อัยการคุมตัว "พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์" แกนนำร่วม นปช. ฟ้องคดีบุกสภาปี 53 ทันอายุความ
ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ได้นำตัว พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) มาแสดงต่อศาลเพื่อยื่นฟ้อง เป็นจำเลย ในความผิดรวม 5 ข้อหา ฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต , ร่างกาย , เสรีภาพหรือโดยใช้กำลังประทุษร้าย , ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นโดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป , ร่วมกันบุกรุกโดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป , ร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย , ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296 , 309 , 310 , 358 , 362 , 365 ตามฟ้องอัยการโจทก์
บรรยายพฤติการณ์ความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 7 เม.ย.53 มีการประชุม ครม. (รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ที่อาคารรัฐสภา 3 และมีการประชุม ส.ส.ที่อาคารรัฐสภา 1 โดยระหว่างเวลา 11.00 น.-13.30 น. จำเลยกับพวกแกนนำ นปช.อีกหลายคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้นำกลุ่ม นปช.หรือกลุ่มคนเสื้อแดงหลายพันคน ไปชุมนุมที่บริเวณหน้าที่ทำการรัฐสภา ถ.อู่ทองใน แขวง-เขตดุสิต กทม. แล้วร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน คือ มีผู้ชุมนุมหลายร้อยคนทำลายประตูรั้วของรัฐสภาเพื่อเข้าไปปิดและขัดขวางการประชุมรัฐสภา จนคานเหล็กที่ใช้ปิดล็อคประตูงอชำรุด และโซ่คล้องกุญแจประตูขาด ทำให้ทรัพย์สินเสียหาย จำนวน 6,000 บาท
ขณะเดียวกัน ส.ต.ต.ไชยวัศ อรรคคำ กับพวกเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน ที่เข้าขัดขวางโดยตั้งแถวหน้ากระดานป้องกันไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปภายในที่ทำการรัฐสภา ก็ถูกจำเลยกับพวกใช้กำลังประทุษร้ายทุบตี ผลักทำร้ายร่างกายได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กาย
อีกทั้งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอีกหลายคน , ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลจำนวนมาก ต้องติดอยู่ภายในอาคารและต้องหลบซ่อนตัว ไม่สามารถหลบหนีออกจากอาคารรัฐสภาได้ เนื่องจากผู้ชุมนุมทุบตีรถยนต์และพยายามทำร้ายร่างกาย ขัดขวางไม่ยอมให้ออกจากอาคารรัฐสภา เป็นการล่วงละเมิดต่อกฎหมายไม่ได้เป็นการใช้สิทธิโดยชอบตามรัฐธรรมนูญ โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เป็นการร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป
นอกจากนี้จำเลยกับพวกผู้ชุมนุมประมาณ 50 คน ได้ร่วมกันกระทำผิดตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ข่มขืนใจ หน่วงเหนี่ยวกักขัง พลทหารชโลธร กิมสอ สังกัดกองพันทหารสารวัตรที่ 11 ขณะปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำตัวนายสุเทพ เทือกสุบรรณ โดยเข้าจับตัวล็อคคอ เตะ กระทืบ จับศีรษะ กดแนบลงไปกับพื้น ทั้งยังกระชากแย่งเอาปืนพกขนาด 11 มม.และปืนเล็กยาว M 16 ไปจากพลทหารชโลธร ที่อยู่ในภาวะไม่สามารถขัดขืนได้ การกระทำของจำเลย ทำให้พลทหารชโลธรได้รับบาดเจ็บบริเวณโหนกแก้มขวา ศีรษะด้านซ้าย ต้นแขนขวา ข้อเท้าซ้าย ต้นคอข้างขวาเคล็ด ได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กาย เหตุเกิดบริเวณ เขตดุสิต กทม . และที่อื่นเกี่ยวพันกัน
ต่อมาพนักงานสอบสวน ได้แจ้งข้อหาดำเนินคดีไว้ ขณะที่จำเลยได้หลบหนีไป โดยพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ขอศาลหมายจับ ซึ่งศาลอาญาได้ออกหมายจับ ที่ จ.1551/2562 ลงวันที่ 17 ส.ค.62 และพนักงานสอบสวนดีเอสไอติดตามจับกุมจำเลยได้เมื่อวันที่ 6 เม.ย.63 บริเวณหน้าบ้านพักเลขที่ 12 ม.7 ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.ชุมพร ซึ่งท้ายฟ้องอัยการขอให้ศาลนับโทษของจำเลยต่อจากคดีหมายเลขแดง 8488/2552 , 8489/2552 , 5845/2556 ของศาลจังหวัดพัทยาด้วย ทั้งนี้ ศาลประทับรับฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำ อ.877/2563
ซึ่งวันนี้อ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยฟังจนเข้าใจแล้วสอบคำให้การ ปรากฏว่า พ.ต.ต.เสงี่ยม จำเลย แถลงให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าว ขอสู้คดี ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐานโจทก์-จำเลย ในวันที่ 22 มิ.ย.นี้ เวลา 09.00 น. ต่อมาญาติของ พ.ต.ต.เสงี่ยม ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 100,000 บาท ขอปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณา ซึ่งศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ พ.ต.ต.เสงี่ยมประกันตัวไปตีราคาประกัน 100,000 บาท โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใด ๆ
ผู้สื่อข่าวว่ากรณีของ พ.ต.ต.เสงี่ยมนี้ พนักงานสอบสวนดีเอสไอ สามารถติดตามจับกุมตัวมาได้ตามหมายจับของศาล โดยดีเอสไอส่งตัวพร้อมสำนวนให้อัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลได้ทันภายในกำหนดอายุความ อย่างไรก็ดีสำหรับ พ.ต.ต.เสงี่ยมนั้น ก็เป็นจำเลยในคดีร่วมกันชุมนุมบุกรุกเข้าไปในพื้นที่โรงแรมบคลิฟบีช พัทยา เมื่อปี 2552 ในศาลจังหวัดพัทยาด้วย ซึ่งคดีก่อนหน้านี้ในส่วนของ พ.ต.ต.เสงี่ยม ได้พักการพิจารณาไว้ชั่วคราวเนื่องจากได้หลบหนี