'กรณ์' แจง มาตรการเยียวยาโควิด-19 ตรงจุด ทันเวลา แต่ยังไม่พอ

'กรณ์' แจง มาตรการเยียวยาโควิด-19 ตรงจุด ทันเวลา แต่ยังไม่พอ

"กรณ์" แจงมาตรการเยียวยาโควิด-19 จากกระทรวงการคลัง ตรงจุด ทันเวลา แต่ยังไม่พอ ชี้โอนงบประมาณจากทุกกระทรวง การลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น 10% ช่วยประชาชน

เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 63 นายกรณ์ จาติกวณิช ว่าที่หัวหน้าพรรคกล้า โพสต์ข้อความผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊คส่วนตัว Korn Chatikavanij - กรณ์ จาติกวณิช ถึงมาตรการเยียวยาของรัฐบาล โดยเนื้อหาระบุว่า...

กล้าตอบ

ก่อนอื่นขอบคุณรัฐบาลแทนพี่น้องประชาชนที่รอความช่วยเหลือ ที่ได้ออกมาตรการมา #ประคองเงินหมุน ให้ชาวบ้าน

ซึ่งแน่นอนครับ มีคำถามเข้ามามากมาย ผมเลยได้รวบรวมคำถาม (บวกกับข้อแนะนำเพิ่มเติม) ไปแลกเปลี่ยนกับกระทรวงการคลัง จึงขออาสามาช่วยขยายความครับ

1. ใครได้ประโยชน์จากมาตรการต่างๆบ้าง

ตอบ: คนทำงานทุกคนที่ ตกงาน ถูกพักงาน หรือค้าขายลำบาก ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม มาตรา 33, 39 หรือ 40 และอาชีพอิสระที่ไม่เป็นสมาชิกกองทุน (พ่อค้าแม่ขาย) ที่เดือดร้อน

2. ได้ทุกคน และได้เท่ากันหรือไม่
ตอบ: ไม่เท่ากัน และอาจจะไม่ได้ทุกคน

2.1 ลูกจ้างส่วนใหญ่ที่เป็นสมาชิกประกันสังคมตามมาตรา 33 จะได้รับชดเชยจากกองทุนประกันสังคม 50% ของรายได้ สูงสุด 7,500 ต่อเดือน ถ้าโดนเลิกจ้างได้รับระยะเวลา 6 เดือน ถ้าโดนรัฐให้หยุดกิจการได้รับ 2 เดือน

2.2 ลูกจ้างอิสระตามมาตรา 39 และ 40 และแรงงานนอกระบบจะได้รับชดเชยจากรัฐบาล 5,000 เป็นระยะเวลา 3 เดือน

3. ใช้สิทธิอย่างไร?

ตอบ: 3.1 มาตรา 33 ใช้สิทธิผ่านประกันสังคม ลงทะเบียนเว็บ http://empui.doe.go.th แต่ต้องไปยื่นเอกสารเพิ่มเติมที่ประกันสังคมจังหวัดด้วย

3.2 คนอื่นๆใช้สิทธิผ่าน www. เราไม่ทิ้งกัน .com เริ่มใช้ได้วันเสาร์นี้ หรือไม่ก็ไปที่กรุงไทย/ออมสิน/ธกส. (ไม่แนะนำครับ เสียเวลาและไม่ปลอดภัย ไปถึงก็ต้องลงทะเบียนผ่านเว็บเหมือนกันอยู่ดี และอาจจะทำให้ได้เงินช้ากว่า)

4. มีเงินให้กู้ไหม?
ตอบ: มีครับ 2 ประเภท

4.1 กู้ตรงจาก ออมสิน/ธกส. ได้คนละ 10,000 ไม่ต้องมีหลักประกัน และ 6 เดือนแรกงดจ่ายต้นและดอก หลังจากนั้น 24 งวดๆละ 500บาท

4.2 กู้ได้อีก 50,000 แต่ยากขึ้น ต้องมีหลักประกัน ดอกเบี้ยแพงกว่าก้อนแรกแต่ยังตํ่ามากที่ 0.35% ต่อเดือน

5. ใช้สิทธิการกู้อย่างไร?
ตอบ: หากขึ้นทะเบียนเบิก 5,000 แล้ว กู้ผ่านระบบเดียวกันได้เลย แต่หากเป็นลูกจ้างปกติ มาตรา 33 ต้องไปยื่นคำขอเดินเรื่องกับธนาคารด้วยตนเอง

6. แล้วเกษตรกรได้อะไร?
ตอบ: ท่านรัฐมนตรีฝากบอกว่ากำลังเร่งออกมาตรการครับ ควบคู่กับการบรรเทาวิกฤตภัยแล้ง


[[ ข้อสังเกตเพิ่มเติมที่ผมฝากให้กระทรวงการคลังพิจารณา ]]

1. ไม่ควรใช้กองทุนประกันสังคมมารับภาระ เพราะจะกระทบกับสถานะกองทุนในระยะยาว รัฐควรมีมาตรการช่วยเหลือโดยตรง และทุกคนที่เดือดร้อนควรได้เท่ากันคือ 50% ของเงินเดือน สูงสุด 7,500 เป็นอย่างน้อย

2. ถึงแม้ลูกจ้างปกติในมาตรา 33 จะได้เงินชดเชยมากกว่า แต่ขั้นตอนการเบิกจากประกันสังคมยุ่งยากและล่าช้ากว่า ซึ่งกว่าจะได้เงินอาจจะเป็นเดือน ซึ่งช้าไป ควรใช้โครงการเดียวกันของกระทรวงการคลังทุกคน ยิงตรงเลยครับ

3. หากลูกจ้างมาตรา 33 ต้องการกู้เงิน ยังต้องไปยื่นเอกสารที่ธนาคารอีกรอบหนึ่ง เสียเวลาและย้อนแย้งนโยบาย ‘อยู่กับบ้าน’

4. วงเงินทั้งหมดที่ใช้กับทุกมาตรการรวมกันยังน้อยมาก และเงินชดเชย 5,000 บาทอาจไม่ทั่วถึงเพราะลำพังผู้ประกันตนในมาตรา 39 และ 40 มีเกือบ 5 ล้านคนแล้ว ยังมีผู้ต้องการใช้สิทธิที่ไม่เป็นสมาชิกกองทุนอีกหลายล้านคน แต่รัฐบาลตั้งงบไว้เพียง 45,000 ล้านบาท หรือเพียงพอต่อ 3 ล้านคนเท่านั้น

5. ตามข้อเสนอเดิมของ "กล้า" เราคิดว่ารัฐบาลควรดูแลประชาชนคนละ 10,000 บาท โดยตรงทุกคน และควรโอนงบประมาณจากทุกกระทรวงด้วยการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น 10%

ผมและ "กล้า " ขอขอบคุณกระทรวงการคลังอีกครั้ง
มาตรการทั้งหมดนี้ตรงจุด ทันเวลา (แต่ยังไม่พอ!)

ขอเป็นกำลังใจประชาชนทุกคนครับ

เราทราบว่าท่านเดือดร้อนและมีความวิตกกังวลกันทุกคน ผมสัมผัสได้ในความตั้งใจของท่านรัฐมนตรี และข้าราชการกระทรวงการคลัง เราจะช่วยกันคิดและช่วยกันนำเสนอแนวทางบรรเทาปัญหาของพี่น้องทุกๆคนครับ

คำเตือน: เสาร์นี้อย่าให้เว็บล่มนะครับ! #สู้ไปด้วยกัน #กล้าตอบ #กล้า #เรามาเพื่อลงมือทำ