยงจะไม่ปลอดภัยในชีวิต-ทรัพย์สินการทำหน้าที่พิจารณาคดี ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีการจัดสรร รปภ.ดูแลรักษาความปลอดภัยแต่ช่วง 1-2 ปีมีการตัดงบส่วนนี้ออกไปโดยเคยมีคนแปลกหน้าเข้าไปในบริเวณที่พักดังกล่าวจึงสร้างความกังวลว่า ตนเห็นด้วยในเรื่องกล้องวงจรปิด แต่ถ้าในเรื่องงบประมาณที่ได้สนับสนุนมานั้นยังไม่เพียงพอจัดสรร ก็จะเสนอให้ทำเป็นโครงการนำร่องแล้วค่อยขยายผลไปเรื่อยๆ ถ้าจะเริ่มต้นติดตั้งปีนี้ทำได้เท่าใดก็ให้ทำไปก่อนจากนั้นค่อยทำเป็นโครงการระยะยาวให้ทั่วถึง
อย่างน้อยสุดตอนนี้ ก็ต้องสร้างความมั่นใจ เพราะเวลาคนร้ายจะลงมือจะไม่มาครั้งเดียวแล้วลงมือ คนร้ายจะมาดูสถานที่ก่อน แต่ถ้าเรามีกล้องวงจรปิด แม้คนร้ายจะทำการบ้านเราก็ยังมีโอกาสตรวจพบร่องรอย และยังเป็นการระมัดระวังมากขึ้น ตนคิดว่าจะเสนอไปยังสำนักงานศาลยุติธรรมให้ช่วยทำโครงการนำร่องปีนี้โดยอาจจะเลือกศาลที่มีความเสี่ยงสูง เพราะเดี๋ยวนี้เหตุความรุนแรงไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะข้างนอกอีกแล้วแต่กำลังเกิดขึ้นในบ้านของเราเอง
สถานการณ์ต่างๆที่เป็นภัยคุกคามการใช้อำนาจของผู้พิพากษาในกรณีที่ทำหน้าที่พิจารณาคดี บอกให้รู้ว่าเราต้องทำงานอย่างมืออาชีพ และเป็นหนึ่งเดียวกันในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ใครก็ตามที่มาขู่ศาลภายใต้การกำกับดูแลของผมจะทำไม่ได้ เพราะถ้าเมื่อใดผู้พิพากษาเกิดความหวาดกลัวหวั่นไหวต่อการทำหน้าที่ เราจะอยู่ไม่ได้ เราต้องทำงานด้วยความกล้าหาญ ระบบเราต้องอำนวยให้เกิดความปลอดภัยกับพวกเรา ผมขอให้ความมั่นใจ นายไสลเกษ ประธานศาลฎีกา กล่าวย้ำ
ขณะที่ นายภพ เอครพานิช รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้กล่าวถึงงบประมาณเกี่ยวกับการจัดสรร รปภ.ว่า ที่ผ่านมางบประมาณในการจ้าง รปภ. จากองค์การทหารผ่านศึกฯ มาดูแลรักษาความปลอดภัยเราจะเน้นในส่วนอาคารศาล แต่ที่ผ่านมานายไสลเกษ ประธานศาลฎีกา มีดำริเน้นเรื่องรักษาความปลอดภัย สำนักงานศาลยุติธรรม ก็แปรญัตติเพิ่มเติม และได้รับงบประมาณมา 900 ล้านบาท ก็ต้องมาจัดสรรทั้งเรื่อง รปภ. และกล้องวงจรปิด แต่ส่วนนี้ยังไปไม่ถึงบ้านพักผู้พิพากษาเนื่องจากฝ่ายรัฐบาลหรือสำนักงบประมาณ มองว่าให้จัดเน้นไปที่อาคารสถานที่ศาลก่อน ซึ่งเราก็พยายามอธิบายในเรื่องความปลอดภัยของผู้พิพากษาไป
ขณะที่งบที่แปรญัตติมายังต้องถูกนำไปใช้ในเรื่องอัตรากำลัง เจ้าพนักงานตำรวจศาล (คอร์ทมาแชล หรือ Court marshal) ซึ่งเวลานี้มีจำนวน 35 คน แต่วันที่ 1 เม.ย.นี้กำหนดอัตราจะรับโอนเพิ่มอีก 63 คนและยังส่วนบรรจุใหม่อีก 209 อัตราที่จะต้องจัดการฝึกอบรมอีกด้วย อย่างไรก็ดีหากส่วนนี้ฝึกอบรมเสร็จก็จัดสรรกระจายกำลังไปยังศาลภาคพื้นที่ต่างๆ ซึ่งตรงนี้เจ้าพนักงานตำรวจศาลก็จะเป็นหน่วยงานสนับสนุนหรือดูแลเรื่องระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีกว่า รปภ.เดิมได้ เพราะเจ้าพนักงานตำรวจศาลอาจจะไปนั่งเป็นหัวหน้าทีมแต่ละภาคหรือเรียกว่าเข้าไปดูแลในระบบ