'สุชาติ' เตือนรัฐต้องระวัง! ไม่ควรใช้วิธีพิมพ์แบงค์แจกประชาชน
"สุชาติ" เตือนรัฐต้องระวัง! ไม่ควรใช้วิธีพิมพ์แบงค์แจกประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19
เมื่อวันที่ 5 เม.ย.63 ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าถึงกระแสข่าวที่รัฐบาลกำลังจะกู้เงินถึง 1.68 ล้านล้านบาท มาแก้ปัญหาวิกฤตโควิด-19 เพื่อชดเชยรายได้ประชาชน และช่วยลดต้นทุนธุรกิจ ที่ถูกกระทบจากมาตรการ ที่รัฐบาลสั่งหยุดทำงาน หยุดกิจการทางเศรษฐกิจนั้นว่า
1. เป็นการกู้เงินจำนวนมากมายมหาศาล มีขนาดถึง 10% ของรายได้รวมของชาติ (GDP)
2. การกู้ขนาดนี้ ตลาดเงินไม่มีเม็ดเงินเหลือเพียงพอ ดังนั้นจึงเป็นการที่รัฐบาลกู้เงิน โดยออกพันธบัตรรัฐบาล ขายให้ธนาคารพาณิชย์ แล้วธนาคารพาณิชย์ไปขายต่อให้แบงค์ชาติ แบงค์ชาติก็พิมพ์เงินบาทเพิ่มขึ้นมา ส่งให้รัฐบาลไปใช้จ่าย ก็คือ "รัฐบาลพิมพ์แบงค์จำนวนมากมาใช้จ่าย" เพราะโดยปกติรัฐบาลจะกู้เงินปีละ 40,000 -50,000 ล้านบาทเท่านั้น คราวนี้รัฐบาลจะกู้เพิ่มขึ้นถึง 3,100%
3. การที่รัฐบาลไทยจะ "พิมพ์แบงค์ขึ้นมาใช้" เพิ่มขึ้นถึง 10% ของ GDP นั้น ควรดูให้ดีว่าแบงค์ที่พิมพ์เพิ่มขึ้นมานั้น ได้นำมาใช้ให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น สร้างผลผลิตเพิ่มขึ้นมากถึง 10% หรือไม่
4. หากรัฐบาลใช้เงินกู้นี้แล้ว ไม่ก่อให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมากพอ คนรุ่นหลังจะต้องใช้หนี้มากมายเลย เพราะประเทศเราฐานภาษีต่ำ จะต้องใช้หนี้คืนอีกกี่ปี และจะต้องเพิ่มภาษีอีกหรือไม่ รัฐบาลจึงต้องมีแผนการหาเงินใช้หนี้ด้วย ไม่ใช่เอาแต่กู้เงินอย่างเดียว
5. แต่ถ้าหากเป็นการพิมพ์แบงค์ มาชดเชยรายได้มาแจกประชาชนอย่างเดียว และยังให้คนหยุดงาน และบริษัทหยุดงาน ก็จะทำให้เกิดเงินเฟ้อสูงมาก อาจเกิน 10% เพราะปริมาณเงินเพิ่มขึ้นมาก แต่ปริมาณผลผลิตรวม (GDP) ไม่เพิ่มขึ้น ภาวะเงินเฟ้อสูง ข้าวของแพง มีแต่คนซื้อ ไม่มีคนผลิต จะทำให้ประชาชนจำนวนมาก เดือดร้อนยิ่งขึ้น และเมื่อมีเงินเฟ้อขนาดนั้นแล้ว ก็จะหยุดได้ยาก
6. นอกจากนี้ จะทำให้พฤติกรรมที่รัฐบาลพิมพ์เงินมาใช้ เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีในอนาคต เช่น การเกิดเงินเฟ้อมหาศาลใน เวเนซุเอลา, ซิมบับเว จนเงินไม่มีค่า ถูกโยนทิ้งตามข้างถนน